เมื่อคำสอนไม่ตอบโจทย์การใช้ชีวิตคนรุ่นใหม่ เกิดเป็นการตัดสินใจไม่เลือกเข้าศาสนาใดทั้งสิ้น ปรากฏการณ์คนไร้ศาสนา = คนไร้หัวใจ จริงหรือ?

1294
0
Share:

เมื่อคำสอนไม่ตอบโจทย์การใช้ชีวิตคนรุ่นใหม่ เกิดเป็นการตัดสินใจไม่เลือกเข้าศาสนาใดทั้งสิ้น ปรากฏการณ์คน ไร้ศาสนา = คนไร้หัวใจ จริงหรือ?
การนับถือศาสนาหรือไม่นับถือศาสนานั้น ถือเป็นสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของการปกครองในระบอบประชาธิปไตย แต่อาจเป็นเรื่องใหม่สำหรับสังคมไทยที่เหล่าบรรพบุรุษต่างคาดหวังกับการถ่ายทอดสิ่งยึดเหนี่ยวจิตใจจากรุ่นสู่รุ่น และคงยากต่อการยอมรับได้ หากลูกหลานรุ่นใหม่ไม่น้อมรับมรดกที่ตกทอดทางความเชื่อนี้ต่อไป

จากผลสำรวจขององค์กรพิว (The Pew Forum on Religion & Public Life) พบว่า ผู้ที่ไม่นับถือศาสนา (Irreligious Persons) ทั่วโลก มีจำนวนเพิ่มสูงขึ้นถึง 1,100 ล้านคน ซึ่งมากเป็นอันดับสาม รองจากผู้นับถือศาสนาคริสต์และอิสลาม โดยประเทศที่มีผู้ไม่นับถือศาสนามากที่สุดคือประเทศจีนที่มีถึง 700 ล้านคน จากประชากรทั้งหมดประมาณ 1,410 ล้านคน รองลงมาคือประเทศญี่ปุ่น 72 ล้านคน และสหรัฐอเมริกากว่า 51 ล้านคน สำหรับสังคมไทยแม้จะยังไม่มีสถิติที่แน่ชัด แต่นักวิชาการศาสนวิทยาคาดการณ์ว่ามีผู้ไม่นับถือศาสนาเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 20 โดยสาเหตุหลักๆ มาจากการที่ประชาชนมีการศึกษาสูงขึ้น ไม่งมงาย และรู้สึกผิดหวังกับบุคคลทางศาสนาเพิ่มมากขึ้น

ในปัจจุบันจะเห็นและได้ยินกันอย่างหนาหู กรณีมีการนำเสนอข่าวเกี่ยวกับความไม่ดีในวงการพุทธศาสนา และความงมงายในเรื่องของความเชื่อแปลกๆ แต่ใช่ว่าสิ่งเหล่านี้จะเพิ่งเคยเกิดขึ้น เพียงแต่ในยุคที่โลกมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว โซเชียลมีเดียเข้ามาแทรกซึมเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตของผู้คนมากขึ้น จึงเป็นสาเหตุที่เรื่องราวเหล่านี้ถูกตีแผ่ และปรากฎให้เห็นกันยังกว้างขวาง ทำให้คนรุ่นใหม่รู้สึกถึงความไม่มั่นคงในด้านจิตใจในส่วนของความเชื่อความศรัทธา

ในทางกลับกันสิ่งที่เห็นได้ชัดในยุคนี้สมัยนี้ คงหนีไม่พ้นในเรื่องของการ ‘มูเตลู’ ที่ดูเหมือนจะมาแรงแซงศาสนาใดๆ นอกจากนี้ยังมีเรื่องของสีเสื้อมงคล และเครื่องประดับเสริมเฮงในด้านต่างๆ ที่เข้ามามีบทบาทอย่างเห็นได้ชัดมากกว่าการเข้าวัดทำบุญอย่างเช่นในอดีตเสียอีก แต่หลังจากที่คนรุ่นใหม่เริ่มออกมาประกาศจุดยืนของตัวเองในการไม่เลือกนับถือศาสนา ถือเป็นปรากฏการณ์สำคัญของสังคมที่ส่งผลให้กลุ่มคนเหล่านี้มีปัญหากับครอบครัวด้วยเหตุผลดังกล่าวเป็นจำนวนมาก

สุดท้ายแล้วความเชื่อก็เป็นสิ่งที่ต่างคนต่างมีสิทธิ์ในการเลือก เพราะทุกศาสนาสอนให้ทุกคนเป็นคนดี และถึงแม้จะต่างชาติต่างศาสนาต่างความเชื่อ แต่เราก็สามารถอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุขได้ เพราะไม่มีคำกล่าวอ้างใดที่บอกว่าสิ่งไหนผิดหรือถูก ดังนั้นไม่ควรใช้เรื่องของความแตกต่างมาทำให้เกิดความแตกแยก ท้ายนี้ ทีมงาน BTimes ก็หวังว่าคนรุ่นเก่าจะค่อยๆ เปิดใจและยอมรับความคิดของคนรุ่นใหม่ให้มากขึ้น เพราะเชื่อว่าแม้จะหลากหลายรุ่น หลากหลายศาสนา หลากหลายความเชื่อ แต่สุดท้ายเราก็คือมนุษย์เช่นเดียวกัน อยากให้ทุกคนรักกันไว้นะคะ

BTimes