‘ONCE’ นวัตกรรมเสื้อเปิดสัมผัสรู้สึกเพื่อผู้พิการสายตา l 8, 11 มิ.ย. 65 l BTimes

1162
0
Share:

June 11, 2022

.ONCE ธุรกิจคนไทยรุ่นใหม่บนแนวคิดแห่งความเท่าเทียมที่ยั่งยืน ผ่านการดีไซน์นวัตกรรมเบรลล์แท็กช่วยเหลือผู้พิการทางสายตา

ข้อมูลล่าสุดจากกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ เมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2565 รายงานว่าผู้พิการในประเทศไทยที่ได้รับการออกบัตรประจำตัวคนพิการมีมากถึง 2,108,536 คน หรือร้อยละ 3.19 ของประชากรทั้งประเทศ (ข้อมูลประชากรประเทศไทยจากสำนักทะเบียนกลาง กรมการปกครอง ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2564) และ 186,701 คน เป็นผู้มีความบกพร่องทางการมองเห็น… คำถามตามมาคือบุคคลเหล่านี้จะใช้ชีวิตอย่างไร หากไร้ลูกหลานดูแล หรือพอจะมีสิ่งไหนที่ช่วยอำนวยความสะดวกให้พวกเขาสามารถใช้ชีวิตได้เท่าเทียมกับคนตาดีได้ไหม หากมี สิ่งนั้นน่าจะเป็นอะไร? วันนี้ BTimes มีคำตอบมาให้ทุกคนแล้ว

คุณจุ้ย–จิระ ชนะบริบูรณ์ชัย เจ้าของแบรนด์ .ONCE

จากประสบการณ์ตรงที่คุณจุ้ย–จิระ ชนะบริบูรณ์ชัย ต้องดูแลช่วยเหลือคุณลุง ผู้ตาบอดไม่สนิท คือยังพอมองเห็นได้เลือนลาง และคุณป้าที่เป็นผู้ตาบอดสนิท ซึ่งในความเป็นจริงก็คงไม่สามารถอยู่ดูแลท่านทั้งสองได้ตลอด 24 ชั่วโมง จึงเกิดคำถามว่าแล้วจะทำอย่างไรให้อย่างน้อยทั้งคุณลุงและคุณป้าสามารถช่วยเหลือตัวเองเบื้องต้นอย่างการเลือกเสื้อผ้าได้ นั่นคือประกายตั้งต้นของการสร้างนวัตกรรม ‘เบลล์แท็ก’ แก้ไขปัญหาพื้นฐานอย่างการเลือกเสื้อผ้าให้คนตาบอด เกิดเป็นธุรกิจเพื่อสังคมฝีมือคนไทย ‘.ONCE’

‘เบรลล์แท็ก’ .ONCE

‘เบรลล์แท็ก’ 3 มิติ ที่อยู่บนหลังคอเสื้อของ .ONCE คืออัตลักษณ์สำคัญที่สื่อถึงการเติมเต็มซึ่งกันและกัน เพื่อทำให้ความเท่าเทียมกลายเป็นสิ่งจับต้องได้ ผ่านงานดีไซน์อักษรเบรลล์ด้วยการปักให้มีลักษณะนูน เมื่อคนตาบอดสัมผัสก็จะทราบทันทีว่าเสื้อที่หยิบอยู่นั้นเป็นสีและไซซ์อะไร ตามมาด้วยคอลเลคชันพิเศษที่ได้แรงบันดาลใจจากการลงพื้นที่พูดคุยกับคนตาบอด จนได้ออกมาเป็นเสื้อยืดกสรีนลาย 3 มิติรูป White Cane หรือไม้เท้าขาว อุปกรณ์นำทางที่เปรียบเสมือนดวงตาให้กับคนตาบอด ทั้งยังมีนัยยะแฝงที่ต้องการสื่อสารให้เข้าใจว่าคนตาบอดก็มีศักยภาพมากเช่นกัน

เสื้อยืดกสรีนลาย 3 มิติรูป White Cane หรือไม้เท้าขาว อุปกรณ์นำทางที่เปรียบเสมือนดวงตาให้กับ คนตาบอด จากแบรนด์ .ONCE

.ONCE ไม่ใช่แบรนด์ที่สร้างขึ้นมาเพื่อการขายปลีกเท่านั้น แต่ยังขับเคลื่อนแบรนด์บนแนวคิด Social Enterprise จับมือกับองค์กร และมูลนิธิต่างๆ เพื่อต่อยอดวงจรธุรกิจให้เติบโต บนเป้าหมายของการสร้างประโยชน์คืนกลับให้คนตาบอด ซึ่งการเข้าไปทำกิจกรรมกับโครงการปักจิตปักใจ ทำให้คุณจุ้ยมองเห็นโอกาสในการต่อยอดรายได้ผ่านงานหัตถกรรมจากฝีมือคนตาบอด จนเกิดเป็นคอลเลคชัน Limited Edition ที่นำงานปักมาประกอบเข้ากับเสื้อของ .ONCE ที่สร้างปรากฏการณ์หมดในพริบตาทันทีที่วางขาย

คอลเลคชัน Limited Edition ทำร่วมกับปักจิตปักใจ นำงานหัตถกรรมจาก คนตาบอด มาสร้างสรรค์กับเสื้อของ .ONCE

แต่แล้วโรคระบาดก็ทำให้ .ONCE ต้องพลิกโฉมธุรกิจครั้งใหญ่ เปลี่ยนรูปแบบธุรกิจจาก B2C มาเป็น B2B เดินหน้าเข้าหาพาร์ทเนอร์ที่เป็นองค์กรแทบจะร้อยเปอร์เซ็นต์ จนทำให้ยอดขายที่ละลายกลายเป็นศูนย์ในช่วงโควิดค่อยๆ กระเตื้องขึ้นมา จนสามารถสร้างรายได้ต่อปีถึง 30 ล้านบาท ทั้งนี้คุณจุ้ยยังฝากขอบคุณไปยังลูกค้าองค์กรที่เล็งเห็นความสำคัญและสนับสนุนอาชีพให้แก่ผู้พิการ รวมถึงทำให้แบรนด์ .ONCE กลับมายืนหยัดได้

โรงงานผลิตเสื้อ .ONCE

อนาคตคุณจุ้ยก็ตั้งใจที่จะแตกไลน์ผลิตภัณฑ์ไปเป็นรูปแบบอื่นภายใต้แนวคิดดั้งเดิม พร้อมต่อยอดผลิตภัณฑ์ร่วมกับองค์กร หรือมูลนิธิต่างๆ เพื่อช่วยเหลือผู้พิการประเภทอื่นๆ คู่ไปกับการผลักดันแบรนด์ .ONCE ไปสู่ตลาดต่างประเทศ

BTimes