BTimes : ‘ลุงติ๊กสเกล’ เกษียณก่อนอายุมาทำเงินล้านผ่านฝีมืองานโมเดล

2591
0
Share:

Feb 29, 2020

หยิบความฝันในวันวานมาปัดฝุ่น สร้างธุรกิจฉากจำลอง ภายใต้ชื่อ ‘ลุงติ๊กสเกล & Diorama’
เมื่อความฝันบวกความถนัดในวัยเด็ก ถูกหยิบขึ้นมาปัดฝุ่นอีกครั้ง ทำให้ชีวิตหลังเกษียณของลุงติ๊กกลับมามีสีสัน สร้างรอยยิ้มและความสุขมหาศาล จนวันหนึ่งความสุขนี้ถูกเทิร์นเป็นรายได้ นำไปสู่โอกาสทางธุรกิจในยุค Digital Economy…

ลุงติ้ก พงศ์กาณฑ์ โกมลกนก หรือ ลุงติ๊กสเกล ผู้ออกแบบ ฉากจำลอง รถสเกล

“จริงๆ แล้วทุกคนมีความฝัน คือสมัยเด็กๆ เราเรียนศิลปะ อยากเป็นศิลปิน อยากทำงานศิลปะ แต่แล้วความฝันนั้นต้องหยุดไว้ก่อน เพื่อหาความมั่นคงให้ครอบครัว”

เดิมทีคุณลุงติ๊ก พงศ์กาณฑ์ โกมลกนก จบการศึกษาในแขนงศิลปะ แต่ด้วยสภาวะแวดล้อมบีบให้ต้องหางานที่มั่นคง เพื่อหล่อเลี้ยงครอบครัว ทำให้คุณลุงต้องพับเก็บความฝันนั้นไว้อย่างน่าเสียดาย แต่แล้ววันนึงหลังจากที่คิดว่าตัวเองพ้รอม บวกกับตัดสินใจที่จะเกษียณก่อนกำหนด อีกทั้งลูกชายซึ่งเป็นนักสะสมรถสเกลได้เล็งเห็นช่องทางทำมาหากินที่เป็นโอกาสสำคัญให้คุณลุงได้รื้อความฝันขึ้นมาปัดฝุ่น จนเกิดเป็นโมเดลธุรกิจศิลปะฉากจำลอง ภายใต้ชื่อ “ลุงติ๊กสเกล & Diorama”

แรกเริ่มคุณลุงยอมรับว่ารู้สึกกลัว เพราะห่างหายจากงานศิลปะไปนานกว่า 40 ปี และไม่กล้าที่จะตั้งราคา จึงทดลองนำฉากแรกที่ออกแบบไปปล่อยในกลุ่มนักสะสมรถ ปิดประมูลผลงานที่ราคา 280 บาท หลังจากนั้นก็ทำมาเรื่อยๆ อยู่มาวันหนึ่งมีผู้แชร์ผลงานของคุณลุงไปลงในโลกโซเชียล สร้างกระแสตอบที่ดีและทำให้เป็นที่รู้จักในวงกว้าง จนมีงานหลั่งไหลเข้ามาหาอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ตัดสินใจดำเนินธุรกิจนี้อย่างจริงจัง โดยคุณลุงมีหน้าที่ออกแบบและทำฉาก ลูกชายกับลูกสะใภ้ดูแลเรื่องระบบไฟ และเป็นแอดมินพูดคุยกับลูกค้า หลังจากรับงานไปเรื่อยๆ จนครบ 1 ปี กอปรกับอายุที่มากขึ้น ทำให้ร่างกายคุณลุงเริ่มล้า จึงคิดหาวิธีการรับงานรูปแบบใหม่ โดยแบ่งเป็น 3 ประเภทหลัก คือ

1. งานพรีออเดอร์ คือ ฉากที่ทำแบบเดียว แต่หลายชิ้น ขึ้นอยู่กับยอดที่สั่งจองเข้ามา
2. งานประมูล คือ ฉากที่ออกแบบตามใจชอบ แล้วนำไปเปิดประมูล
3. งานตามสั่ง คือ ฉากที่ทำตามสิ่งที่ลูกค้ากำหนด

โมเดลฉากจำลองของ ลุงติ้กสเกล

ด้วยความเป็นคนไม่หวงวิชา จึงตัดสินใจต่อยอดวิชาชีพนี้ให้กับผู้ที่สนใจได้มีอาชีพและรายได้ ด้วยการเปิดคอร์สพิเศษสอนทำศิลปะการสร้างฉาก ซึ่งมีลูกศิษฐ์ผ่านมือมาแล้วกว่า 34 รุ่น 600 คน ทั้งยังบอกว่าหากได้รับความสนใจอย่างต่อเนื่องก็จะเปิดสอนไปเรื่อยๆ เพื่อวันหนึ่งที่คุณลุงจากไปแล้ว งานโมเดลนี้จะยังคงอยู่ และลูกจะสามารถดำเนินชีวิตกับธุรกิจต่อไปได้

“ผมคิดว่าความฝันไม่มีวันหมดอายุนะ ที่เราเคยคิดฝันไว้เมื่อกลับมาทำ แล้วทำอย่างจริงจัง ผลตอบรับมันออกมาดี”

ปัจจุบันคุณลุงสร้างสรรค์ผลงานมากว่า 2,000 ชิ้น โดยผลงานที่ทำรายได้สูงสุดอยู่ที่ชิ้นละ 50,000 บาท นั่นคือฉากสนามแข่งรถบุรีรัมย์ และฉากอู่รถเฟอร์รารี่ แม้งานทั้งหมดจะสร้างรายได้มหาศาลกลับมา แต่ก็ไม่ได้ทิ้งรูปแบบงานวิถีไทย อันเป็นเอกลักษณ์ และความถนัดเฉพาะของคุณลุง พร้อมวางแผนที่จะสร้างแกลลอรี่จัดแสดงผลงานวิถีไทยไว้ให้ลูกหลานได้ดูในอนาคต

BTimes