เปิดประเทศอ้าแขนรับพี่จีน-นานาชาติ ฟื้นเศรษฐกิจไทย ดัน “ท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ” แม่เหล็กใหม่ดูดรายได้โตผงาดยันปี 73

410
0
Share:

เปิดประเทศอ้าแขนรับพี่จีน-นานาชาติ ฟื้นเศรษฐกิจไทย ดัน “ท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ” แม่เหล็กใหม่ดูดรายได้โตผงาดยันปี 73

ข่าวคราวการเปิดประเทศของจีน ต้องยอมรับว่าเป็นที่น่าตื่นเต้นสำหรับบ้านเรา ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ ธุรกิจท่องเที่ยว อสังหาฯ ที่เตรียมพร้อมผายมือต้อนรับบรรดานักท่องเที่ยวที่มาจากจีนเต็มที่ แม้ว่าสถานการณ์โควิด-19 บ้านเขาจะยังไม่สู้ดีนัก

แน่นอนว่าเป้าหมายสำคัญคือฟื้นฟูการท่องเที่ยวที่เป็นแม่เหล็กดูดรายได้จากนักเดินทางทั่วโลก โดยเฉพาะพี่จีนที่ชื่นชอบประเทศไทย และมองไทยเป็นหนึ่งในจุดหมายปลายทางของการพักผ่อนหย่อนใจที่พร้อมให้ละลายทรัพย์แล้ว หลังจากที่อุดอู้ ถูกล็อกดาวน์ปิดประตูเข้า-ออกประเทศ เพราะโควิด-19 มานาน

นอกจากนั้น ไทยยังเป็นหนึ่งในจุดหมายปลายทางของ “การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ” (Wellness Tourism) ที่นักท่องเที่ยวเลือกเดินทางมาสัมผัสกับบรรยากาศและฟื้นฟูสุขภาพไปพร้อมๆ กัน โดยสถาบันโกลบอลเวลเนส (GWI) ประเมินว่าการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพนั้นเติบโตเฉลี่ยปีละ 8.1% สูงกว่าค่าเฉลี่ย มูลค่าโดยรวมของสาขาธุรกิจเวลเนสทั้งหมดที่เติบโตปีละ 6.4% ถึงแม้ว่าในปี 2563 มูลค่าการตลาดการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพจะลดลงจากมาตรการควบคุมโรคโควิด-19 ทำให้มูลค่าตลาดลดลงเหลือเพียง 435,000 ล้านเหรียญสหรัฐ แต่จากการประเมินสะท้อนว่าธุรกิจนี้จะกลับมาเติบโตแบบก้าวกระโดด เฉลี่ยสูงถึงปีละ 20.9% และมูลค่าสาขานี้จะทะลุ 1 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ในปี พ.ศ. 2567

ผศ.นพ.พันธ์ศักดิ์ ศุกระฤกษ์ ศูนย์ส่งเสริมสุขภาพไวทัลไลฟ์ ฟื้นฟูความงามเวชศาสตร์ชะลอวัย โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ บอกว่าการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ เป็นสาขาที่คาดว่าจะเติบโตเป็น 2 เท่าในปี 2573 พุ่งเป็น 1.59 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ จากปี 2563

ซึ่งนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้ มักจะเป็นกลุ่มวัยเกษียณ จนถึงใกล้เกษียณแล้ว หรือบรรดาอากง อาม่า อายุช่วง 50 ปีขึ้นไปที่มีทั้งความพร้อมในด้านกำลังซื้อและเวลา ที่นอกจากต้องการการพักผ่อนกับบรรยากาศสวยงามในบ้านเราแล้ว ยังต้องการดูแลร่างกาย ตรวจสุขภาพและทำกิจกรรมต่างๆ อาทิ การออกกำลังกาย การทำสปา นวดไทย หรือรับประทานอาหารสุขภาพด้วย

เชื่อหรือไม่ว่าการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวเชิงสุขภาพเฉลี่ยต่อการท่องเที่ยวแต่ละครั้งสูงกว่านักท่องเที่ยวแบบปกติ ซึ่งจะมีค่าใช้จ่ายต่อหัวประมาณกว่า 50,000 บาทต่อการเที่ยวหนึ่งครั้ง สูงกว่านักท่องเที่ยวแบบปกติถึง 53% ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจที่หากสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย หลายๆ ประเทศจะหันมาผลักดันตลาดการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพกันมากขึ้น

