นายจ้างกุมขมับ หวั่นขึ้นค่าแรงทำธุรกิจช็อก ลูกจ้างลุ้นจะเฮหรือโดนเท “ก้าวไกล” ยันนโยบายขึ้นค่าจ้างแน่ 450 บาท

954
0
Share:

นายจ้างกุมขมับ หวั่นขึ้นค่าแรงทำธุรกิจช็อก ลูกจ้างลุ้นจะเฮหรือโดนเท “ก้าวไกล” ยันนโยบายขึ้นค่าจ้างแน่ 450 บาทใน 100 วัน หลังเป็นรัฐบาล ถ้าขึ้นจริงอุตสาหกรรมไหนบ้างต้องรับบท “อ่วม”

แม้จะผ่านการเลือกตั้ง และคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ก็ได้ออกมาประกาศผลการนับคะแนนอย่างเป็นทางการเป็นที่เรียบร้อยแล้ว แต่กระแสความร้อนแรงระหว่างการฟอร์มทีมจัดตั้งรัฐบาลของ 8 พรรคร่วมรัฐบาลนั้นดูเหมือนจะทุลักทุเลไม่น้อย เพราะถ้าหากทุกคนติดตามข่าวจะเห็นว่าช่วงสัปดาห์ที่มาได้ปรากฏวิวาทะทางการเมือง เกิดการวิพากษ์วิจารณ์ แสดงความคิดเห็นออกมาจากหลายฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นประเด็นโผเก้าอี้รัฐมนตรี โควต้าในการจัดสรรปันส่วนกระทรวงของภายในพรรคร่วม ไปจนถึงเก้าอี้ประธานสภา ที่บรรดาสมาชิกของพรรคอันดับ 1 และอันดับ 2 ต่างมีการตอบโต้กันไปมา ลุกลามไปจนถึงจุดยืนเรื่องนโยบายของแต่ละพรรค ทำเอาโซเชียลเดือดปุดๆ กันเลยทีเดียว

และที่เป็นกระแสคุกรุ่นไม่แพ้กัน นั่นก็คือ ‘นโยบายขึ้นค่าแรง 450 บาท’ ที่พรรคก้าวไกลประกาศยืนยันว่าพร้อมที่จะผลักดันให้ได้ในทันที หลังจากเป็นรัฐบาลใน 100 วันแรก โดยที่ไม่รอให้ กกต. ประกาศผล หลังจากเซ็น MOU 8 พรรคร่วมรัฐบาลในต้นสัปดาห์ ก็ได้เริ่มเดินสายเข้าพบบรรดาภาคเอกชน เริ่มจากสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เพื่อแสดงวิสัยทัศน์ แชร์มุมมองความเห็นต่างๆ เพื่อที่จะนำมาจัดทำนโยบาย ซึ่งเรื่องการปรับขึ้นค่าแรงก็เป็นเรื่องที่วิพากษ์วิจารณ์อย่างมากๆ ในหลายๆ ฝ่าย เพราะมีทั้งฝั่งที่เชียร์ หรือฝั่งที่บอกว่าเป็นไปไม่ได้ที่จะขึ้นทันที หรือแม้แต่ฝั่งที่มองว่าจะกระทบ ไปจนถึงขั้นรายใหญ่ย้ายฐานการผลิตหนีจากไทย

ขณะเดียวกันนายเซีย จำปาทอง ว่าที่ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล โพสต์ข้อความผ่านทวิตเตอร์ ระบุว่า เริ่มมีการปั่นกระแสข่าวออนไลน์ว่า, ก้าวไกล จะไม่ขึ้นค่าแรง ขอยืนยันแบบชัดเจนตรงไปตรงมาว่านโยบายค่าแรง 450 บาท ขึ้นทันที ภายใน 100 วันแรกของรัฐบาลก้าวไกล! พวกเราแรงงานปรับตัวทนอยู่กับระบบเศรษฐกิจแบบกดค่าแรงให้ต่ำ บริษัทสามารถเลิกจ้างได้ง่ายดายมานานแล้ว ถึงเวลาต้องเปลี่ยนแปลง!

