รับมืออย่างไรไม่ให้ลูกป่วยในฤดูฝน แพทย์แนะวัคซีนโควิดสำหรับเด็กๆ l 17 ก.ย. 65 FULL l BTimes

821
0
Share:

Sep 17, 2022

เกาะติดแนวทางรับมือโรคประจำฤดูฝน พร้อมไขข้อข้องใจเด็กเล็กฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ได้ไหมไปพร้อมกับกุมารแพทย์ระบบต่อมไร้ท่อ

น้ำท่วมขัง คือสัญญาณอย่างหนึ่งที่ทำให้รู้ว่าประเทศไทยกำลังเข้าสู่ฤดูฝนอย่างเต็มรูปแบบ ที่ไม่เพียงแค่ทำให้การสัญจรเป็นไปอย่างยากลำบาก แต่ในน้ำยังแฝงไปด้วยเชื้อโรคมากมายที่จ้องทำลายภูมิคุ้มกันมนุษย์ เฉพาะอย่างยิ่งในวัยเด็กที่ร่างกายกำลังอยู่ในช่วงสร้างภูมิคุ้มกัน ยิ่งต้องเฝ้าระวังเป็นอย่างมาก เนื่องจากฤดูฝนมักมาพร้อมกับโรคประจำฤดูกาลอย่างโรค RSV (Respiratory Syncytial Virus) หรือแม้แต่โรคมือ เท้า ปาก ที่ระบาดลุกลามได้ทั้งเด็กและผู้ใหญ่

(ขอบคุณรูปจาก Polina Tankilevitch, pexels.com)

ซึ่งทั้ง 2 โรคที่กล่าวไปข้างต้น มีอาการและแหล่งที่มาของการเกิดโรคดังนี้

เริ่มต้นด้วย ‘โรคมือ เท้า ปาก’ เป็นโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัสกลุ่มเอนเทอโร Enterovirus 71 (EV71) Coxasackie Virus มีระยะเวลาฟักตัวประมาณ 3-7 วัน สามารถหายได้เองภายใน 7-10 วัน แต่ก็ชะล่าใจไม่ได้ เพราะมีโอกาสเสี่ยงเกิดโรครุนแรงอื่นๆ ได้ เช่น ก้านสมองอักเสบ หัวใจอักเสบ บางรายรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต อาการที่แสดงออกมาคือจะเกิดตุ่มน้ำใสบริเวณฝ่ามือ ฝ่าเท้า ข้อศอก ลำตัว นอกจากนี้ยังมีแผลในช่องปาก มีไข้ และอ่อนเพลียร่วมด้วย โดยโรคนี้ติดต่อผ่านจากการสัมผัสทางน้ำลาย น้ำมูก หรืออุจจาระ และ ที่สำคัญคือแอลกอฮอล์ที่ใช้ฉีดพ่นฆ่าเชื้อโรคในปัจจุบัน ไม่สามารถฆ่าเชื้อโรคมือ เท้า ปากได้

ต่อมาคือ ‘โรค RSV (Respiratory Syncytial Virus)’ เกิดจากการติดเชื้อไวรัสที่ระบบทางเดินหายใจทั้งส่วนบนและส่วนล่าง โรคนี้มีระยะฟักตัวอยู่ที่ประมาณ 5 วัน โดย 1-2 วันแรกจะมีอาการคล้ายไข้หวัดธรรมดา แต่ 3-5 วันหลังจะมีอาการรุนแรง เช่น ทางเดินหายใจส่วนล่างมีการอักเสบ จนเกิดโรคหลอดลมอักเสบ กล่องเสียงอักเสบ และโรคปอดบวม หรือปอดอักเสบได้อีกด้วย ในบางรายอาจเกิดอาการรุนแรง เช่น ไข้สูง ไอแรง หอบเหนื่อย หายใจมีเสียงครืดคราด มีเสมหะในลำคอเป็นจำนวนมาก และหลังจากนั้นอาการก็จะทุเลาลง โดยโรค RSV จะติดต่อผ่านสารคัดหลั่งในร่างกาย เช่น น้ำมูก น้ำลาย ละอองฝอยจากการไอ จาม

(ขอบคุณรูปจาก Saranya Maikaen, vecteezy.com)

ยิ่งทราบข้อมูลเบื้องต้น ผู้ปกครองหลายท่านก็อาจเกิดข้อสงสัยว่า ‘อันตรายขนาดนี้ มีวัคซีนป้องกันไหม?’ ทางแพทย์หญิงกัลย์สุดา อริยะวัตรกุล – กุมารแพทย์ระบบต่อมไร้ท่อ ศูนย์การแพทย์ปัญญานันทภิกขุ ชลประทาน มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ได้ให้คำแนะนำว่า ณ ขณะนี้บางโรคมีวัคซีนป้องกันเกิดขึ้นแล้ว ได้แก่ วัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ ซึ่งอยากให้ผู้ปกครองพาไปฉีดตั้งแต่เนิ่นๆ เป็นไปได้ควรฉีดก่อนโรงเรียนเปิดเทอม เพราะเมื่อเปิดเทอมแล้วจะเกิดการรวมกลุ่มที่เสี่ยงต่อการแพร่กระจายเชื้อได้มาก ในส่วนของโรค RSV นั้นยังไม่มีวัคซีนที่ป้องกันได้โดยตรง สำหรับโรคมือ เท้า ปาก ต้องบอกว่าเป็นข่าวดี เพราะปัจจุบันได้มีวัคซีนป้องกันเกิดขึ้นแล้ว แต่เป็นการป้องกันเพียงแค่เชื้อไวรัสเอนเทอโร Enterovirus 71 (EV71) เท่านั้น ฉะนั้นวิธีการป้องกันที่ดีที่สุดที่ทำได้ทันทีคือการให้เด็กๆ หมั่นล้างมือ ใส่หน้ากากอนามัย และเว้นระยะห่าง ต่อมาในกรณีที่เด็กมีภูมิคุ้มกันบกพร่อง การฉีดวัคซีนป้องกันเฉพาะโรคที่เป็นวัคซีนเชื้อเป็นจำเป็นต้องเฝ้าระวังเป็นอย่างมาก เพราะอาจเกิดผลข้างเคียง เช่น วัคซีนป้องกันโรคหัดเยอรมัน วัคซีนป้องกันโรคคางทูม วัคซีนป้องกันโรคอีสุกอีใส และวัคซีนป้องกันโรคไข้สมองอักเสบ เป็นต้น

(ขอบคุณรูปจาก Family_Stock 2022, vecteezy.com)

ข้อสงสัยแรกคลายไป ตามติดด้วยข้อสงสัยที่สอง คือตอนนี้ประเทศไทยไม่ได้เผชิญแค่โรคประจำฤดูกาล แต่ยังมีโรคโควิด-19 ที่กำลังแพร่ระบาดอย่างหนักร่วมด้วย ซึ่งทางแพทย์หญิงกัลย์สุดาก็ได้เสริมต่อว่าเด็กๆ สามารถฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ร่วมกับวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ได้โดยไม่จำเป็นต้องเว้นระยะห่าง ดังนั้นผู้ปกครองควรศึกษาและติดตามข้อมูลอย่างละเอียดต่อไป หรือปรึกษาแพทย์ที่ดูแลโดยตรงก่อนตัดสินใจพาเด็กๆ ไปฉีดวัคซีน

BTimes