เปิดท็อป 5 ประเทศค่าไฟแพงที่สุดในอาเซียน ไทยขึ้นแท่นอันดับ 4 ของภูมิภาค ประชาชนยังต้องควักจ่ายเพิ่ม แม้รัฐลดให้เหลือ 4.70 บาท

603
0
Share:

ช่วงนี้อากาศร้อน แน่นอนว่าหลายๆ บ้านต้องระดมเปิดแอร์คลายร้อนกันให้ฉ่ำ ถึงจะรู้ทั้งรู้ว่ายังไงบิลค่าไฟเดือนนี้พุ่งแบบไม่ต้องลุ้นแน่นอน แต่ให้ทำไงได้ ก็อากาศมันร้อนตับแลบ กลัวฮีทสโตรกจะถามหา

ก่อนหน้านี้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เองได้เคยปรับอัตราจัดเก็บค่าไฟไปอยู่ที่ 4.77 บาทต่อหน่วยไปแล้ว แต่เป็นอัตราเดียวกับภาคธุรกิจ ทำให้ยังมีเสียงเซ็งแซ่กันอยู่ว่า มันไม่ยุติธรรมที่รัฐจะมาเอื้ออวยเอกชนขนาดนี้ แถมสถานการณ์ค่าครองชีพที่ยังสูง อะไรๆ ก็แพงหูฉี่ มีการเสนอ รบเร้าให้รัฐให้ทบทวนแล้วทบทวนอีก ปรับลดค่าไฟลงมาเถอะ เพราะต้นทุนเชื้อเพลิงที่ผลิตไฟฟ้าหลายสิ่งก็ได้ปรับลงมาแล้ว

จนกระทั่งในที่สุด กกพ. ก็ทนเสียงทัดทานไม่ไหว ส่งให้เมื่อกลางสัปดาห์ที่ผ่านมาได้เคาะอัตราค่าไฟลงมาใหม่ สำหรับงวดเดือน พ.ค.-ส.ค.นี้ โดยเรียกเก็บกับประชาชนลดลง 7 สตางค์ต่อหน่วย หรือจากที่จะจัดเก็บในอัตรา 4.77 บาทต่อหน่วย เหลือเพียง 4.70 บาทต่อหน่วย ลดลงตั้ง 2 สตางค์ จากงวดปัจจุบันในเดือน ม.ค.-เม.ย.นี้ ที่อยู่ที่ 4.72 บาทต่อหน่วย ตามที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ยอมเสียสละเข้ามารับภาระค่าไฟฟ้าแทนประชาชนในงวดนี้ โดยที่ไม่ต้องเข้าสู่ขั้นตอนกระบวนการเปิดรับฟังความคิดเห็นอีกแล้ว และยังยืนยันว่าทันงวดบิลเดือน พ.ค.นี้อย่างแน่นอน

แต่ทุกคนรู้หรือไม่? ว่าค่าไฟไทยที่ลดลงนั้นยังแพงระดับท็อปในอาเซียน ซึ่งถ้าเทียบกันแล้ว ไทยถือว่าแพงอยู่ในอันดับ 4 โดยตามรายงานของ GlobalPetrolPrices ได้จัดอันดับอัตราค่าไฟในประเทศอาเซียน 5 อันดับ ดังนี้

เปิดท็อป 5 ประเทศ ค่าไฟ แพง ที่สุดใน อาเซียน ไทย ขึ้นแท่นอันดับ 4 ของภูมิภาค ประชาชนยังต้องควักจ่ายเพิ่ม แม้รัฐลดให้เหลือ 4.70 บาท

อันดับ 1 ประเทศสิงคโปร์ 8.22 บาทต่อหน่วย
อันดับ 2 ฟิลิปปินส์ 6.04 บาทต่อหน่วย
อันดับ 3 กัมพูชา 5.12 บาทต่อหน่วย
อันดับ 4 ประเทศไทย 4.70 บาทต่อหน่วย
และ อันดับ 5 อินโดนีเซีย 3.33 บาทต่อหน่วย

ส่วนประเทศอื่นๆ อย่างเวียดนาม ค่าไฟของเขาอยู่ที่ 2.75 บาทต่อหน่วย เมียนมา 2.70 บาทต่อหน่วย มาเลเซีย 1.71 บาทต่อหน่วย และสปป.ลาว 1.71 บาทต่อหน่วย

ซึ่งในมุมมองของ รศ. ดร. อนุสรณ์ ธรรมใจ อดีตผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนานโยบายสาธารณะ สำนักนายกรัฐมนตรี กลับเห็นว่า ไทยเป็นประเทศที่มีค่าไฟฟ้าแพงที่สุดในอาเซียน เพราะด้วยระบบการบริหารกิจการพลังงานและไฟฟ้าในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมามองว่าเป็นค่าใช้จ่ายที่เป็นการส่งผ่านให้ประชาชนและภาคธุรกิจได้ จึงขาดความกระตือรือร้นที่จะแก้ปัญหา และการที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ. ) เสนอขอรับภาระยืดหนี้การชำระค่าไฟฟ้าวงเงินประมาณ 1.3 แสนล้านบาทแทนประชาชนนั้น เป็นเพียงการบรรเทาปัญหาระยะสั้น ไม่ใช่แก้ปัญหาความไม่เป็นธรรมต่อผู้ใช้บริการ ทั้งภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจอุตสาหกรรมการผลิตอย่างแท้จริง อาจสร้างปัญหาต่อภาระทางการคลังและหนี้สาธารณะในระยะยาวได้ในอนาคต

