‘ความเหลื่อมล้ำ’ โรคร้ายที่กัดกินสังคม และยังคงไม่มียาใดรักษาหาย…

1257
0
Share:

‘ความเหลื่อมล้ำ’ โรคร้ายที่กัดกินสังคม และยังคงไม่มียาใดรักษาหาย...

เมื่อ ‘วัคซีน’ กลายเป็นยาที่ไม่ใช่ใครก็ได้ที่จะฉีด
ไม่ว่าเวลาจะผ่านไปนานแค่ไหนประโยคที่ว่า “รวยกระจุก จนกระจาย” ก็ยังคงสะท้อนช่องว่างความเหลื่อมล้ำของทุกสังคมบนโลกใบนี้เสมอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่ทั่วโลกต้องพบกับภัยพิบัติของโรคระบาดโควิด-19 ที่ดูเหมือนจะยิ่งทวีความรุนแรง และยังหาวิธีป้องกันแบบร้อยเปอร์เซ็นต์ไม่ได้ ทำให้วัคซีนที่ถูกผลิตขึ้นมากลายเป็นความหวัง ดันให้หลายประเทศเข้าสู่สงครามการแย่งชิง เพื่อให้ได้มาซึ่งการครอบครอง

ตามติดด้วยอีกหนึ่งภารกิจหลักที่หลายประเทศทั่วโลกต่างกำลังเร่งมือหาวิธีป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ไม่ให้ลุกลามไปมากกว่านี้ แต่ในส่วนของการคิดค้นวัคซีนกลับดูเหมือนว่าจะมีเพียงไม่กี่ประเทศเท่านั้นที่สามารถทำได้ ซึ่งส่วนหนึ่งก็มาจากข้อจำกัดด้านทรัพยากร ทั้งความสามารถของบุคลากรในประเทศ และกำลังเงินที่ใช้ลงทุนด้านการวิจัย หรืออาจมีบางประเทศที่ไม่สามารถคิดค้นวัคซีนเองได้ แต่มีสถานะทางการเงินที่แข็งแรงก็พยายามทำทุกวิถีทาง เพื่อที่จะเข้าถึงวัคซีนให้ได้มากที่สุด ตรงกันข้ามกับประเทศที่กำลังพัฒนา และประเทศที่ด้อยพัฒนา ที่แทบมองไม่ออกเลยว่าจะต้องทำอย่างไรเพื่อให้ได้มาซึ่งวัคซีน เพราะแค่การทำให้อยู่รอดในแต่ละวันก็ยังเป็นเรื่องที่ยาก…

หลังจากที่มีข่าวการคิดค้นวัคซีนป้องกันเชื้อโควิด-19 สำเร็จ ทำให้เหล่าประเทศมหาอำนาจต่างกว้านซื้อวัคซีนกันอย่างถล่มทลาย เพื่อให้เพียงพอต่อจำนวนพลเมืองภายในประเทศ แต่สำหรับประเทศด้อยพัฒนานั้น การเข้าถึงวัคซีนไม่ใช่เรื่องที่ง่าย แถมยังคงต้องเผชิญกับการแพร่ระบาดอย่างหนักต่อเนื่อง แม้จะมีวัคซีนแล้วก็ตาม ซึ่งการที่เหล่าประเทศมหาอำนาจกว้านซื้อวัคซีนแบบนี้ อาจก่อให้เกิดปัญหาการมีวัคซีนไม่เพียงพอต่อประเทศอื่นๆ ส่งผลให้เกิดความไม่เท่าเทียม และตอกย้ำให้เห็นถึงความเหลื่อมล้ำที่ชัดเจนระหว่างประเทศที่พัฒนาแล้วกับประเทศด้อยพัฒนา ยกตัวอย่างเช่น ประเทศแคนาดาที่ได้มีการสั่งซื้อวัคซีนป้องกันเชื้อโควิด-19 เป็นจำนวนมาก ถึงขั้นที่สามารถฉีดให้กับประชาชนทั้งประเทศได้ถึง 6 รอบ รวมถึงอินเดียที่ถูกจัดให้เป็นประเทศที่มีการสั่งซื้อวัคซีนป้องกันเชื้อโควิด-19 มากที่สุดในโลกถึง 1,600 ล้านโดส สวนทางกับประเทศด้อยพัฒนาถึงเกือบ 70 ประเทศที่กำลังประสบกับปัญหาการมีวัคซีนไม่เพียงพอ โดยมีการคาดการณ์ว่าในปี 2021 ประเทศยากจน หรือประเทศด้อยพัฒนาจะมีวัคซีนฉีดให้กับประชาชนเพียงแค่ 1 ใน 10 เท่านั้น โดยองค์การอนามัยโลกได้ระบุว่าปัญหาดังกล่าวเป็นเรื่องที่น่าเศร้าและสร้างความกังวลเป็นอย่างมาก เนื่องจากประเทศที่ไม่ได้รับการฉีดวัคซีนอย่างทั่วถึงอาจต้องเผชิญกับวิกฤตการแพร่ระบาดที่รุนแรง และลุกลามสร้างความเสียหายรอบด้านเป็นวงกว้าง

