เปิดค่าจ้างขั้นต่ำแรงงานในอาเซียน ไทยยังติดท็อป 5 แพงสุดในภูมิภาค แรงงานไทยว่าไง ถ้าอัตราขั้นต่ำไม่ขยับทะลุ 700 บาท

1131
0
Share:

เมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา เราเพิ่งจะผ่าน “วันแรงงานแห่งชาติ” มาได้ไม่นาน ซึ่งควันหลงของวันแรงงานคงหนีไม่พ้นเรื่องของการเรียกร้องขอปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ บรรดาพี่น้องผู้ใช้แรงงานก็จะมีการออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลพิจารณาปรับขึ้นในทุกปี ด้วยสถานการณ์อัตราเงินเฟ้อ ข้าวของปรับขึ้น การปรับขึ้นค่าจ้างจึงเป็นทางออกที่ให้สามารถรับมือกับค่าครองชีพที่ปรับตัวสูงขึ้นได้

เมื่อวันที่ 1 พ.ค.ที่ผ่านมา กลุ่มผู้ใช้แรงงานได้นัดรวมตัวกัน นำโดยสมาพันธ์สมานฉันท์แรงงานไทย (สสรท.) และสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) สหภาพแรงงาน พากันเดินขบวนไปยังทำเนียบรัฐบาล และได้ยื่นข้อเรียกร้องถึงนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เพื่อขอให้พิจารณาปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเพิ่มเป็น 712 บาท โดยขอให้ปรับเป็นอัตราเดียวกันทั่วประเทศ พร้อมทั้งเรียกร้องให้ลดค่าใช้จ่ายผ่านการควบคุมราคาสินค้า ลดค่าน้ำมัน ค่าแก๊ส ค่าขนส่ง และค่าอื่นๆ อีกจิปาถะ โดยเฉพาะค่าไฟฟ้าที่ทำให้ประชาชนจำใจแบกรับเป็น “ค่าพร้อมจ่าย” จากภาระที่รัฐก่อไว้

ซึ่งตัวแทนผู้ใช้แรงงานก็ได้แจกแจงรายละเอียดค่าใช้จ่าย เพื่อเป็นเหตุผลในการขอปรับขึ้นค่าจ้าง ด้วยว่าในปี 2565 ที่ผ่านมา คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) และสมาพันธ์สมานฉันท์แรงงานไทย (สรส.) เคยเรียกร้องการปรับค่าแรงขั้นต่ำที่ 492 บาท โดยได้ใช้ข้อมูลการสำรวจค่าใช้จ่ายของคนงานทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ เมื่อเดือนกันยายน 2560 มาสรุป ซึ่งก็จะมีค่าใช้จ่ายต่างๆ ทั้งค่ากินค่าอยู่ ค่าสาธารณูปโภคหลายๆ อย่าง ดังนี้

– ค่าใช้จ่ายรายวัน (ค่าเดินทาง ค่าอาหาร) 219.92 บาท ตกเป็นเดือนละ 6,581.40 บาท
– ค่าใช้จ่ายรายเดือน (เช่น ค่าน้ำประปา ไฟฟ้า ค่าเช่าบ้าน ผ่อนบ้าน ค่าโทรศัพท์ อินเทอร์เน็ต การศึกษาบุตร ดูแลบุพการี ค่าใช้จ่ายสิ่งของเครื่องใช้ในบ้าน) เดือนละ 14,771.52 บาท

หากนำค่าใช้จ่ายรายวันและรายเดือนมารวมกันจะอยู่ที่ 21,382.92 ดังนั้น ค่าจ้างที่พอเลี้ยงครอบครัวได้อยู่ที่วันละ 712 บาท แต่ตอนนั้น คสรท. และ สรส. ได้ประชุมร่วมกันและมีมติเสนอตัวเลขในการปรับค่าจ้างเชิงประนีประนอม โดยคำนวณเฉพาะค่าใช้จ่ายรายเดือนมาเฉลี่ยด้วย 30 วัน ดังนั้นตัวเลขที่เสนอปรับค่าจ้างในครั้งนี้จึงอยู่ที่วันละ 492 บาท และขอให้ปรับขึ้นในอัตราเท่ากันทั้งประเทศ

แม้จะเป็นการแสดงสัญลักษณ์และเรียกร้องตามธรรมเนียมประจำปีของผู้ใช้แรงงาน แต่ที่สำคัญกว่านั้นคือการส่งสัญญาณไปยังรัฐที่ต้องเข้ามาดูแลจริงจัง อีกทั้งสะท้อนถึงการบริหารงาน เศรษฐกิจ และความเดือดร้อนของพี่น้องผู้ใช้แรงงาน ซึ่งเป็นผู้บริโภคและกำลังสำคัญในการกระตุ้นเศรษฐกิจพอๆ กับกลุ่มอื่นๆ

