ลูกหนี้นอนก่ายหน้าผาก แบงก์จ่อขึ้นดอกเบี้ย รับ กนง. ปรับขึ้นอีก 0.25% กูรูคาดยังไม่จบขาขึ้น ศึกหนักภาคอสังหาฯ รับมือยอดขายทรุด ฉุดกำลังซื้อผู้บริโภค

541
0
Share:

ลูกหนี้นอนก่ายหน้าผาก แบงก์จ่อขึ้น ดอกเบี้ย รับ กนง. ปรับขึ้นอีก 0.25% กูรูคาดยังไม่จบขาขึ้น ศึกหนักภาคอสังหาฯ รับมือยอดขายทรุด ฉุดกำลังซื้อผู้บริโภค

หมดเวลาลุ้นกันแล้วว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะกำหนดทิศทางดอกเบี้ยไปทางไหน เพราะในการประชุมนัดล่าสุด เมื่อวันที่ 29 มีนาคมที่ผ่านมา ได้มีมติเอกฉันท์ขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% จาก 1.50% เป็น 1.75% ซึ่งก็เป็นไปตามที่บรรดานักวิเคราะห์ กูรู นักลงทุนต่างๆ คาดเดาไว้ และคงจะจบช่วงขาขึ้นของดอกเบี้ยสักที

แต่ก็ยังมีบรรดากูรูบางรายที่มองว่าเดี๋ยวยังไง กนง. ก็ต้องขึ้นดอกเบี้ยอีกรอบอย่าง บลจ.ยูโอบี (ประเทศไทย) คาดการณ์ว่า กนง. จะขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% อีกครั้งในเดือนพฤษภาคม และคงระดับ 2.00% ไปถึงสิ้นปี ท่ามกลางเศรษฐกิจไทยยังมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง ในขณะที่เงินเฟ้อปรับเข้าสู่กรอบเป้าหมายที่ระดับ 1%–3%

ด้าน Krungthai COMPASS ธนาคารกรุงไทย ประเมินว่า กนง. จะยังไม่จบขาขึ้น มีแนวโน้มปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 1 ครั้งในการประชุมครั้งถัดไป ซึ่งก็จะส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยขาขึ้นรอบนี้แตะระดับ 2.0% โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการที่ กนง. ประเมินว่าเศรษฐกิจมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง และอัตราเงินเฟ้อมีความเสี่ยงที่อาจสูงนานกว่าคาด ด้วยการส่งผ่านต้นทุนที่อาจเพิ่มขึ้นท่ามกลางอุปสงค์ที่ฟื้นตัว อีกทั้งเสถียรภาพของสถาบันการเงินไทยยังอยู่ในเกณฑ์ดี

ขณะที่กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา มองว่าท่าทีและสัญญาณในวันที่ 29 มีนาคมที่ผ่านมานั้น บ่งชี้ว่า กนง. เปิดโอกาสไว้สำหรับการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมครั้งหน้าได้เช่นกัน หากสถานการณ์ยังเอื้อให้ปรับนโยบายต่ออีกเล็กน้อย

คุณผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่าการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของ กนง. ครั้งนี้ แสดงถึงความต้องการส่งผ่านการขึ้นดอกเบี้ยไปสู่ระบบการเงิน เพื่อให้อัตราเงินเฟ้อกลับมาอยู่ในกรอบเป้าหมายในช่วงกลางปีนี้ตามแผน ซึ่งการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของภาคธนาคารต้องพิจารณาถึงกลไกตลาด ควบคู่กับการดูแลช่วยเหลือกลุ่มเปราะบาง โดยที่ธนาคารกรุงไทยจะต้องดูกลไกตลาดเป็นหลัก และปรับอัตราดอกเบี้ยต้องดูทั้งเงินฝากและเงินกู้ผสมผสานกัน ดังนั้นการปรับขึ้นดอกเบี้ยต้องดูโครงสร้างทางการเงินทั้งหมด

