‘วัคซีนป้องกันเชื้อโควิด-19’ ความหวังของคนทั้งโลก คู่ประสิทธิภาพที่ควรต้องรู้

1878
0
Share:

‘วัคซีนโควิด’ ความหวังของคนทั้งโลก คู่ประสิทธิภาพที่ควรต้องรู้

วัคซีน เปรียบเสมือนความหวังในการป้องกันและยับยั้งการแพร่กระจายเชื้อไวรัสของคนทั่วโลก ซึ่งในปัจจุบันวัคซีนป้องกันเชื้อโควิด-19 มีเพียง 3-4 แบรนด์ที่ได้รับการยืนยันความปลอดภัย และสามารถฉีดให้กับประชาชนได้ แต่รู้หรือไม่ว่าวัคซีนป้องกันเชื้อโควิด-19 ของแต่ละบริษัทมีความแตกต่างกันอย่างไร? ถ้าไม่รู้ไม่เป็นไรนะคะ เพราะวันนี้ BTimes จะพาทุกคนมาทำความรู้จักกับประเภทของเจ้าวัคซีนทั้งหมดกันค่ะ

เทคโนโลยีที่ใช้ในการผลิตวัคซีนป้องกันเชื้อโควิด-19
เนื่องจากวัคซีนที่ผ่านการอนุมัติฉุกเฉินมีจำกัดเพียง 4 ยี่ห้อ ได้แก่ ไฟเซอร์ (Pfizer-BioNTech), โมเดอร์นา (Moderna), แอสตราเซเนกา (AstraZeneca) และสปุตนิก ไฟว์ (Sputnik-V) ทำให้หลายประเทศทั่วโลกเข้าสู่สนามรบในการแย่งชิงวัคซีน เพื่อนำมาฉีดป้องกัน และยับยั้งการแพร่กระจายให้กับประชาชนของตนเอง ซึ่งแต่ละวัคซีนก็มีการใช้เทคโนโลยีที่แตกต่างกัน โดยสามารถแบ่งได้เป็น 6 ประเภท ดังนี้

1. Viral-Vector Vaccine
คือวัคซีนที่ผลิตโดยการใช้ไวรัสที่ทำให้เชื้ออ่อนลงแล้วไม่ทำให้เกิดโรค มาตัดต่อใส่สารพันธุกรรมของเชื้อโควิด-19 ลงไป เพื่อกระตุ้นให้ร่างกายเกิดการสร้างภูมิคุ้มกัน โดยวัคซีนที่ใช้เทคโนโลยีนี้ ได้แก่ วัคซีนแอสตราเซเนกา (AstraZeneca) ที่คิดค้นโดยบริษัทแอสตราเซเนกา และมหาวิทยาลัยออกฟอร์ด, วัคซีนของบริษัทจอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน, วัคซีนสปุตนิก ไฟว์ (Sputnik-V) ซึ่งวัคซีนที่กล่าวไปได้ทำการทดลองกับกลุ่มอาสาสมัครที่มีอายุตั้งแต่ 18–60 ปี พบว่ามีประสิทธิภาพสามารถต้านเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้มากกว่า 90% ทั้งสิ้น

2. mRNA Vaccine
คือเทคโนโลยีใหม่ที่นำมาใช้ในการผลิตวัคซีน ซึ่งจะเป็นการฉีดพันธุกรรมแบบโมเลกุลเข้าไปในร่างกาย เพื่อกระตุ้นให้ร่างกายเกิดการสร้างภูมิคุ้มกัน และสร้างแอนติบอดีมาต่อสู้กับเชื้อโรค โดยวัคซีนที่ใช้เทคโนโลยีนี้ ได้แก่ วัคซีนไฟเซอร์ (Pfizer-BioNTech) และวัคซีนโมเดอร์นา (Moderna) สรุปได้จากผลการทดลองพบว่ามีประสิทธิภาพในการยับยั้งการทำงานของไวรัสได้ดีถึงร้อยละ 95 และสามารถผลิตได้เป็นจำนวนมาก รวมถึงใช้ระยะเวลาในการผลิตไม่นาน

