จริงหรือมั่ว ชัวร์หรือไม่ ที่เขาว่าตอนนี้คนไทยจนน้อยลง?

868
0
Share:

จริงหรือมั่ว ชัวร์หรือไม่ ที่เขาว่าตอนนี้ คนไทย จน น้อยลง?

เป็นเรื่องน่าเหลือเชื่อ เมื่อสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดข้อมูลผู้มีรายได้น้อยในปี 2563 ว่ามีจำนวนเพิ่มขึ้นเพียงแค่ 5 แสนคนจากปี 2562 ซึ่งถือว่าน้อยกว่าที่คาดการณ์ไว้เมื่อเทียบกับสภาพเศรษฐกิจที่หดตัวมากถึง 6.1% เหตุเพราะได้รับเงินช่วยเหลือเยียวยาจากรัฐบาลจากมาตรการต่างๆ ข้อมูลชุดนี้ได้สร้างความประหลาดใจให้คนไทยไม่น้อย ทั้งที่ก่อนหน้าเพิ่งมีการนำเสนอข้อมูลว่าคนไทยว่างงานเฉียดล้านคน สรุปแล้วความจริงคนไทยมั่งมีหรือยากจนกันแน่?

กลายเป็นประเด็นเคลือบแคลงใจหลายคนถึงข้อมูลความย้อนแย้งของสถานะทางสังคมของประชาชนคนไทย สำหรับการรายงานจำนวนผู้มีรายได้น้อยต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ เนื่องจากมีจำนวนประชาชนที่มีรายได้สูงกว่ามาตรฐานที่ตั้งไว้ โดยประเทศไทยได้มีการจัดทำเส้นความยากจน เพื่อเป็นตัวแบ่งระดับรายได้ และใช้คำนวณจำนวนคนจนในประเทศ ซึ่งถูกกำหนดไว้ที่ 2,762 บาทต่อเดือน แต่ด้วยสถานการณ์โควิด-19 ที่กินเวลามานานเกือบ 2 ปี อีกทั้งภาครัฐก็ได้มีการช่วยเหลือตามมาตราการต่างๆ อาทิ โครงการคนละครึ่ง, โครงการ ม33 เรารักกัน, โครงการเราเที่ยวด้วยกัน คิดเป็นการช่วยเหลือเฉลี่ย 1,123 บาทต่อคนต่อเดือน หรือ 40% ของเส้นความยากจน จุดนี้ทำให้รายได้รวมเพิ่มสูงขึ้นกว่าเกณฑ์มาตรฐาน ส่งผลให้ตัวเลขผลสำรวจคนจนจึงลดน้อยลง แต่สาเหตุหลักที่แท้จริงนั้นมาจากการที่ประชาชนมีอาชีพที่มั่นคง สร้างรายได้เพียงพอต่อการดำรงชีวิต หรือเป็นเพราะได้รับการช่วยเหลือจากรัฐบาลซึ่งเป็นรายได้เพียงฉาบฉวย

ในทางกลับกันกระทรวงการคลังกลับมีการคาดการณ์จำนวนผู้ขอรับสิทธิบัตรสวัสดิการแห่งรัฐหรือบัตรคนจนเพิ่มขึ้นในปี 2565 อยู่ที่ประมาณ 15 ล้านคน จากปัจจุบันที่มีประมาณ 13.6 ล้านคน เมื่อมีคนจนเพิ่มขึ้นเพียง 5 แสนคน แต่เหตุไฉนกลับมีคนขอใช้สิทธิบัตรสวัสดิการของรัฐเพิ่มขึ้นถึงประมาณ 1.5 ล้านคน ซึ่งจากสัดส่วนดังกล่าวดูเหมือนจะไม่สมดุลกันระหว่างยากจนจริงกับยากจนปลอม

ถ้าผลสำรวจนี้ถูกนำไปใช้ในการวางแผนแก้ไขปัญหายากจนของประชาชนจริงๆ อาจทำให้ฝ่ายบริหารเห็นว่าปัญหานี้ถูกแก้ไขจนมีผลลัพธ์ที่ดีขึ้น ส่งผลให้ปัญหาที่แท้จริงถูกแก้ไขไม่ตรงจุดและไม่เกิดความยั่งยืน อีกทั้งรัฐก็ต้องกู้เงินมาช่วยเหลือประชาชนอยู่ตลอดเวลาจนกลายเป็นหนี้สาธารณะสะสม สุดท้ายแล้วหนี้ที่ก่อไว้ในวันนี้ก็จะส่งผลต่อลูกหลานในอนาคตในการที่จะต้องมาใช้หนี้แทนบรรพบุรุษนั่นเอง

“อัตตาหิ อัตตโน นาโถ ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน” น่าจะเป็นสำนวนที่เป็นจริงที่สุดแล้ว เพราะไม่มีใครช่วยเหลือเราได้ตลอดไป การที่จะต้องรอให้คนอื่นมาช่วยในวันใดวันหนึ่งก็คงจะไม่ใช่การแก้ปัญหาที่ดีเท่าไรนัก และหากงบประมาณการช่วยเหลือจากภาครัฐหมดลง ประชาชนที่เคยตัวจากการได้รับความช่วยเหลือก็จะไม่สามารถเลี้ยงดูตัวเองได้ สุดท้ายทุกอย่างก็วนลูปกลับไปแบบเดิม คือจำนวนคนว่างงานก็จะเพิ่มมากขึ้น จำนวนคนจนก็จะเพิ่มสูงขึ้น ถ้าเป็นแบบนี้เชื่อว่าสักวันหนึ่งประเทศไทยคงได้ถอยหลังกลับไป กลายเป็นประเทศด้อยพัฒนาเป็นแน่แท้

ช่วงนี้สถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ดูเหมือนจะกลับมาปะทุขึ้นอีกครั้ง ส่งผลลามเป็นลูกโซ่สร้างความลำบากต่อการใช้ชีวิต ต่อสิ่งแวดล้อมรอบตัว ต่อเศรษฐกิจ และต่อสังคม เพราะสิ่งที่เคยทำได้ในอดีตก็ทำไม่ได้ แต่ถึงอย่างไรเราก็ต้องอดทนต่อสู้ เพื่อให้ก้าวข้ามปัญหาวัดใจที่เกิดขึ้น อย่างไรก็ตามทีมงาน BTimes ก็ยังคงอยู่เป็นกำลังใจให้แฟนเพจทุกคนตรงนี้เสมอ และหวังว่าสักวันหนึ่งในอนาคตประเทศไทยจะไร้คนจนอย่างแท้จริงเสียที

BTimes