ช็อคทั่วโลก เมื่อโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ ‘โอไมครอน’ แพร่ระบาดข้ามทวีป จนไทยหวั่น กลัวว่าเชื้อกลายพันธุ์นี้จะทุบประตูบุกเข้าประเทศ

855
0
Share:

ช็อคทั่วโลก เมื่อโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ ‘โอไมครอน’ แพร่ระบาดข้ามทวีป จนไทยหวั่น กลัวว่าเชื้อกลายพันธุ์นี้จะทุบประตูบุกเข้าประเทศ

โควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ที่ถูกค้นพบ สร้างความฮือฮา จนกลายเป็นข่าวใหญ่โต ผู้นำและประชาชนทั่วโลกกลับเข้าสู่สภาวะเฝ้าระวังอีกครั้ง ไม่เว้นแม้แต่คนไทยที่เกิดความกังวลใจต่อการแพร่ระบาดของเชื้อสายพันธุ์นี้ เพราะไทยเพิ่งทำการเปิดประเทศไปเมื่อต้นเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา อีกทั้งในหลายประเทศที่ทำการปูพรมตรวจหาเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์นี้ ต่างก็ออกมายืนยันว่าพบผู้ติดเชื้อแล้ว

โอไมครอน วายร้ายกลายพันธุ์สายพันธุ์ใหม่คืออะไร มีความรุนแรงแค่ไหน

เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2564 ทั่วโลกพบเชื้อโควิดกลายพันธุ์ชนิดใหม่ที่องค์การอนามัยโลก (WHO) ประกาศให้เป็นสายพันธุ์ระดับที่น่ากังวล (Variants of Concern: VOC) เนื่องจากมีแนวโน้มแพร่กระจายได้เร็วกว่าสายพันธุ์ก่อนหน้า และถูกรายงานว่าพบครั้งแรกในแอฟริกาใต้ โดยองค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ตั้งชื่อให้โควิด-19 กลายพันธุ์ B.1.1.529 พบในภูมิภาคแอฟริกาตอนใต้ว่า ‘โอไมครอน’ (Omicron) โดยเป็นการเรียกชื่อตามลำดับอักษรกรีก

ปัจจุบันพบว่ามีการระบาดแล้วใน 32 ประเทศ 5 ทวีป ได้แก่ ทวีปแอฟริกา พบในแอฟริกาใต้ บอตสวานา กานา และไนจีเรีย, ทวีปยุโรป พบในเนเธอร์แลนด์ เบลเยียม สหราชอาณาจักร เยอรมนี อิตาลี สาธารณรัฐเช็ก เดนมาร์ก ออสเตรีย สวีเดน สวิตเซอร์แลนด์ สเปน นอร์เวย์ ไอร์แลนด์ โปรตุเกส เกาะรียูเนียนของฝรั่งเศส และฟินแลนด์, ทวีปอเมริกา พบในแคนาดา สหรัฐฯ และบราซิล, ทวีปเอเชีย พบในฮ่องกง ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินเดีย และสิงคโปร์, ประเทศในตะวันออกกลาง พบในอิสราเอล ซาอุดิอาระเบีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ หรือ UAE, ทวีปออสเตรเลีย พบในออสเตรเลีย (ข้อมูลอัปเดต ณ วันที่ 3 ธันวาคม 2564)

โอไมครอนถือเป็นเชื้อไวรัสโควิด-19 กลายพันธุ์ชนิดที่ 5 ที่องค์การอนามัยโลกจัดให้อยู่ในกลุ่มสายพันธุ์ที่น่ากังวล (Variants of Concern: VOC) ต่อจากสายพันธุ์อัลฟา เบตา แกมมา และเดลตา โดยศาสตราจารย์ทูลิโอ เด โอลิเวรา ผู้อำนวยการศูนย์นวัตกรรมและการรับมือโรคระบาดของแอฟริกาใต้ กล่าวว่าสายพันธุ์ชนิดใหม่นี้มีการกลายพันธุ์ของยีนรวมทั้งสิ้นถึง 50 ตำแหน่ง ซึ่งถือว่าผิดปกติอย่างยิ่ง ทำให้เชื้อสายพันธุ์นี้มีความแตกต่างจากเชื้อโควิดกลายพันธุ์สายพันธุ์อื่นๆ ที่เคยพบมา นอกจากนี้ยังพบการกลายพันธุ์ที่ส่วนตัวรับ (receptor binding domain) ซึ่งไวรัสใช้จับยึดกับเซลล์ของคนมากกว่า 10 ตำแหน่ง ในขณะที่เชื้อโควิดกลายพันธุ์อย่างสายพันธุ์เดลตา (Delta) มีการกลายพันธุ์ในส่วนนี้เพียง 2 ตำแหน่งเท่านั้น ส่งผลให้เชื้อกลายพันธุ์โอไมครอนนี้อาจหลบเลี่ยงภูมิคุ้มกันของมนุษย์ได้ดียิ่งขึ้น แม้ว่าจะเป็นภูมิที่เกิดจากการฉีดวัคซีนป้องกันแล้วก็ตาม

ทั่วโลกเตรียมรับมือสายพันธุ์โอไมครอน ไม่เว้นแม้แต่คนไทย แต่ไทยแลนด์นั้นจะป้องกันช้ากว่าทั่วโลกอีกหรือไม่ ?