อย่างไรก็ตาม ในแง่ของผลกระทบในด้านกองทุนรวมตลาดเงินจะยังไม่มีผลกระทบมากนัก เพราะเป็นไปตามตลาดคาด ประกอบกับสภาพคล่องในตลาดเงินมีค่อนข้างสูง ทั้งจากปัจจัยภายในและเงินเก็งกำไรอัตราแลกเปลี่ยนของนักลงทุนต่างประเทศที่เข้ามาซื้อตราสารภาครัฐระยะสั้น ขณะที่ผลกระทบต่อกองทุนรวมตราสารหนี้ยังไม่มากนักเช่นกัน แต่ก็น่าจะผันผวนในกรอบเพราะดอกเบี้ยนโยบายใกล้จุดสูงสุดแล้ว

ส่วนตลาดที่คาดว่าจะกระทบมากกว่าเพื่อน คงจะหนีไม่พ้นอสังหาฯ เพราะดอกเบี้ยเงินกู้ขึ้น คนก็จะไม่กล้าซื้อบ้านด้วยดอกเบี้ยแสนแพง ภาระผ่อนจ่ายอาจจะเพิ่มขึ้นอีก

คุณวิชัย วิรัตกพันธ์ ผู้ตรวจการธนาคารอาคารสงเคราะห์ และรักษาการผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ บอกว่าภาคอสังหาฯ ได้รับผลกระทบตามการคาดการณ์ว่าดอกเบี้ยจะขึ้น ถือเป็นปัจจัยลบที่มีความชัดเจน เช่นเดียวกับการกลับมาของมาตรการแอลทีวี ทำให้ความสามารถในการกู้ของคนลดลง ความสามารถในการโอนน้อยลง เพราะส่วนใหญ่กว่า 90% เป็นเงินกู้ที่ซื้อบ้าน ถือเป็นข้อจำกัดที่เพิ่มขึ้นด้วย เช่น หากต้องการกู้เท่าเดิม กู้ 1 ล้านเขาต้องจ่ายค่างวดเพิ่มขึ้น แต่ถ้าต้องการจ่ายค่างวดเท่าเดิม จะได้วงเงินกู้น้อยลง ซึ่งอย่าลืมว่าปัญหาหนี้ครัวเรือนบ้านเรายังสูงกว่า 80% ความสามารถในการซื้อของคนยังฟื้นไม่เต็มที่ ดังนั้นการกู้จะยากขึ้น ต่อจากนี้ไปยอดปฏิเสธสินเชื่อเพิ่มขึ้น แน่นอนว่าตลาดอสังหาฯ ในปีนี้ไม่ได้สดใสอย่างที่หลายคนคิด

ในด้านของผู้ประกอบการตลาดอื่นๆ ก็อาจจะได้รับผลกระทบเป็นห่วงโซ่ เพราะในเมื่อผู้บริโภคต้องมีภาระดอกเบี้ย งวดผ่อนชำระเพิ่ม ความสามารถในการจ่ายอื่นๆ ก็จะลดลง ยกตัวอย่างเช่น บางคนมีหนี้ผ่อนซื้อบ้าน ภาระผ่อนต่อเดือนเพิ่มขึ้น ทางเลือกที่จะช่วยเซฟค่าใช้จ่ายก็อาจจะเป็นลดการออกไปกินข้าวนอกบ้าน งดสังสรรค์ ลดออกเที่ยวต่างหวัดที่ไกลๆ ลดซื้อสินค้าฟุ่มเฟือยที่ปกติซื้อบ้าง เป็นน้อยลง ผลกระทบก็มาตกต่อถึงคนขาย ผู้ประกอบการที่รายได้ก็จะลดลง เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ณ ตอนนี้เรายังไม่เห็นขบวนพาเหรดของธนาคารที่พากันเรียงคิวขอขึ้นดอกเบี้ยตามๆ กันเหมือนอย่างรอบที่แล้วมา ล่าสุดมีเพียงธนาคาร ธ.ก.ส. เท่านั้นที่ประเดิมปรับขึ้นดอกเบี้ยก่อนใครเพื่อน โดยประกาศขึ้นทั้งเงินฝากและเงินกู้ทุกประเภท 0.25% ต่อปี มีผลตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. เป็นต้นไป เพื่อให้สอดคล้องกับดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)

แต่ว่าในสัปดาห์หน้าก็ยังจะมีลุ้นอยู่ว่า อาจจะมีธนาคารประกาศขึ้นดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นอีกหลายแห่งก็เป็นได้ แต่ที่แน่ๆ บรรดาคนมีหนี้คงต้องนอนก่ายหน้าผากกันละคราวนี้…

BTimes