ช่างน่าสงสารเหลือเกิน… เมื่อช้างไทยต้องตกงานรับยุคโควิด-19 แต่กลับไร้การเยียวยา

813
0
Share:

ช่างน่าสงสารเหลือเกิน... เมื่อ ช้าง ไทยต้องตกงานรับยุคโควิด-19 แต่กลับไร้การเยียวยา

เกือบ 2 ปีที่วิกฤตโรคโควิด-19 เข้ามาแพร่เชื้อรุนแรงสะเทือนแทบทุกหย่อมหญ้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว และไม่เพียงแค่คนที่ได้รับผลกระทบ แต่ช้างอีกกว่า 3 พันเชือกทั่วประเทศไทยต่างทุกข์ระทมจากการตกงาน ขาดรายได้ สวนทางกับรายจ่ายที่ยังเท่าเดิม จนควาญช้างต้องปรับตัวหันมาเปิดไลฟ์ขายอาหารช้างผ่านโลกออนไลน์ ในขณะที่รัฐกลับปล่อยผ่าน ไร้ซึ่งการเยียวยาทั้งช้าง ควาญช้าง และปางช้าง

วิกฤตช้างตกงาน แต่กลับไม่มีมาตรการเยียวยาจากภาครัฐ

ข้อมูลจาก Thai Elephant Alliance สมาคมสหพันธ์ช้างไทย ระบุว่าปัจจุบันช้างไทยมีจำนวนรวม 3,900 เชือก แบ่งเป็นช้างที่ดูแลโดยเอกชน จำนวน 3,700 เชือก ส่วนอีก 200 เชือก เป็นส่วนที่ดูแลโดยรัฐบาล แต่เมื่อการท่องเที่ยวไปต่อไม่ได้ ไม่มีใครเดินทางเข้ามาในช่วงเกือบ 2 ปี ส่งผลให้ปางช้างประสบปัญหาขาดสภาพคล่อง จนต้องรัดเข็มขัดค่าใช้จ่าย ซึ่งผลกระทบที่ตามมาก็ตกไปอยู่ที่ช้างแบบเต็มๆ เพราะพวกเขายังต้องกินอาหาร แต่เมื่อขาดรายได้ ค่าอาหารเหล่านี้ก็ต้องลดลง แถมยังมีควาญช้างอีกจำนวนไม่น้อยไม่สามารถให้ช้างอาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ และพัทยาได้อีกต่อไป จึงตัดสินใจพาช้างเดินทางกลับจังหวัดสุรินทร์ หรือถิ่นฐานที่เคยอยู่ แต่ก็มีควาญช้างอีกจำนวนหนึ่งยังคงใช้พื้นที่ของปางเพื่อเลี้ยงช้างเช่นเดิม แถมบางส่วนยังต้องจ่ายค่าเช่าพื้นที่ให้กับปางร่วมด้วย จึงทำให้ควาญช้างต้องหันหน้าพึ่งพาช่องทางออนไลน์ด้วยการไลฟ์ขายอาหารช้างตามแพลตฟอร์มที่ตนเองถนัด เช่น Tiktok, Youtube, Facebook และ Twitter เป็นต้น

นอกจากนี้ยังมีกลุ่มที่เปรียบเสมือนตัวกลางในการกระจายความช่วยเหลือให้กับช้างและควาญช้างผ่านเฟซบุ๊ก ภายใต้ชื่อ ‘คนรักช้างและวิถีชีวิตช้างไทย’ ปัจจุบันกลุ่มนี้มีสมาชิกกว่า 7.1 หมื่นคน และผ่านทวิตเตอร์ ภายใต้ชื่อ ‘รวมช้างตกงาน’ หรือแอคเคาท์ @jobless_ChangTH ซึ่งปัจจุบันมีผู้ติดตามแล้วกว่า 2.1 พันคน

หากถามว่าการไลฟ์ของควาญช้างได้กำไรหรือพอใช้บ้างหรือไม่ ควาญช้างต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า จริงๆ ก็ไม่พอ เพราะรายจ่ายมีทุกวัน ทั้งในการไลฟ์หนึ่งครั้งก็ไม่ได้การันตีว่าจะขายได้ทุกครั้ง เมื่อรายรับไม่แน่นอน แต่ช้างก็ต้องกินทุกวัน ทำให้พวกเขาไม่สามารถทิ้งช้างไปได้เลย จนต้องยอมกู้หนี้ยืมสินเพื่อมาดูแลช้าง โดยค่าใช้จ่ายของช้างในแต่ละเดือนจะตกอยู่ที่ประมาณ 10,000-15,000 บาท ซึ่งหลังจากที่รัฐบาลจำกัดการเดินทาง ปิดการท่องเที่ยว เพื่อควบคุมการระบาดของเชื้อโควิด-19 ส่งผลให้ขณะนี้ปางช้างทั้งหมดเข้าสู่สภาวะวิกฤต เพราะไม่สามารถแบกรับค่าใช้จ่ายที่มีได้อีกต่อไปแล้ว อีกทั้งประชาชนเองก็รายได้น้อยลง ทำให้ไม่สามารถแบ่งปันเงินมาช่วยเหลือได้ประจำทุกวันเช่นกัน