ตอนนี้ในหลายประเทศต่างก็ตั้งรับกับโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่กันอย่างเข้มงวดอีกครั้ง เพราะส่วนหนึ่งยังไม่มั่นใจกับข้อมูลของเจ้าโอไมครอนที่ออกมาเท่าไรนัก หลายประเทศเริ่มสั่งห้ามผู้ที่เดินทางมาจากแอฟริกา รวมทั้งประเทศเพื่อนบ้านเข้ามาในประเทศของตนแล้ว รวมถึงประเทศไทยเองก็มีมาตรการป้องกันเช่นกัน คือห้ามนักเดินทางจาก 8 ประเทศเข้าไทย ประกอบไปด้วย บอตสวานา เอสวาตินี เลโซโท มาลาวี โมซัมบิก นามีเบีย แอฟริกาใต้ และซิมบับเว ส่วนผู้โดยสารที่เดินทางมาถึงไทยในระหว่างวันที่ 28-30 พฤศจิกายน 2564 จะต้องเข้าสู่กระบวนการกักตัวเป็นเวลา 14 วันทันที สำหรับคนที่อยู่ในแซนด์บ็อกซ์ครบเวลา 7 วันก่อนจะไปพื้นที่อื่นก็จะต้องทำการตรวจหาเชื้อแบบ ATK อย่างน้อย 3 ครั้ง ทั้งก่อนมาและตอนมาถึงประเทศไทย

ทั้งนี้สำหรับผู้ที่มาจาก 8 ประเทศ นับตั้งแต่วันที่เดินทางเข้าประเทศจนถึง 14 วัน ทางการจะทำการขอตรวจ RT-PCR ก่อนอีกครั้งของการเข้าประเทศ

ถัดไปคือประเทศอื่นๆ ในทวีปแอฟริกา นอกเหนือจาก 8 ประเทศที่กล่าวไป มีมาตรการดังนี้

1. ไม่อนุญาตให้เข้าในระบบ Test & Go (ขณะนี้ไทยประกาศไว้ 63 ประเทศ/พื้นที่ที่มีความเสี่ยงน้อย)
2. ไม่อนุญาตให้เข้ามาในระบบแซนด์บ็อกซ์
3. ในกรณีที่สามารถเข้าไทยได้ ต้องกักตัวในสถานที่กักกันที่ราชการกำหนด และไม่อนุญาตให้ทำกิจกรรมนอกห้องพักเป็นเวลา 14 วัน และต้องตรวจหาเชื้อโควิด 3 ครั้ง

ตอนนี้องค์การอนามัยโลกยังเตือนต่อว่า ต้องใช้เวลาอีกหลายสัปดาห์กว่าจะทราบได้ว่าเชื้อไวรัสกลายพันธุ์ล่าสุดนี้สามารถติดต่อกันได้อย่างไร และมีความสามารถในการแพร่กระจายของไวรัสสายพันธุ์โอไมครอนแค่ไหน รวมทั้งอาการรุนแรงของโรคที่อาจเกิดขึ้นวัคซีนที่มีอยู่จะให้ผลอย่างไรในการป้องกัน ส่งผลให้บริษัทผู้ผลิตวัคซีน เริ่มเข้าสู่กระบวนการพัฒนาวัคซีนและยาที่จะรับมือไวรัสดังกล่าวต่อไป

สุดท้าย คนไทยก็ได้ฝากความหวังไว้กับรัฐบาลในเรื่องการรับมือป้องกันเชื้อกลายพันธุ์นี้ โดยหวังว่าประเทศไทยจะไม่ต้องเผชิญกับการระบาดของเชื้อโควิด-19 เป็นระลอกที่ 5 รวมถึงคาดหวังว่าไทยจะไม่เจอเหตุการณ์ล็อคดาวน์กันอีกครั้ง เพราะไม่เช่นนั้นบุคลากรทางการแพทย์ ผู้ประกอบการภาคธุรกิจต่างๆ และภาคประชาชนอาจจะไปต่อไม่ไหวแล้ว…

BTimes