“ประเทศไทยมีการแสวงหาค่าเช่าทางเศรษฐกิจในกิจการพลังงาน ทำให้ค่าไฟฟ้ามีราคาแพงกว่าปกติมากๆ กิจการพลังงาน กิจการขนส่งคมนาคม กิจการโทรคมนาคมมาโดยตลอดและปัญหารุนแรงมากยิ่งขึ้นในระบอบอำนาจนิยมที่ไม่มีการตรวจสอบถ่วงดุล ทำให้การผูกขาดอำนาจทางการเมืองและผูกขาดอำนาจทางเศรษฐกิจควบแน่นมากขึ้น การแสวงค่าเช่าทางเศรษฐกิจทำกันอย่างแพร่หลายและเปิดเผย จนกระทั่งกลายเป็นธรรมเนียมปฏิบัติในสังคม ทำให้ประชาชนและภาคธุรกิจขนาดย่อม ขนาดเล็ก ขนาดกลางต้องจำยอมรับสภาพความไม่เป็นธรรมและการถูกขูดรีดอย่างถูกกฎหมาย” รศ. ดร. อนุสรณ์กล่าว

หากแต่รัฐบาลสามารถแก้ไขปัญหาความไม่เป็นธรรมที่เกิดขึ้นในกิจการไฟฟ้าได้ ค่าไฟฟ้าควรลดลงมาอยู่ในระดับ 2.5-3.5 บาทต่อหน่วยกิโลวัตต์ชั่วโมงในระยะยาว ในการแก้เฉพาะหน้าระยะสั้นต้องกดต้นทุนค่าไฟฟ้าไม่ให้สูงกว่า 4 บาทต่อหน่วย ไม่ใช่ค่าไฟฟ้าแพงมากเช่นในปัจจุบัน เพราะจะดันต้นทุนการผลิตสูงขึ้น โดยเฉพาะธุรกิจอุตสาหกรรมที่ใช้พลังงานไฟฟ้าอย่างเข้มข้น จะทำให้ผู้ผลิตในไทยมีความสามารถในแข่งขันด้อยลง ขณะที่ผู้บริโภคจะซื้อสินค้าแพงขึ้น เทียบกับประเทศอาเซียนที่มีระดับการพัฒนาทางเศรษฐกิจใกล้เคียงกัน ไทยก็มีค่าไฟฟ้าที่แพงกว่ามาก

ผลกระทบที่ตามมาของค่าไฟแพง ยกตัวอย่างเช่น ในอุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้าในไทย มีต้นทุนเพิ่มขึ้นทันที 5.38% ต้นทุนค่าไฟฟ้าอยู่ที่ 12.41% ของต้นทุนการผลิต ขณะที่อุตสาหกรรมซีเมนต์เพิ่มขึ้น 4.4% ต้นทุนค่าไฟฟ้ามาอยู่ที่ 9.47% ผลิตภัณฑ์คอนกรีตและเซรามิคต้นทุนเพิ่มขึ้น 3.05-3.82% ทำให้ต้นทุนค่าไฟฟ้าขึ้นมาที่ 6.49-8.14% ของต้นทุนการผลิตโดยรวม เป็นต้น ซึ่งภาพรวมภาคอุตสาหกรรม ค่าไฟฟ้าเพิ่มขึ้น 2.29% ทำให้ต้นทุนค่าไฟฟ้าเทียบกับต้นทุนการผลิตอยู่ที่ 4.88% (ข้อมูลกองวิจัยเศรษฐกิจอุตสาหกรรม สภาพัฒนาการเศรษฐกิจสังคมแห่งชาติ)

แต่ถ้าสิ่งที่ภาคเอกชน นักวิชาการ เศรษฐศาสตร์หรือพรรคการเมือง ที่ต่างเชียร์ให้ไทยปฏิรูปโครงสร้างไฟฟ้าเสียที โดยเฉพาะปฏิรูปกิจการพลังงาน การแปรรูปกิจการไฟฟ้า โดยการทำให้เกิดการแข่งขัน และต้องเป็นธรรม เปิดกว้างไปยังประชาชน รายเล็กรายน้อยผลิตไฟใช้และขายแข่งกัน ค่าไฟก็จะถูกลงโดยธรรมชาติของตลาดเอง

เชื่อว่า ณ เวลานี้ใครๆ ก็คงอยากให้ค่าไฟบ้านเราถูกลง เพราะค่าไฟที่ลดลงมาตั้ง 2 สตางค์นั้น หลายคนแทบจะไม่บรรเทารายจ่ายได้เลย ความหวังอาจจะไปตกอยู่ที่ “รัฐบาลใหม่” ไฟแรงที่จะมาขุดโครงสร้างไฟฟ้า จัดระบบใหม่ได้ค่าไฟที่เป็นธรรม และหวังว่าจะไม่ต้องเห็น ‘ค่าไฟไทย’ ไต่อันดับขึ้นไปแซงหรือโค่นแชมป์ชาติไหนอีกเลย…

BTimes