แต่ทางฟากนายจ้าง โดยเฉพาะกลุ่มผู้ประกอบการรายเล็ก อย่างนายแสงชัย ธีรกุลวาณิช ประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย กล่าวว่าถ้ามีการขึ้นค่าแรงจริง 450 บาท แน่นอนจะกระทบ SME เพราะจากค่าแรงเฉลี่ย 350 บาท ขึ้น 100 บาท เป็นตัวเลขที่เยอะ โดยเฉพาะธุรกิจที่ต้องใช้แรงงานเข้มข้น มีแรงงานอยู่ 12 ล้านคน ทั้งรายวันและรายเดือน แปลว่า หากขึ้นค่าแรงเป็น 450 บาท คนที่รับเงินเดือนเท่านี้อยู่ก็ต้องขยับเงินเดือนขึ้นอีก เพราะไม่เช่นนั้นฐานเงินเดือนใหม่ จะไปเบียดเทียบเท่าคนเก่า ฉะนั้น คนที่มีฐานเงินเดือนมากกว่านี้ เช่นอยู่มา 3–5 ปี มาก็ต้องขยับฐานอีก ถ้าปรับขึ้นจริงบริษัทที่ไปรอด ก็จะลดการจ้างงาน หรือต้องเปลี่ยนไปทำอย่างอื่นที่ใช้คนน้อย หรือหาเครื่องจักรเข้ามาแทนที่ ส่วนบริษัทที่ไปไม่รอดก็จะเลิกจ้าง เพราะจะไปเพิ่มราคาสินค้าบริการไม่ได้ หากเพิ่มมากยอดขายก็ลด เมื่อแบกต้นทุนไม่ไหวก็อาจจะต้องปิดกิจการ

ด้านนายพจน์ อร่ามวัฒนานนท์ รองประธานกรรมการหอการค้าไทย กล่าวว่าตอนนี้ยังต้องรอความชัดเจนว่ารัฐบาลใหม่จะมีนโยบายเรื่องค่าแรงอย่างไร เนื่องจากที่ออกมาก่อนหน้านี้เป็นเพียงนโยบายหาเสียงของพรรคการเมือง แต่ยังย้ำว่าการกำหนดค่าจ้างแรงงานมีกรอบกฎหมายที่ต้องปฏิบัติตาม พร้อมทั้งได้ฝากรัฐบาลใหม่ปรับขึ้นค่าแรงตามความเหมาะสม เป็นไปตามข้อกฎหมายและระเบียบที่วางไว้ ไม่ใช่ปรับขึ้นตามนโยบายหาเสียง เพราะถือเป็นสิ่งที่อันตรายมาก ส่งผลให้นักลงทุนชะลอการลงทุนในประเทศไทย เนื่องจากค่าแรงเป็นองค์ประกอบสำคัญของต้นทุนการผลิตทั้งหมด สิ่งสำคัญคือต้องรับฟังอย่างทั่วถึง ทั้งลูกจ้างและนายจ้าง ซึ่งไม่ได้มีแค่นายทุนรายใหญ่ แต่ยังมีผู้ประกอบการรายย่อย หรือ SME อีกหลายรายที่แบกรับภาระต้นทุนที่สูง ทั้งค่าไฟ ค่าน้ำมัน ก๊าซ ถ่านหิน และค่าแรง ที่ปรับสูงขึ้นตั้งแต่ปีที่แล้ว

และเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (26 พ.ค.) นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล พร้อมด้วยว่าที่ ส.ส.ปีกแรงงาน พรรคก้าวไกล ได้เดินสายพบเครือข่ายแรงงาน โดยระบุว่าเรื่องค่าแรงต้องไม่ดูที่เหรียญด้านเดียว แต่ต้องดูมิติของการช่วยเหลือเยียวยา SME ด้วย ไม่ว่าจะเป็นการลดภาษีจาก 20% เหลือ 15% หากมีผลกระทบจากการขึ้นค่าแรง ทำให้สามารถหักภาษีได้ 2 เท่าภายใน 2 ปีแรก รวมถึงศึกษามาตรการหลังการขึ้นค่าแรงเมื่อปี 2556 ซึ่งยืนยันว่าหากพิจารณาตัวเลข ไม่ว่าจะเป็นอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ อัตราค่าเงินเฟ้อ รวมถึงผลิตภัณฑ์ของพี่น้องแรงงานในช่วง 7–8 ปีที่ผ่านมา ตัวเลขของค่าแรงที่เหมาะสมคือ 450 บาท และถ้าหากเราแก้ไข พ.ร.บ แรงงาน ค่าแรงจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยอัตโนมัติ การขึ้นค่าแรงต้องขึ้นน้อยๆ ขึ้นบ่อยๆ ถ้านานๆ ขึ้นที ไม่สามารถที่จะบริหารจัดการได้