ค่าแรงขั้นต่ำของไทย ณ ปัจจุบัน หลายคนอาจมองว่าก็สูงอยู่นะ แต่ถ้าเทียบกับบรรดาประเทศเพื่อนๆ ในกลุ่มอาเซียน 10 ชาติแล้วจะพบว่าค่าแรงขั้นต่ำของประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 5 ต่ำกว่าสิงคโปร์ บรูไน ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย แต่ยังสูงกว่ามาเลเซีย กัมพูชา เวียดนาม สปป.ลาว และเมียนมา

เปิด ค่าจ้างขั้นต่ำ แรงงานใน อาเซียน ไทยยังติดท็อป 5 แพงสุดในภูมิภาค แรงงานไทยว่าไง ถ้าอัตราขั้นต่ำไม่ขยับทะลุ 700 บาท

อันดับ 1 สิงคโปร์ เฉลี่ยอยู่ที่ 1,423 บาทต่อวัน
อันดับ 2 บรูไน 664 บาทต่อวัน
อันดับ 3 ฟิลิปปินส์ 202-345 บาทต่อวัน
อันดับ 4 อินโดนีเซีย 138-444 บาทต่อวัน
อันดับ 5 ไทย 313-336 บาทต่อวัน

ส่วนประเทศอื่นๆ ที่ค่าแรงต่ำกว่าไทย ได้แก่
อันดับ 6 มาเลเซีย 291-318 บาทต่อวัน
อันดับ 7 กัมพูชา 217 บาทต่อวัน
อันดับ 8 เวียดนาม 150-205 บาทต่อวัน
อันดับ 9 สปป.ลาว 105 บาทต่อวัน
อันดับ 10 เมียนมา 90 บาทต่อวัน

ด้านกระทรวงแรงงานของไทย โดยนายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้ออกมาบอกว่าปัจจุบันค่าแรงขั้นต่ำของไทยก็อยู่อันดับต้นๆ ของอาเซียน ซึ่งจะเป็นข้อเสียคือนักลงทุนหลายประเทศย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศที่ค่าจ้างถูกกว่า แต่การจะพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำแต่ละครั้ง จะมีคณะกรรมการค่าจ้างเป็นผู้แทนองค์กรไตรภาคีทั้ง 3 ฝ่ายคือ ฝ่ายรัฐบาล นายจ้าง และลูกจ้าง เข้ามาพิจารณาและปรึกษาหารืออย่างรอบคอบก่อนจะได้ข้อยุติร่วมกัน และต้องให้เหมาะสมตามหลักเกณฑ์สากลของไอแอลโอ ที่เป็นผู้กำหนดด้วยหลักเกณฑ์ที่มีเหตุมีผล สามารถตอบสังคมได้

ซึ่งการพิจารณาอิงจากปัจจัยหลัก คือดัชนีค่าครองชีพ อัตราเงินเฟ้อ มาตรฐานการครองชีพ ผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (จีดีพี) และสภาพทางเศรษฐกิจและสังคมประกอบกันไป และหากว่ามีมติขึ้นค่าแรงจริง ทางกระทรวงแรงงานจะต้องลงนาม เพื่อเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาและประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา แต่ตอนนี้ยังไม่ได้มีการพิจารณาว่าจะขึ้นค่าแรงไปถึง 492 บาท

อย่างไรก็ตาม หากนับเวลาถอยหลังก็เหลือเวลาอยู่อีกไม่กี่สิบวันก็จะถึงวันเลือกตั้งแล้ว จะยังได้ลุ้นปรับขึ้นค่าแรงอีกครั้งในสมัยรัฐบาลลุงตู่อีกหรือไม่ ก็ขึ้นอยู่ที่แต่ละคนจะคิดจะหวังได้ หรือสุดท้ายจะรอพึ่งรัฐบาลใหม่ เพราะก็เห็นหลายพรรคที่ขายของกันปาวๆ ว่าพร้อมจะขึ้นค่าแรงทันทีที่เป็นรัฐบาล แต่อย่าลืมว่ากว่าจะปรับค่าจ้างกันแต่ละรอบไม่ใช่เรื่องง่ายๆ เพราะมีขั้นตอนกระบวนการ ไม่ว่ารัฐบาลไหนๆ ก็คงต้องคิดกันหนัก แต่นอกเหนือจากเรื่องค่าแรง สิ่งที่รัฐควรโฟกัสมาตั้งนานแล้ว และแก้ให้ได้สักที น่าจะเป็นเรื่องค่าครองชีพ ราคาสินค้าที่มันแพงเกินจริง หรือแม้แต่ปัญหาทุนมืด แย่งอาชีพ แย่งงานคนไทย มากกว่าหรือไม่ อันนั้นน่าคิดกว่าไหมนะ??

BTimes