ความเชื่อมั่นของคนไทยต่อองค์กรตำรวจในคดีผู้กำกับโจ้

1314
0
Share:

ความเชื่อมั่นของคนไทยต่อองค์กรตำรวจในคดี ผู้กำกับโจ้

ข่าวใหญ่ในไทยตอนนี้นอกจากข่าวโรคโควิด-19 แล้ว คงหนีไม่พ้นข่าวของตำรวจยศใหญ่ท่านหนึ่ง หรือเรียกสั้นๆ ว่า ผกก.โจ้ – พ.ต.อ.ธิติสรรค์ อุทธนผล อดีต ผกก.สภ.เมืองนครสวรรค์ ที่ก่อเหตุคดีฆาตกรรมโหด จากการเรียกเงินผู้ต้องหาค้ายาเสพติดเป็นจำนวน 2 ล้านบาท โดยใช้ถุงดำคลุมหัวผู้ต้องหาจนเสียชีวิต ซึ่งมีหลักฐานมัดตัวเป็นคลิปวิดิโอที่บันทึกจากกล้องวงจรปิดภายในที่เกิดเหตุที่ว่อนอยู่หลาในโลกโซเชียล

คดีฆาตกรรมคลุมถุงดำ บทพิสูจน์ตำรวจไทยกับความเชื่อมั่นของคนไทย

เป็นเรื่องที่สร้างความสลดใจให้กับสังคมไทยเป็นอย่างมากกับคดีฆาตกรรมผู้ต้องหาอย่างโหดเหี้ยมของ พ.ต.อ.ธิติสรรค์ อุทธนผล หรือ ผกก.โจ้ อดีต ผกก.สภ.เมืองนครสวรรค์ และลูกน้องอีก 6 คนที่ร่วมกันใช้ถุงคลุมหัวผู้ต้องหาคดียาเสพติด เพื่อรีดเงิน 2 ล้านบาท พร้อมกับซ้อมอย่างทารุณบนโรงพัก จนท้ายที่สุดผู้ต้องหาก็แน่นิ่งไป เหตุการณ์นี้สร้างความหวาดกลัวต่อประชาชนเป็นอย่างมาก เพราะอาชีพตำรวจคือผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ เป็นอาชีพที่ต้องยึดถือกฎหมายเป็นสำคัญ แต่ในเหตุการณ์นี้เรากลับเห็นตำรวจกระทำผิดกฎหมาย พร้อมใช้อำนาจกดขี่ข่มเหงในการรีดไถเงินจากผู้อื่น และคร่าชีวิตผู้อื่นจนถึงแก่ความตาย

ณ ตอนนี้ต้องยอมรับว่าสังคมกำลังจับตาดูคดีนี้อย่างใกล้ชิดว่าจะมีการเปลี่ยนให้ร้ายกลายเป็นดี หรือจากผิดเป็นถูกหรือไม่ เพราะหลังจากที่ควบคุมตัว ผกก.โจ้ได้แล้ว คืนวันนั้นตำรวจได้แถลงข่าวโดยให้ ผกก.โจ้แถลงข่าวกับสื่อมวลชนด้วยตัวเองผ่านการโฟนอิน ซึ่งหลังจากการแถลงข่าวจบลง ก็ยังสร้างความแคลงใจในสังคมว่าจะเป็นการจัดฉากช่วยเหลือให้ผู้ร้ายแก้ต่างให้ตัวเองหรือไม่ กระทั่งเกิดเป็นกระแสสังคมมองตำรวจไทยในแง่ลบหนักขึ้น อีกทั้งความไม่น่าเชื่อถือของกระบวนการตำรวจมีมากเกิน จนสังคมโซเชียลสงสัยว่าผู้ต้องหาที่นำมาแถลงข่าวแบบไม่ให้เห็นตัวนั้นเป็นตัวปลอมหรือไม่ เพราะชาวเน็ตได้วิเคราะห์และเปรียบเทียบจากรูปภาพในข่าวก็เกิดข้อสงสัยในรูปพรรณสัณฐานที่ดูจะซูบผอมทรุดโทรมผิดตาเหมือนไม่ใช่ ผกก.โจ้ตัวจริง ดันให้เกิดเป็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์ส่งแฮชแท็ก #ผู้กำกับโจ้ ติดเทรนด์ทวิตเตอร์อันดับ 1 ประเทศไทยนานถึงหนึ่งสัปดาห์ เพราะถ้าทุกอย่างไม่กระจ่างพอกระแสสังคมเองก็คงไม่ยอมจบอย่างแน่นอน และภาพลักษณ์ของตำรวจไทยที่คนไทยมองว่าแย่อยู่แล้วจะแย่จนวิกฤตยิ่งขึ้นไปอีก

