สะท้อนบทบาทคุณภาพชีวิตครูไทยย่ำแย่ ผ่านแฮชแท็ก #ทำไมครูไทยอยากลาออก ติดเทรนด์ทวิตเตอร์

896
0
Share:

สะท้อนบทบาทคุณภาพชีวิต ครูไทย ย่ำแย่ ผ่านแฮชแท็ก #ทำไมครูไทยอยากลาออก ติดเทรนด์ทวิตเตอร์

ในสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาเรียกได้ว่ากระแสครูไทยร้อนแรงจนไฟลุกโลกออนไลน์ เมื่อมีครูสาวท่านหนึ่งโพสต์ถึงเหตุผลการลาออกจากอาชีพครู โดยสรุปว่าไม่เห็นด้วยกับการที่ให้ครู ‘ทำเอกสารประเมิน ประกัน ประกวด สำรวจข้อมูลที่มากเกินความจำเป็น และไม่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาการเรียนการสอน’ ซึ่งการกระทำดังกล่าวเป็นการสิ้นเปลืองแรงกาย แรงใจ ทรัพยากร เปลืองเวลา และงบประมาณ โดยไม่มีเหตุจำเป็น รวมถึงอีกหนึ่งเหตุผลที่ระบุถึงสถานการณ์โควิด-19 ที่ผ่านมาว่า ‘การสอนออนไลน์’ ต้องอาศัยทั้งความพร้อม ความร่วมมือจากเด็กและผู้ปกครอง ซึ่งเป็นเรื่องยากข้าพเจ้าไม่สามารถปฏิบัติการสอนให้ได้ผลสำเร็จ คุ้มค่ากับเงินภาษีที่จ่ายเป็นเงินเดือนได้ ทั้งไม่มีความหวังที่แน่นอนว่าจะสามารถเปิดเรียนได้ตามปกติได้อย่างต่อเนื่องแท้จริงเมื่อใด จึงขอลาออก

จากประเด็นดังกล่าวทำให้ชาวเน็ตออกมาช่วยถกถามถึงปัญหาเหล่านี้ว่าแท้จริงแล้วบทบาทของครูไทยคืออะไร ควรให้ความสำคัญกับการเรียนการสอน มากกว่าภาระงานนอกของโรงเรียนและงานเอกสารใช่หรือไม่ ยิ่งเมื่อมองลึกไปถึงสวัสดิการ หรือเงินเดือนที่ควรได้รับ ยิ่งดูสวนทางกันอย่างสิ้นเชิง ซึ่งจากประเด็นที่ถูกเปิดในครั้งนี้ส่งผลให้ครูไทยหลายคนกล้าที่จะออกมาวิพากษ์วิจารณ์ ระบาย หรือแม้แต่แชร์เรื่องราวกันอย่างหนัก ส่งให้แฮชแท็ก #ทำไมครูไทยอยากลาออก พุ่งทะยานขึ้นอันดับหนึ่งของเทรนด์ทวิตเตอร์ประเทศไทยไปนานหลายวัน

‘งานนอกเหล่านี้แหละที่เข้ามาเบียดเบียนงานสอนของครู’

หลังจากเกิดประเด็นนี้ขึ้นทางทีมงาน BTimes ก็ได้ติดต่อสัมภาษณ์คุณครู 2 ท่านผ่านทางโทรศัพท์ พร้อมถามถึงปัญหาว่าทำไมครูไทยหลายคนถึงอยากลาออก โดยคุณครูได้ให้ข้อมูลกับทีมงานด้วยเหตุผลที่คล้ายคลึงกันกับประเด็นที่เกิดขึ้นคือ

1. ครูเป็นแทบทุกอย่าง

ด้วยภาระงานที่ไม่เกี่ยวข้องกับการสอนอันหนักอึ้ง ส่งผลให้เบียดเวลาในการจัดสรรการเรียนการสอน หากถามว่าหน้าที่ครูในหนึ่งวันทำอะไรบ้าง นอกจากการสอนเด็กนักเรียนที่เป็นหน้าที่หลัก บางโรงเรียนก็มักจะมอบหมายให้ครูแต่ละคนมีหน้าที่ประจำในแต่ละฝ่าย เช่น งานธุรการ งานพัสดุ งานวัดผล วิชาการ งานบุคคล งานงบประมาณ การจัดซื้อจัดจ้าง งานสารบรรณโรงเรียน รวมถึงงานอื่นๆ ที่ครูต้องเข้ามารับผิดชอบ โดยหน้าที่กล่าวไปล้วนแต่ไม่มีความเกี่ยวข้องกับการสอนที่พัฒนาความสามารถของเด็ก แต่เป็นภาระงานเสริมที่ขึ้นมาแทนการจ้างงานที่เพิ่มขึ้นของโรงเรียน ซึ่งบางงานอาจเป็นโครงการด่วนที่เพิ่มขึ้นมากระทันหัน โดยทางคุณครูที่ให้สัมภาษณ์กับทีมงานยังกล่าวว่า ถ้าเกิดวันนั้นมีงานนอกที่ต้องประชุมเร่งด่วน แล้วดันชนกับคาบเรียนที่ต้องสอน คุณครูก็ต้องเลือกประชุม แล้วปล่อยคาบนั้นเป็นคาบว่างแทน ซึ่งผลเสียก็จะตกอยู่ที่นักเรียนในทันที

