ค่าแรงขั้นต่ำของแรงงานไทย เพียงพอต่อการใช้จ่ายในสภาวะเศรษฐกิจแบบนี้จริงหรือ?

1612
0
Share:

ค่าแรงขั้นต่ำ ของแรงงานไทย เพียงพอต่อการใช้จ่ายในสภาวะเศรษฐกิจแบบนี้จริงหรือ?
รายได้ขั้นต่ำวันละ 300 บาท อาจดูเหมือนจะมาก แต่เมื่อเทียบกับค่าครองชีพในปัจจุบัน กลับสวนทางกันอย่างสิ้นเชิง ยิ่งแจงออกมาเป็นรายการใช้จ่ายต่างๆ อาทิ ค่าใช้จ่ายประจำวัน ค่าใช้จ่ายจิปาถะที่หมดไปกับสิ่งของจำเป็น ค่าใช้จ่ายที่อยู่เหนือความคาดหมาย จะยิ่งเห็นว่าชีวิตของลูกจ้างรายวันที่ต้องใช้หยาดเหงื่อแรงกายเข้าแลก เพื่อให้ได้มาซึ่งเงินดูแลปากท้องและจุนเจือครอบครัว ที่ต่อให้รัดเข็มขัดค่าใช้จ่ายแล้วก็แทบไม่เพียงพอ แถมยังต้องเผชิญกับวิกฤตการขึ้นราคาเครื่องอุปโภคบริโภคแบบสุดโต่ง ยิ่งทำให้แทบมองไม่เห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ว่าพวกเขาจะต้องแก้ปัญหาส่วนนี้อย่างไร

สารพัดราคาข้าวของเครื่องใช้ที่แข่งกันขึ้นราคาจนดีดทะลุเพดาน และไม่มีทีท่าว่าจะลดลง
ทุกวันนี้จะเห็นได้ว่าผู้ใช้แรงงานส่วนใหญ่มักจะไม่ใช่คนเมือง พวกเขาเลือกที่จะจากบ้านเกิด จากคนที่รัก แล้วแบกกระเป๋ามุ่งหน้าเข้าเมืองกรุงมาหาอาชีพที่มั่นคง เพื่อส่งเงินกลับไปให้ครอบครัว แรงงานเหล่านี้มีความขยัน อดทน และดิ้นรนทำงานอย่างตั้งใจแลกกับค่าจ้างวันละ 300 บาท ซึ่งเงินเพียงแค่ 300 บาทกับค่าครองชีพในปัจจุบัน ลำพังซื้อข้าว-เช่าบ้านก็ยังแทบจะไม่พอ ยิ่งต้องส่งกลับไปให้ที่บ้าน คิดดูแล้วกันว่าพวกเขาจะต้องประหยัดแค่ไหน เกิดเป็นคำถามว่าค่าแรงเท่านี้เพียงพอต่อการดำรงชีพบนสภาวะวิกฤตจริงหรือ? การที่ต้องเอาหยาดเหงื่อแรงกายเข้าแลก เทียบกับปัจจัยค่าครองชีพ มันยุติธรรมกับพวกเขาแล้วใช่ไหม?