3. Protein-nanoparticle Vaccine
คือวัคซีนที่ใช้โปรตีนส่วนหนึ่งของไวรัสร่วมกับส่วนอื่นๆ มาฉีดกระตุ้น เพื่อให้ร่างกายสร้างเกิดการสร้างภูมิคุ้มกัน โดยวัคซีนที่ใช้เทคโนโลยีนี้ ได้แก่ วัคซีนโนวาแวกซ์ (Novavax) ซึ่งเป็นวัคซีนที่ผลิตโดยบริษัทโนวาแวกซ์ อิงค์และได้รับการสนับสนุนจากโครงการ Operation Warp Speed สรุปได้จากผลการทดลองเฟสที่ 3 กับกลุ่มอาสาสมัครจำนวน 15,000 คนในประเทศอังกฤษพบว่า วัคซีนของโนวาแวกซ์มีประสิทธิภาพสามารถป้องกันเชื้อได้สูงถึง 89.3% เมื่อเจาะลึกลงไปก็พบอีกว่าวัคซีนโนวาแวกซ์ สามารถป้องกันเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์ดั้งเดิมได้ถึง 95.6% และป้องกันเชื้อไวรัสโควิด-19 กลายพันธุ์ที่พบใหม่ได้ 85.6% แสดงให้เห็นถึงประสิทธิภาพต่อการยับยั้งเชื้อไวรัสกลายพันธุ์ทั้ง 2 สายพันธุ์ที่พบครั้งแรกในอังกฤษและแอฟริกาใต้ได้ ซึ่งเจ้าไวรัสกลายพันธุ์ที่พบใหม่นี้มีอัตราการแพร่ระบาดที่รวดเร็ว และรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต

4. DNA Vaccine
คือวัคซีนที่ผลิตโดยการออกแบบชิ้นส่วน DNA ด้วยวิธีสอดแทรกยีนที่สร้างแอนติเจนเข้าไป โดยใช้วิธีฉีดเข้าทางกล้ามเนื้อ หรือผิวหนัง เพื่อให้เกิดการแสดงออกเป็นโปรตีนแอนติเจนที่ต้องการได้ ซึ่งเทคโนโลยีนี้ได้ถูกนำมาใช้ในการผลิตวัคซีนป้องกันเชื้อโควิด-19 ด้วยเช่นกัน แต่ยังอยู่ในขั้นตอนการทดลองและยังไม่มีการรายงานผลสรุปในเรื่องประสิทธิภาพออกมาอย่างชัดเจน

5. Inactivated Vaccine
คือวัคซีนชนิดเชื้อตาย ที่ทำจากเชื้อจุลินทรีย์ที่ตายแล้ว ด้วยการใช้ความร้อนจากสารเคมี หรือแสง UV เข้าไปทำลาย ซึ่งมีข้อดีคือไม่ต้องเสี่ยงต่อการตอบสนองของโรคขั้นรุนแรง โดยวัคซีนที่ใช้เทคโนโลยีนี้ ได้แก่ วัคซีนซิโนแวค (Sinovac) และในปัจจุบันประเทศไทยได้ทำการสั่งซื้อวัคซีนป้องกันเชื้อโควิด-19 จาก Sinovac เป็นจำนวนทั้งหมด 2 ล้านโดส โดยคาดว่าจะจัดส่งถึงไทย 200,000 โดสในช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์, 800,000 โดสในช่วงปลายเดือนมีนาคม และอีก 1 ล้านโดสในช่วงปลายเดือนเมษายน

6. VLP (Virus Like Particle)
คือวัคซีนที่มีอนุภาคคล้ายไวรัส ซึ่งถูกพัฒนาโดยคณะแพทยศาสตร์ศิริราช และสวทช. ทั้งยังอยู่ในขั้นตอนการทดสอบการกระตุ้นภูมิคุ้มกันเบื้องต้นในสัตว์ทดลอง

อัดฉีดความหวังการรักษาด้วย ‘วัคซีนป้องกันเชื้อโควิด-19’ แก่ประชาชนทั่วโลก
จากข้อมูลเดือนมกราคม 2564 ระบุว่าทั่วโลกมียอดการสั่งจองวัคซีนแล้วกว่า 8,400 ล้านโดส โดยประเทศที่มีการสั่งจองเข้ามามากที่สุดคืออินเดีย รองลงมาคือแคนาดา ที่ทำการจองวัคซีนเข้ามามากกว่าประชากรในประเทศถึง 3 เท่า ซึ่งผู้ผลิตวัคซีนจากสถาบัน Serum Institute ในประเทศอินเดีย ได้คาดการณ์ว่า ระยะเวลาที่เร็วที่สุดที่ทั่วโลกจะได้รับวัคซีนป้องกันเชื้อโควิด-19 อย่างเพียงพอคือในปี 2024 หรือ พ.ศ. 2567