เพราะเหตุใดทำไมประชาชนถึงสงสัยการทำงานของตำรวจ

ที่ผ่านมาเราได้ยินข่าวว่าคนมีฐานะมักรอดคดีอยู่เสมอ ยกตัวอย่างเช่น คดีของบอส อยู่วิทยา ที่ทำให้คนไทยแทบไม่เหลือความศรัทธาแก่องค์กรตำรวจ อีกทั้งกระบวนการยุติธรรมก็กำลังถูกมองเสมือนเป็นองค์กรอาชญากรรม ตำรวจบางรายเริ่มมีพฤติกรรมที่ละเมิดกฎหมายมากขึ้น ไม่ทำตัวเป็นผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ รวมถึงละเมิดกฎทั้งการสอบสวน และการแสวงหาผลประโยชน์ในทางมิชอบ ซึ่งสิ่งหนึ่งที่สะท้อนให้เราเห็นจากเรื่องนี้ได้อย่างชัดเจนคือในองค์กรตำรวจก็มีการตรวจสอบโดยสำนักงานตำรวจแห่งชาติ แต่ในกรณีนี้ ตำรวจผู้แจ้งเบาะแสเป็นตำรวจชั้นผู้น้อยที่กล้าจะลุกขึ้นมาทำในสิ่งที่ถูกด้วยการนำส่งคลิปให้กับทนายษิทรา ที่ไม่ได้อยู่ในระบบของตำรวจ โดยเหตุการณ์ในครั้งนี้แสดงถึงการตรวจสอบอย่างมีลับลมคมในภายในระบบองค์กรตำรวจด้วยกันเองหรือไม่ เพราะเหตุการณ์ที่ตำรวจต่างรู้ว่ามีกล้องวงจรปิดแต่มิได้เกรงกลัวกฎหมาย ซ้ำยังกล้าที่จะกระทำการอุกอาจลงมือทำร้ายผู้ต้องหา แย่ไปกว่านั้นคือเมื่อผู้ต้องหาเสียชีวิตแล้ว ยังมีการสั่งให้ลบภาพจากกล้องวงจรปิดทั้งหมดเพื่อทำลายหลักฐาน จากเหตุการณ์นี้ส่งผลให้ผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ที่มีหน้าที่บำบัดทุกข์ บำรุงสุขให้กับประชาชน กลายเป็นจุดอ่อนของสังคมที่ต้องได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน

สะเทือนต่อเนื่องด้วยการที่สื่อนอกได้รายงานคดีตำรวจฆาตกรรมผู้ต้องหานี้ไปทั่วโลก ทำให้คนทั้งโลกต่างจับตามองกระบวนการยุติธรรมของประเทศไทย ที่ดูเหมือนว่าจะเริ่มสั่นคลอนเสียแล้ว…

สุดท้ายประชาชนคนไทยที่เฝ้ารอดูความเป็นไปของคดีนี้ โดยหวังว่าเหตุการณ์ในครั้งนี้จะได้รับการตัดสินอย่างเป็นธรรม ไม่ทำให้ผู้ต้องหารอดคดีไปได้ และสามารถกอบกู้กระบวนการยุติธรรมที่แท้จริงให้กลับมามีอยู่เป็นรูปธรรมที่มองเห็นได้ดังเดิม

BTimes