2. ค่าแรงไม่คุ้ม ถ้าอยากเพิ่มเงินเดือน ต้องมีผลงานประเมินเข้าตาผู้บริหาร

อีกหนึ่งสิ่งที่ทำให้ครูไทยท้อใจคือเรื่องของเงินเดือน จากกรณีที่โรงเรียนแห่งหนึ่งในจังหวัดลำพูนได้ประกาศรับสมัครครูอัตราจ้าง เงินเดือน 6,500 บาท ที่มองอย่างไรก็ดูจะย้อนแย้งกับค่าครองชีพในยุคนี้ หรือไม่คุ้มกับภาระงานในระบบข้าราชการครู เพราะการที่จะครูจะได้เงินเดือนเพิ่มนั้นก็ต้องทำการประเมิน ซึ่งจะเกิดขึ้นในทุก 6 เดือน โดยทุกปีจะมีการประเมิน 2 ครั้ง และในการประเมินแต่ละครั้ง คุณครูจะต้องทำเอกสารเป็นจำนวนมาก น่าเศร้าที่สุดท้ายในทุกโรงเรียนก็ไม่ได้ประเมินคุณครูจริงๆ จากการสอน แต่ประเมินครูด้วยงานนอก โดยคุณครูแต่ละคนต้องมีงานนอก เพื่อที่จะให้ผู้บริหารจะเห็นว่าคุณทำงาน ยิ่งถ้าเป็นโรงเรียนขนาดเล็ก การเพิ่มเงินเดือนก็ดูจะเป็นเรื่องที่ยากมากขึ้นไปอีก

ส่วนขั้นเงินเดือนข้าราชการครูตาม พ.ร.บ. เงินเดือนข้าราชการครู ได้ระบุว่า

– ระดับครูผู้ช่วย จะมีฐานเงินเดือนอยู่ที่ 15,040 – 24,750 บาท
– ครูระดับ คศ. 1 หรือตำแหน่งที่ผ่านครูผู้ช่วยมาแล้ว 2 ปี เงินเดือนจะอยู่ที่ 15,440-34,310 บาท
– ครูระดับ คศ.2 (วิทยฐานะ ครูชำนาญการ) เงินเดือนอยู่ที่ 16,190- 41,620 บาท
– ครูระดับ คศ.3 (วิทยฐานะ ครูชำนาญการพิเศษ) เงินเดือนอยู่ที่ 19,860 – 58,390 บาท
– ครูระดับ คศ.4 (วิทยฐานะ ครูเชี่ยวชาญ) เงินเดือนอยู่ที่ 24,400 -69,040 บาท
– ครูระดับ คศ.5 (วิทยฐานะ ครูเชี่ยวชาญพิเศษ) เงินเดือนอยู่ที่ 29,980 -76,800 บาท

ทั้งนี้ ถ้าคุณครูอยากได้เงินเดือนเพิ่มขึ้นจะต้องทำวิทยฐานะเพื่อให้เลื่อนขั้น ซึ่งถือเป็นการจูงใจให้ครูพัฒนาตัวเอง โดยการทำวิทยฐานะมีหลายระดับ การได้รับเงินพิเศษเพิ่มจากเงินเดือนจะเริ่มต้นที่ 3,500 บาท สูงสุดอยู่ที่ 15,600 บาท

จากปัญหาที่กล่าวมาข้างต้น ทำให้เห็นว่ากฎข้อบังคับต่างๆ กดให้ครูไทยซึ่งอยู่ท้ายสุดของระบบการศึกษา ต้องทำตามคำสั่งอย่างเคร่งครัดอย่างที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ แม้แต่รายได้ก็ยังขึ้นอยู่ที่ปลายปากกาของผู้บริหาร

เมื่อมองย้อนกลับไปยังประเทศอื่น กลับพบว่าเงินเดือนครูนั้นสูงเป็นอันดับต้นๆ ของประเทศ อย่างไรแล้ว เราก็ได้แต่หวังว่าจะได้เห็นการจัดการศึกษาที่ดีมีคุณภาพ เด็กได้ประโยชน์ และคุณครูไม่โดนเบียดเบียนเวลาการสอนโดยใช่เหตุ โปรดอย่าทำให้ปัญหาการศึกษาจากระบบของคนรุ่นเก่าลามไปครอบความคิดและส่งต่อไปยังครูรุ่นใหม่ที่อยากพัฒนาการศึกษา

BTimes