ทั้งนี้ ข้อมูล ณ วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2564 ระบุว่าทั่วโลกได้ทำการฉีดวัคซีนให้กับประชาชนแล้วกว่า 100 ล้านโดส โดยสหรัฐอเมริกา คือประเทศที่ทำการฉีดวัคซีนให้กับประชาชนมากที่สุดถึง 32.8 ล้านโดส ซึ่งจากภาพรวมที่หลายประเทศทั่วโลกเริ่มดำเนินการฉีดวัคซีนป้องกันเชื้อโควิด-19 พบว่าวัคซีนประเภท mRNA ถูกนำมาฉีดให้กับประชาชนมากที่สุด รองลงมาคือประเภท Inactivated ส่วนประเภทอื่นนั้นยังอยู่ในขั้นตอนการวิจัย และพัฒนา หากได้ผลการป้องกันที่ดี เราก็อาจจะได้เห็นวัคซีนหลากหลายประเภทที่สามารถใช้กับคนทุกเพศทุกวัยได้มากขึ้นต่อไปในอนาคต

กลับมาในส่วนของประเทศไทย ได้ตั้งเป้าว่าจะดำเนินการฉีดวัคซีนให้ครอบคลุมคนไทยเกินครึ่ง หรือกว่า 30 ล้านคน โดยล่าสุดรัฐบาลได้ทำการสั่งจองวัคซีนล่วงหน้าแล้วทั้งสิ้น 61 ล้านโดส แบ่งเป็นวัคซีนแอสตราเซนเนกาและวัคซีนซิโนแวค แต่ต่อมาเมื่อประมาณกลางเดือนธันวาคม 2563 ไทยพบเจอการแพร่ระบาดระลอกใหม่ จึงได้เจรจากับผู้ผลิตอีกหลายแห่ง เพื่อเร่งนำเข้าวัคซีนบางส่วนมารองรับกับสถานการณ์ฉุกเฉินที่เกิดขึ้น โดยได้เจรจากับแอสตราเซเนกานำเข้าวัคซีนจากแหล่งผลิตในยุโรปมาใช้ก่อนประมาณ 1.5 แสนโดส แต่ติดปัญหาเรื่องการขนส่ง ทำให้การนำเข้าถูกชะลอออกไป ซึ่งทุกฝ่ายก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ และพยายามอย่างเต็มที่ที่จะทำให้ได้วัคซีนมาใช้ก่อนจำนวนหนึ่ง เพื่อให้ได้ต้นแบบการฉีดให้เป็นไปตามแผน พร้อมกับการสังเกตผลข้างเคียงที่อาจพบ ก่อนจะเริ่มฉีดให้กับประชาชนทั่วไปในช่วงเดือนมิถุนายน ทั้งนี้รัฐบาลได้เตรียมแผนจัดหาวัคซีนเบื้องต้น จำนวนทั้งสิ้น 2 ล้านโดส แบ่งเป็นเดือนกุมภาพันธ์ 2 แสนโดส ในเดือนมีนาคม 8 แสนโดส แล้วจะตามมาในช่วงเดือนเมษายนอีก 1 ล้านโดส

แม้ว่าปัจจุบันจะมีวัคซีนป้องกันออกมาให้ทั่วโลกอุ่นใจ แต่ก็ยังมองไม่เห็นถึงจุดสิ้นสุดของการระบาด ดังนั้นทุกคนก็อย่างเพิ่งนิ่งนอนใจ จะไปไหนก็ควรสวมใส่หน้ากากอนามัย เว้นระยะห่าง พกเจลแอลกอฮอล์ และหมั่นล้างมือบ่อยๆ เพราะสิ่งเหล่านี้จะเป็นเกราะป้องกันเบื้องต้นที่ดีที่สุดที่ตัวเราสามารถสร้างขึ้นเองได้ค่ะ

BTimes