ล่าสุดเมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2564 นายชนินทร์ รุ่งธนเกียรติ รองโฆษกพรรคเพื่อไทย และนายคุณากร ปรีชาชนะชัย ส.ส.สุรินทร์ พรรคเพื่อไทย ได้เข้าร่วมรับฟังปัญหาช้างตกงานจากควาญช้างทั่วประเทศ ผ่านสเปซในทวิตเตอร์ ซึ่งจัดโดยแอคเคาท์ทวิตเตอร์ ‘รวมช้างตกงาน’ พบว่าจากสถานการณ์ตอนนี้ ส่งผลให้ช้างจำนวนไม่น้อยกำลังถูกขับออกจากปางช้างที่เคยให้การช่วยเหลือ หากเดินกลับบ้านเกิดก็กลัวโดนเอาผิดตามกฎหมายห้ามเร่ช้างบนทางสาธารณะ อาจเกิดอันตรายต่อช้างควาญและส่วนรวม แต่หากต้องขนช้างกลับก็มีค่าใช้จ่ายในการขนย้าย 15,000 บาทต่อเชือก มากไปกว่านั้นในพื้นที่จังหวัดสุรินทร์และจังหวัดบุรีรัมยมีช้างกลับภูมิลำเนาจากผลกระทบโควิด-19 มาอยู่รวมกันแล้วราว 1,000 เชือก จนในพื้นที่เองก็ขาดแคลนทรัพยากรที่จะใช้เป็นอาหารช้างเช่นเดียวกัน จึงอยากให้รัฐออกมาตรการช่วยระงับการเคลื่อนย้ายช้างที่เป็นแรงงานด้านการท่องเที่ยว โดยพิจารณาจ่ายเงินชดเชยให้กับปางช้างในจังหวัดท่องเที่ยวเพื่อพยุงธุรกิจ แลกกับการให้ที่พักพิงแก่ช้างในปางจนกว่าจะสามารถเปิดการท่องเที่ยวได้ รวมทั้งพิจารณาจ่ายเงินเยียวยาให้กับกลุ่มคนเลี้ยงช้างทันที เพื่อช่วยแบ่งเบาค่าอาหาร อย่าปล่อยให้สมบัติของชาติต้องล้มตายจากการบริหารที่ผิดพลาด จนต้องปิดประเทศ ปิดการท่องเที่ยวเป็นเวลานานอีกเลย

ในขณะนี้ควาญช้างเองก็ได้เรียกร้องขอให้รัฐบาลเข้าช่วยเหลือมาแล้วกว่า 2 ปี แต่ก็ยังไร้วี่แวว ซึ่งทุกคนก็ได้แต่หวังว่าภาครัฐบาลจะเห็นถึงความทุกข์ใจนี้ของประชาชน และเข้ามาช่วยเหลือเยียวยาอย่างรวดเร็ว เพราะช้างเป็นสัตว์ประจำบ้านเมือง และอย่าลืมว่าก่อนเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 การท่องเที่ยวคือหัวใจสำคัญ โดยส่วนหนึ่งที่เป็นพลังในการช่วยขับเคลื่อนก็คือ ‘ช้างไทย’ เพราะรายได้ส่วนใหญ่มาจากการที่นักท่องเที่ยวต้องการมาสัมผัสกับช้างไทยแบบตัวเป็นๆ ดังนั้นได้โปรดเข้าช่วยเหลือพวกเขาอย่างรวดเร็วที่สุดด้วยเถิด

ทีมงาน BTimes ขอเป็นกำลังใจให้ควาญช้างและช้างทุกเชือกผ่านพ้นวิกฤตนี้ไปได้ เพราะเรายังคงต้องต่อสู้กับโรคนี้ไปอีกสักพักอย่างไม่รู้ว่าจะจบลงเมื่อไร แต่เราจะสู้ไปด้วยกัน และขอเป็นกำลังใจให้กำลังทุกคนนะคะ

BTimes