หากย้อนกลับไปเมื่อ 10 ปีที่แล้วหรือ พ.ศ. 2553 พบว่า กระทรวงแรงงานได้กำหนดให้ค่าแรงรายวันของลูกจ้างที่ใช้แรงงานรับอยู่ที่วันละ 206 บาท ถัดมาอีก 10 ปี หรือ พ.ศ. 2563 ค่าแรงขั้นต่ำถูกเพิ่มขึ้นมาเป็นวันละ 331 บาท หรือเพิ่มขึ้นมาจากเดิม 125 บาท ซึ่งผู้ที่มีอำนาจในการกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำคือคณะกรรมการค่าจ้าง มีหน้าที่พิจารณา เสนอและกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำ โดยมีหลักเกณฑ์ในการพิจารณาจากหลากหลายปัจจัย เช่น ค่าครองชีพ, อัตราเงินเฟ้อ, ต้นทุนการผลิตสินค้าและบริการ, ผลิตภาพแรงงาน, ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ และสภาพทางเศรษฐกิจและสังคม เมื่อลองเอาไปเปรียบเทียบกับประเทศที่มีค่าแรงขั้นต่ำสูงที่สุดในโลกอย่างที่เมืองเจนิวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ที่มีอัตราค่าแรงขั้นต่ำอยู่ที่ประมาณ 23 ฟรังก์สวิสต่อชั่วโมง (ราว 790 บาท) แต่ค่าครองชีพในเมืองเจนีวาก็แพงที่สุดในโลกเช่นกัน เฉลี่ยแล้วจะอยู่ที่ 3,817 ดอลลาร์ (ราว 117,300 บาท) ซึ่งดูเหมือนจะไม่แพง หากเทียบกับรายได้เฉลี่ยที่ได้รับในแต่ละเดือนที่ประมาณ 5,760 ดอลลาร์ (ราว 177,000 บาท) เห็นได้ชัดว่าเมื่อเทียบกับประเทศไทยแล้ว ดูเหมือนจะห่างไกลกันอย่างลิบลับ หากอ้างอิงจากเว็บไซต์ costof.live ที่เป็นเว็บไซต์เปรียบเทียบค่าครองชีพของแต่ละเมืองทั่วโลก จะพบว่า ค่าครองชีพเฉลี่ยต่อเดือนของคนไทยที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพมหานครจะอยู่ที่ 31,753 บาท ซึ่งสวนทางกับเงินเดือนเฉลี่ยที่ได้เพียง 25,400 บาท และเมื่อดูจากตัวเลขข้างต้นแล้วก็ทำให้อดสงสัยไม่ได้เลยว่าเกิดอะไรขึ้นกับค่าแรงคนไทย ทำไมค่าครองชีพจึงสวนทางกับรายได้ขนาดนี้ และคนไทยจะใช้ชีวิตกันอย่างไรที่จะไม่ทำให้ตัวต้องติดลบในทุกเดือน…

ทั้งนี้ การที่ข้าวของเครื่องใช้พื้นฐานที่จำเป็นในชีวิตประจำวันมีการเพิ่มราคาขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้คนที่มีเงินเดือนประจำก็อาจได้รับผลกระทบเพียงเล็กน้อย แต่สำหรับคนที่เป็นลูกจ้างรายวันที่ได้รับรายได้ตามเรทค่าแรงขั้นต่ำก็ดูจะไม่ค่อยยุติธรรมสักเท่าไร เนื่องจากไม่ว่าจะเป็นคนรวยหรือคนจน คนมีเงินรายเดือนหรือคนเงินมีเงินรายวัน ต่างก็ต้องซื้อสินค้าอุปโภค-บริโภคในราคาที่เท่ากัน คนเงินเดือน 30,000 บาท ซื้อน้ำมันขวดละ 50 บาท คนที่ได้ค่าจ้างรายวัน 300 บาท ก็ต้องซื้อน้ำมันขวดละ 50 บาทเช่นเดียวกัน มิหนำซ้ำยิ่งต้องมาใช้ชีวิตในช่วงวิกฤตโรคระบาดโควิด-19 แล้วด้วยนั้น ยิ่งส่งผลกระทบเป็นอย่างมากกับคนกลุ่มนี้ เพราะจะต้องแบกรับค่าใช้จ่ายที่อยู่เหนือความคาดหมายที่เพิ่มขึ้นมานั่นคือการซื้อหน้ากากอนามัย และเจลแอลกอฮอล์ล้างมือ ซึ่งถือว่าเป็นภาระค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ในขณะที่รายได้ยังคงเดิม

สุดท้ายทีมงาน BTimes ก็ขอเป็นกำลังใจให้กับผู้ใช้แรงงานทุกคนให้มีกำลังใจในการทำงานต่อไป โดยหวังว่าสักวันหนึ่งค่าตอบแทนของแรงงานจะเพิ่มขึ้นมาอย่างเหมาะสม เพื่อทำให้แรงงานทุกคนมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นกว่าเดิม

BTimes