‘คนเร่ร่อน’ ปัญหาที่ไร้ทางแก้ หรือแท้จริงแล้วแค่กำลังถูกเมิน??

3911
0
Share:

‘คนเร่ร่อน’ ปัญหาที่ไร้ทางแก้ หรือแท้จริงแล้วแค่กำลังถูกเมิน??

ป้ายรถเมย์ ใต้สะพานลอย หรือตึกร้าง แหล่งพักพิงสุดคลาสสิคของคนเร่ร่อนที่มีให้พบเห็นอยู่จนชินตา ไปพร้อมกับเกิดความรู้สึกหวาดระแวงกลุ่มคนเหล่านี้อยู่ไม่น้อย อาจจะด้วยลักษณะทางกายภาพภายนอกที่ดูมอมแมม ซูบผอม ผมกระเซอะกระเซิง แถมบางคนยังมีสติที่ไม่สมประกอบ และมักเดินพูดคนเดียว หรือคุ้ยหาอาหารตามถังขยะ เพื่อมาประทังชีวิต…

คนเร่ร่อน หรือผู้ใช้ชีวิตอยู่ในที่สาธารณะ คือบุคคลที่ไม่มีที่อยู่อาศัยเป็นหลักแหล่ง ไม่มีแม้แต่อาชีพที่มั่นคง ทั้งยังเป็นกลุ่มคนที่ถูกดูแคลนจากสังคม ถูกให้ค่าเป็นเพียงบุคคลชั้น 2 และชั้น 3 เรียกได้ว่าแทบจะไม่มีสิทธิ์อะไร แม้กระทั่งสิทธิขั้นพื้นฐานเมื่อเทียบกับบุคคลทั่วไป โดยคนเร่ร่อนสามารถแบ่งได้ออกเป็น 3 กลุ่มหลักๆ ได้แก่

กลุ่มที่ 1: คนไร้บ้านหรือคนเร่ร่อน
บุคคลเหล่านี้อดีตเคยมีบ้าน แต่มีปัญหาที่ทำให้ไม่สามารถอยู่ที่บ้านต่อไปได้ สาเหตุอาจมาการจากมีปัญหากับครอบครัว หรือมีฐานะยากจน จึงจำเป็นต้องออกจากบ้านเพื่อไปใช้ชีวิตในที่สาธารณะ และส่วนใหญ่มักจะอยู่ลำพังเพียงคนเดียว แต่คนทั่วไปบางคนมักจะเข้าใจผิดว่าคนเร่ร่อนเป็นคนขี้เกียจ ไม่ยอมหางานทำ ทั้งที่อวัยวะทุกส่วนในร่างกายครบถ้วน ซึ่งในความเป็นจริงคนเร่ร่อนบางคนมีงานทำ และมีรายได้ แต่อาจไม่เพียงพอต่อการเช่าที่พัก จึงจำเป็นต้องอาศัยอยู่ตามที่สาธารณะ เพื่อเก็บเงินไว้ซื้ออาหาร หรือสิ่งจำเป็นอื่นๆ

กลุ่มที่ 2: คนป่วยทางจิตเวช
บุคคลเหล่านี้มักจะมีความผิดปกติทางสมองที่อาจมีสาเหตุมาจากความเครียด ติดสุรา หรือยาเสพติด จนส่งผลกระทบต่อระบบสมอง ทำให้ออกจากบ้านมาโดยไม่รู้ตัว และกลายเป็นคนเร่ร่อนไปในที่สุด ในที่นี้อาจรวมถึงคนต่างจังหวัดที่เข้ามาหางานทำในเมืองหลวง แต่สุดท้ายกลับไม่มีงานทำ หรือถูกเลิกจ้าง ครั้นจะกลับบ้านก็ไม่มีงานให้ทำ จะหางานใหม่ก็ไม่มีใครรับ จึงเกิดความวิตกกังวล เกิดความเครียดสะสม และกลายเป็นโรคซึมเศร้า กระทั่งมีปัญหาทางจิตตามมา

กลุ่มที่ 3: อดีตผู้ต้องขัง
บุคคลเหล่านี้เมื่อพ้นโทษออกมา กลับถูกสังคมตีตราว่าเคยทำผิด เป็นคนขี้คุกขี้ตะราง แถมบางคนยังถูกขับไสไล่ส่งให้ออกจากบ้าน ครั้นพอกลับใจอยากเริ่มต้นใหม่หางานทำก็ไม่มีใครรับ ทำให้สุดท้ายก็ต้องตกอยู่ในสภาวะคนเร่ร่อนไปโดยปริยาย

กลุ่มคนเหล่านี้แท้จริงแล้วไม่ได้อยากเป็นคนเร่ร่อน หรือถูกเลือกปฏิบัติ แต่อาจเพราะไม่มีทางเลือก ไม่มีโอกาส หรือไม่มีเอกสารทางราชการที่สามารถระบุตัวตนว่าเป็นพลเมืองของประเทศไทย ทำให้การเข้าถึงสวัสดิการและสิทธิขั้นพื้นฐานต่างๆ เป็นไปได้ยาก และยังไม่มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาให้ความช่วยเหลืออย่างจริงจัง ซึ่งโดยปกติแล้วปัญหาคนเร่ร่อนในประเทศไทยก็เป็นปัญหาที่แก้ไม่ตก ยิ่งมาเจอทั้งสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 และพิษเศรษฐกิจกระแทกซ้ำ ยิ่งเป็นตัวกระตุ้นให้จำนวนประชากรคนเร่ร่อนเพิ่มสูงขึ้นอย่างน่าตกใจ โดยข้อมูลจากมูลนิธิอิสรชนระบุว่าจำนวนคนเร่ร่อนประจำปี 2563 มีมากถึง 4,432 คน เพิ่มขึ้นจากปี 2562 ที่มีจำนวน 2,623 คน, ปี 2561 ที่มีจำนวน 1,855 คน และในแต่ละพื้นที่มีอัตราคนเร่ร่อนเพิ่มสูงขึ้นถึงร้อยละ 50 ซึ่งสาเหตุก็มาจากการถูกเลิกจ้าง เมื่อเจาะลึกลงไปจะพบว่าคนเร่ร่อนเหล่านี้มีอัตราการกระจายตัวมากขึ้น เนื่องจากถูกผลักไสให้ออกจากพื้นที่ที่เคยอยู่ เพราะต้องการลดความแออัดที่อาจทำให้เกิดการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 จึงต้องย้ายไปปักหลักตามพื้นที่สาธารณะอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นป้ายรถเมล์ ใต้สะพานลอย หรือแม้แต่ตึกร้าง

สุดท้ายเราก็ยังหวังที่จะเห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ หวังว่าปัญหาคนเร่ร่อนในประเทศไทยจะลดลง หวังว่าพวกเขาจะได้รับโอกาสดีๆ จากสังคม รวมถึงการช่วยเหลือที่ทั่วถึงและเท่าเทียมจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้พวกเขาสามารถมีที่ยืนและมีอาชีพที่หล่อเลี้ยงชีวิตได้ และหากปัญหานี้ได้รับการแก้ไขอย่างจริงจัง ทีมงาน BTimes ก็เชื่อว่าจะทำให้ผู้ใช้ชีวิตอยู่ในที่สาธารณะ กลับมาเป็นคนที่มีบ้านที่อบอุ่นได้อีกครั้ง…

BTimes