ส่วนข้อกังวลของเอกชนว่า ผลกระทบจากการขึ้นค่าแรง อาจทำให้มีการพิจารณาย้ายฐานการผลิตไปประเทศเวียดนาม นั้นต้องดูที่ค่าแรงเป็นหลัก แต่ก็ไม่ใช่ส่วนเดียว ต้องดูทั้งบุคลากร อัตราการคอรัปชั่น ระบบภาษี อัตราการส่งออก และตลาดในประเทศด้วย มีมากถึง 8–9 ปัจจัย ค่าแรงอาจจะเป็นเพียงปัจจัยเดียว ต้องดูทั้งองคาพยพ แต่อย่างไรก็ตาม ทีมเศรษฐกิจของพรรคจะต้องเข้าพูดคุยและหารือกับอีกหลายภาคส่วน

สำหรับค่าแรงขั้นต่ำ 450 บาทที่หากปรับขึ้น จะกระทบกับอุตสาหกรรมหรือผู้ประกอบการกลุ่มไหนบ้างนั้น ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ ระบุว่าปัจจุบันประเทศไทย มีผู้มีงานทำ จำนวน 38.7 ล้านคน เมื่อแบ่งจำนวนตามอุตสาหกรรม จะพบว่า 3 อุตสาหกรรม ที่มีจำนวนแรงงานมากที่สุด คือ 1. เกษตรกรรม จำนวนแรงงาน 11.4 ล้านคน 2. ธุรกิจค้าส่งและค้าปลีก จำนวนแรงงาน 6.7 ล้านคน 3. การผลิต จำนวนแรงงาน 6.3 ล้านคน ซึ่งอุตสาหกรรมเหล่านี้ จะได้รับผลกระทบมากกว่าอุตสาหกรรมอื่น เพราะเป็นอุตสาหกรรมที่เน้นการใช้แรงงานมากกว่าอุตสาหกรรมอื่นๆ

แต่ถ้าลงในรายละเอียด บล.เอเซีย พลัส ยกตัวอย่างผลการประเมินไว้ว่า จะมีอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบ เช่น อุตสาหกรรมรับเหมาก่อสร้าง เพราะเป็นอุตสาหกรรมที่มีการใช้แรงงานจํานวนมาก โดยต้นทุนค่าแรงที่อิงกับค่าแรงขั้นต่ำจะอยู่ในส่วนของคนงานก่อสร้างที่มีทั้งการจ้างโดยตรงและการจ้างผ่านผู้รับเหมาช่วง ซึ่งคิดเป็นสัดส่วน 20–30% ของต้นทุนก่อสร้าง โดยเงินที่จ้างผ่านผู้รับเหมาช่วงจะมีการรวมทั้งค่าแรงงานและค่าวัสดุก่อสร้างเข้าไปด้วย หากตั้งสมมุติฐานว่าค่าแรงอย่างเดียวคิดเป็นสัดส่วน 50% ของค่าจ้างเหมาช่วง เท่ากับว่าต้นทุนที่อิงกับค่าแรงขั้นต่ำน่าจะมีสัดส่วนประมาณ 10–15% ของต้นทุนก่อสร้าง ดังนั้นการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำทุก 1% จะกระทบต่อต้นทุนการก่อสร้าง 0.10–0.15% แต่ถ้ามีการปรับเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำจริง บริษัทรับเหมาก่อสร้างและบริษัทที่รับเหมาช่วงจะแบ่งกันรับภาระค่าแรงที่เพิ่มขึ้นไปคนละส่วน อีกทั้งบริษัทรับเหมางานภาครัฐจะมีเงินชดเชยจากค่า K ซึ่งมีเงินเฟ้อเป็นองค์ประกอบในการคํานวณด้วย ดังนั้นผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำทุก 1% ฝ่ายวิจัยประเมินว่าจะกระทบต่อต้นทุนการก่อสร้างไม่เกิน 0.1% อย่างไรก็ตามอุตสาหกรรมรับเหมาก่อสร้างเป็นอุตสาหกรรมที่มีอัตรากําไรสุทธิต่ำมากเพียง 2–3% เท่านั้น การเปลี่ยนแปลงเพียงเล็กน้อยของต้นทุนก่อสร้างจึงกระทบต่อกําไรของกลุ่มฯ ค่อนข้างมีนัยสําคัญ