“จุดแข็งของประเทศ คือ มีอัตราค่ารักษาพยาบาลถูกกว่าเมื่อเทียบกับคุณภาพ มีเอกลักษณ์เฉพาะในผลิตภัณฑ์การให้บริการ ภาครัฐเข้ามากำหนดนโยบาย เพื่อผลักดันและส่งเสริมให้ไทยเป็นศูนย์กลางด้านการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ แต่ในส่วนของจุดอ่อน เรายังขาดเข้าใจอย่างถูกต้องของหน่วยงาน ขาดการประสานขององค์กรภาครัฐและเอกชน ขาดบุคลากรทางการแพทย์ที่มีคุณภาพและขาดการบริหารงานอย่างเป็นระบบ” ผศ.นพ.พันธ์ศักดิ์ กล่าว

ข้อมูลจากศูนย์วิจัยกสิกรไทย ปี พ.ศ. 2560 พบว่าประเทศไทยเรามีนักท่องเที่ยวเชิงสุขภาพสูงถึง 12.5 ล้านคนต่อปี สร้างรายได้จากการท่องเที่ยวได้สูงถึง 409,000 ล้านบาท การจ้างงานสูงถึง 530,000 คน แถมยังติดอันดับ 4 ของเอเชียในด้านการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ รองจากจีน ญี่ปุ่น และอินเดีย เติบโตเป็นอันดับ 10 ของโลก และมีโอกาสไต่อันดับขึ้นมาได้อีก ถ้าวางแผนรองรับนักท่องเที่ยวเชิงสุขภาพจากทั่วโลกได้อย่างเหมาะสม

นอกจากนี้ ที่ผ่านมาสิ่งที่ช่วยการันตีประเทศไทย ยังมีการวิจัยจากมหาวิทยาลัย John Hopkins ให้ประเทศไทยอยู่อันดับที่ 6 ของโลก หรือที่ 1 ของเอเชีย จาก 195 ประเทศทั่วโลก ในเรื่องดัชนีความมั่นคงทางด้านสุขภาพ อีกทั้งประเทศไทยยังเป็น Medical Hub ในการให้บริการทางการแพทย์ระดับโลก และมีโรงพยาบาลที่ได้รับการรับรอง JCI สูงติดอันดับ 1 ใน 5 ของโลก ทำให้นักท่องเที่ยวเกิดความมั่นใจว่าถ้าเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝัน คุณภาพของการรักษาพยาบาลประเทศในประเทศไทยสามารถดูแลรักษาตัวเขาหรือครอบครัวของเขาได้ หรือแม้แต่ติดอันดับที่ 2 ของโลก จากการโหวตให้เป็นประเทศเป้าหมายที่อยากคนอยากมาท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ รองจากออสเตรเลีย จากการจัดอันดับของ Wellness Tourism Initiative 2020 เป็นต้น

และยังมีจุดแข็งในเรื่องของเอกลักษณ์วัฒนธรรม ประเพณี ยิ่งช่วงหลังๆ ที่เป็นวลีฮิตก็คือ ‘มีซอฟท์พาวเวอร์’ โดยเฉพาะเรื่องอาหารไทยที่เป็นเอกลักษณ์เป็นที่รู้จักหลายเมนู ไม่ว่าจะเป็นข้าวเหนียวมะม่วง ข้าวผัดอเมริกัน ที่อเมริกาไม่มีให้กิน ผัดไทย ต้มยำกุ้ง หรือแม้แต่สตรีทฟู้ดอย่างเล้งแซ่บ ก็กลายเป็นเมนูฮิตเป็นที่รู้จักของต่างชาติให้อยากมาลองชิมต้นตำหรับที่ประเทศไทย

ดังนั้นจึงเป็นโอกาสของประเทศไทยที่จะเอาดีด้าน “การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ” ที่จะเป็นอาวุธใหม่ของการท่องเที่ยว แม้สถานการณ์โควิดเองจะยังน่าเป็นห่วง ยิ่งรีบเปิดประเทศยิ่งเสี่ยงกลับมาระบาด แต่เชื่อว่าหลายคนคงจะยอมแลกให้ได้ทำมาค้าขาย ดีกว่าต้องอดตายไปพร้อมกับโรคที่ไม่รู้จะหายไปจากโลกเมื่อไร

สิ่งสำคัญต้องไม่ประมาทจากเจ้าไวรัสตัวร้ายนี้ เพราะที่ผ่านมาเราได้บทเรียนจากวิกฤตโควิด-19 กันมามากพอแล้ว… และหวังว่าการกลับมาเปิดประเทศของไทย จะพารายได้และเศรษฐกิจคืนกลับมาด้วย ถึงอย่างไรทีมงาน BTimes ก็ขอเป็นกำลังใจให้แฟนเพจทุกคนอยู่รอดปลอดภัย และผ่านวิกฤตครั้งนี้ไปได้ด้วยดีค่ะ…

BTimes