เปิดชะตากรรมคนไทยบนวิกฤตเศรษฐกิจ เงินเฟ้อ โรคระบาด

792
0
Share:

เปิดชะตากรรม คนไทย บน วิกฤต เศรษฐกิจ เงินเฟ้อ โรคระบาด

“แพงทั้งแผ่นดิน” นาทีนี้คำนี้ดูจะไม่เกินจริง เพราะเพียงข้ามคืนราคาสินค้าอุปโภคบริโภคต่างตบเท้าขึ้นราคากันยกแผงต้อนรับเดือนสิงหาคมอย่างดิบดี ไม่เพียงแต่วัตถุดิบที่ปรับขึ้นราคากันอย่างน่าใจหาย แต่ก๊าซหุงต้มครัวเรือน หรือก๊าซแอลพีจี (LPG) ที่เปรียบเสมือนกำลังสำคัญในการประกอบอาหารก็ยังดีดตัวอีกถังละ 15 บาท มาอยู่ที่ 393 บาท/ถัง 15 กิโลกรัม และจะขยับขึ้นเป็น 408 บาท/ถัง 15 กิโลกรัมในเดือนกันยายน

น่าตกใจที่ค่าครองชีพคนไทยพุ่งสูงสวนทางกับรายได้ที่คงเดิม ซ้ำร้ายบางรายลดลง และถึงแม้อัตราเงินเฟ้อประเทศไทยในเดือนมิถุนายนจะขยับมาอยู่ที่ 7.6% แต่กูรูหลายสำนักก็ได้คาดการณ์ว่าอัตราเงินเฟ้อยังมีแนวโน้มพุ่งทะยานต่อไป ซึ่งเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2565 ดร.อมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสำนักวิจัย และที่ปรึกษาการลงทุน ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย ได้คาดการณ์เอาไว้ว่าในไตรมาส 3 อาจเห็นอัตราเงินเฟ้อของไทยขยับมาแตะที่ระดับ 10% และอัตราการว่างงานก็ส่อแววจะขยับเพิ่มขึ้น

ล่าสุด แม้แต่ไข่ไก่ วัตถุดิบเพื่อนยากที่ทุกครัวเรือนต้องมีติดไว้ ก็ยังขยับขึ้นราคาอีกแผงละ 3 บาท เป็นการปรับขึ้นราคาครั้งที่ 3 ส่งผลให้ราคาไข่ไก่เพิ่มสูงขึ้นถึง 25% ในรอบ 1 เดือน โดยไข่ไก่ได้มีการปรับขึ้นราคาครั้งแรกในวันที่ 6 กรกฎาคม 2565 อยู่ที่ฟองละ 3.20 บาท แล้วปรับขึ้นอีกเป็นครั้งที่ 2 ในวันที่ 20 กรกฎาคม 2565 อยู่ที่ฟองละ 3.40 บาท และปรับขึ้นเป็นครั้งที่ 3 อยู่ที่ฟองละ 3.50 บาทในวันที่ 3 สิงหาคม 2565

ยิ่งย้อนกลับไปดูสถิติค่าแรงขั้นต่ำในประเทศไทยก็ยิ่งน่าเศร้าใจ เพราะถึงจะผ่านมาแล้ว 10 ปี แต่ค่าแรงขั้นต่ำทั่วไปยังอยู่ในเกณฑ์เฉลี่ยเพียง 300 กว่าบาทเท่านั้น… อ้างอิงข้อมูลจากกระทรวงแรงงาน พบว่าในปี พ.ศ.2555 อัตราค่าแรงขั้นต่ำทั้งประเทศอยู่ที่ 222-300 บาท และในปี พ.ศ.2565 อัตราค่าแรงขั้นต่ำขยับเพิ่มมาอยู่ที่ 313-336 บาท ขณะที่ค่าครองชีพก็พุ่งเอาๆ ชนิดที่ทิ้งห่างค่าแรงแบบมองไม่เห็นฝุ่น และถึงแม้ประชาชนจะเรียกร้องขอขึ้นค่าแรงเท่าไร ก็ดูจะไม่เป็นผล เนื่องจากเศรษฐกิจไทยก็อยู่ในสถานการณ์ที่ไม่สู้ดีนัก แม้จะเปิดประเทศ ผ่อนคลายมาตรการควบคุมการระบาดและมาตรการจำกัดการเดินทาง ทำให้เศรษฐกิจมีแววดีขึ้นจากเดือนก่อน แต่ภาคธุรกิจหรือภาคประชาชนก็ยังคงเผชิญกับสภาวะต้นทุนที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งถ้ามองตามความเป็นจริงกำลังการซื้อของผู้บริโภคก็กระเตื้องขึ้นมาไม่มาก แม้รัฐบาลจะมีมาตรการต่างๆ ออกมาเพื่อหวังเยียวยาประชาชน ก็เป็นเพียงการช่วยเหลือในระยะสั้นที่ไม่เกิดความยั่งยืน ยิ่งถ้ามองลึกลงไปในระดับรากหญ้า ที่เป็นผู้เดือดร้อนอย่างแท้จริง ก็ไม่ได้เข้าถึงเทคโนโลยีได้มากขนาดนั้น ทำให้การลงทะเบียนเพื่อขอรับความช่วยเหลือเป็นไปได้อย่างลำบาก

นับเป็นชะตากรรมที่น่าเศร้าใจที่คนไทยยังต้องเผชิญ แต่ก็จะเข้าใจได้ว่า ณ ขณะนี้ทุกภาคส่วนก็พยายามอย่างเต็มกำลังในการแก้ไขปัญหา เพื่อหวังนำพาประชาชนและประเทศชาติก้าวผ่านวิกฤตเศรษฐกิจโรคระบาดที่เกิดขึ้น แต่พอจะมีทางออกไหนที่จะทำให้ปัญหาคลี่คลายอย่างยั่งยืน ก่อนที่จะประชาชนจะหมดกำลังใจในการดิ้นรนใช้ชีวิตต่อไปบนโลกใบนี้

ท้ายนี้ ทีมงาน BTimes ก็ขอเป็นกำลังใจให้ลูกเพจทุกท่าน ก้าวผ่านอุปสรรคทั้งหลายไปได้อย่างปลอดภัย เพื่อรอวันที่เราจะได้กลับมาใช้ชีวิตอย่างปกติและมีความสุขอีกครั้ง สู้ๆ นะคะ เราจะผ่านวิกฤตไปด้วยกันค่ะ

BTimes