สำหรับประเทศไทย วัคซีนโควิด-19 ยังเป็นประเด็นที่มีการถกเถียงกันอยู่ไม่น้อยทั้งในเรื่องประสิทธิภาพการรักษา และความเข้าถึงประชาชนทุกกลุ่มอย่างเป็นธรรม โดยวัคซีนที่รัฐบาลจัดหาให้ในลอตแรกจำนวน 200,000 โดสจากประเทศจีนจะเดินทางมาถึงไทยในเดือนกุมภาพันธ์ ลอตต่อไป 800,000 โดสในเดือนมีนาคม และอีก 1,000,000 โดสในเดือนเมษายน หลังจากนั้นในช่วงเดือนพฤษภาคมจะมีวัคซีนลอตใหญ่ส่งตรงจากบริษัทแอสตราเซเนกาอีก 26 ล้านโดส เพื่อกระจายให้ประชาชนต่อไป ซึ่งบุคลากรทางการแพทย์และกลุ่มเสี่ยง 5 จังหวัดในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวดสูงสุดจะเป็นกลุ่มแรกที่ได้รับวัคซีน

แต่แล้วก็เกิดเหตุการณ์ช็อคโรคอีกครั้ง เมื่อผลการทดลองฉีดวัคซีนแอสตราเซเนกากับกลุ่มอาสาสมัครในประเทศแอฟริกาใต้เกิดความล้มเหลว เมื่อประสิทธิภาพที่ได้ออกมามีเพียง 22% และไม่สามารถยับยั้งเชื้อไวรัสโควิด-19 กลายพันธุ์สายพันธุ์แอฟริกาได้ จึงเกิดเป็นคำถามคาใจว่าไทยจะยังคงใช้วัคซีนตัวนี้ฉีดให้กับคนในประเทศอยู่หรือไม่?? ยิ่งเจอโรคเลื่อนออกไป บวกกับการประกาศยกเลิกให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และภาคเอกชนสั่งซื้อวัคซีนเอง แต่ให้รอวัคซีนนำเข้าจากรัฐบาลเท่านั้น ยิ่งทำให้เกิดกระแสวิจารณ์มากมายบนโลกโซเชียลว่าสุดท้ายแล้ววัคซีนจะมาถึงไทยเมื่อไร และจะเข้าถึงคนทุกระดับได้จริงหรือไม่ ตอกย้ำปมความเหลื่อมล้ำในใจว่าแท้จริงแล้วต้องมีเงินเท่านั้นใช่ไหมถึงจะได้รับวัคซีน ทั้งๆ ที่ทุกคนก็เป็นพลเมืองของประเทศไทยเหมือนกัน

สุดท้ายปัญหาความเหลื่อมล้ำก็ยังเป็นโจทย์ที่ไม่สามารถหาทางแก้ไขที่ลงตัวได้ ทั้งยังเป็นสิ่งที่ค้างคาใจของประชาชนทั้งประเทศมาโดยตลอด โดยหวังที่จะได้เห็นคำตอบที่ชัดเจนและเป็นธรรมของรัฐบาลในเรื่องของการจัดการสวัสดิการและปัจจัยพื้นฐานด้านยารักษาโรคที่มนุษย์ทุกคนควรได้รับสิทธิ์ในการเข้าถึงอย่างเท่าเทียม…

ถึงแม้ว่าจะมีวัคซีนป้องกันเชื้อโควิด-19 แล้ว แต่ทุกคนก็ยังไม่ควรนิ่งนอนใจ และยังคงต้องระมัดระวังการใช้ชีวิต สวมหน้ากากอนามัยทุกครั้งที่ออกจากบ้าน หมั่นล้างมือบ่อยๆ เพื่อรอวันที่โควิด-19 จะหมดไป หรือเป็นเพียงแค่โรคประจำฤดูกาลเท่านั้น… มาสู้ไปพร้อมกันนะคะ ทีมงาน BTimes เป็นกำลังใจให้ทุกคนค่ะ ^^

BTimes