และอีกตัวอย่างคือ อุตสาหกรรมนิคม จะมีผลกระทบต่อยอดขายที่ดินนิคมฯ แต่ยังอยู่ในวงจํากัด เพราะในช่วงปี 2553–2555 ที่มีการปรับขึ้นค่าแรงจาก 215 บาท/วัน เป็น 300 บาท/วัน (+40%YoY) ยอดขายยอดขายที่ดินนิคมฯ ไม่ได้ลดลง อย่างไรก็ตามในช่วงนั้นมีการปรับลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลลลงมาเป็นการชดเชยด้วย ในรอบนี้จึงต้องรอติดตามว่าจะมีแนวทางใดเข้ามาดึงดูดความน่าสนใจในการเข้ามาลงทุนเป็นการชดเชย ให้นักลงทุนไม่หนีหายตายจากไปจากบ้านเรา

โดยปัจจุบัน 3 จังหวัดที่มีค่าแรงขั้นต่ำสูงสุดของประเทศไทย คือ ชลบุรี ค่าแรงขั้นต่ำ 336 บาทต่อวัน, ภูเก็ต ค่าแรงขั้นต่ำ 336 บาทต่อวัน, ระยอง ค่าแรงขั้นต่ำ 335 บาทต่อวัน ในขณะที่กรุงเทพฯ ซึ่งเป็นเมืองหลวงนั้น มีอัตราค่าแรงขั้นต่ำในปัจจุบัน อยู่ที่ 331 บาทต่อวัน และ 3 จังหวัดที่มีค่าแรงขั้นต่ำน้อยที่สุดก็คือ นราธิวาส ปัตตานี และยะลา โดยมีอัตราค่าแรงขั้นต่ำอยู่ที่ 313 บาทต่อวัน

ซึ่งสิ่งที่ใช้ในการกำหนดค่าแรงขั้นต่ำ เช่น ค่าครองชีพ ราคาสินค้าและบริการ ความสามารถของธุรกิจ ผลิตภาพแรงงาน สภาพเศรษฐกิจและสังคม

อย่างไรก็ตาม ค่าแรงที่ปรับขึ้นย่อมหมายถึงกำลังซื้อที่เพิ่มสูงขึ้น ก็ย่อมส่งผลดีต่ออุตสาหกรรมอื่นๆ เช่น ธุรกิจเช่าซื้อที่มีฐานลูกค้าเป็นผู้ที่รับค่าจ้างขั้นต่ำ ที่เป็นลูกหนี้ให้มีความสามารถในการชำระหนี้ หรือก่อหนี้เพิ่มมากขึ้น หรือในธุรกิจค้าปลีกเอง ที่แม้ว่าจะมีการใช้แรงงานเยอะ แต่กำลังซื้อที่เพิ่มขึ้น ก็อาจส่งผลดีต่อยอดขาย จนอาจกลบผลกระทบจากค่าแรงที่ปรับขึ้นได้เช่นกัน

แน่นอนว่าเสียงสะท้อนจากผู้ที่คาดว่าจะถูกกระทบ หรือผู้ที่จะได้รับประโยชน์แท้จริงอย่างผู้ใช้แรงงานก็ตาม เชื่อว่ารัฐบาลหรือทีมเศรษฐกิจชุดใหม่นี้จะต้องผ่านการกลั่นกรอง ตกผลึกทางความคิดและได้นโยบายที่แน่ชัด ไม่ว่าจะปรับขึ้นค่าแรงแบบเปรี้ยงเดียว หรือจะปรับขึ้นแบบนอบน้อมค่อยเป็นค่อยไปอย่างไร ขอให้ได้ประโยชน์ทั้งสองฝ่าย ส่งผลดีต่อไปยังเศรษฐกิจด้วย

 

BTimes