กางแผนนโยบายดรีมทีม 8 พรรครัฐบาลใหม่ของไทย จะงัดทีเด็ดอะไรในการกู้วิกฤต พร้อมทบทวน 100 วันแรก “ก้าวไกล”

756
0
Share:

กางแผน นโยบาย ดรีมทีม 8 พรรครัฐบาลใหม่ของไทย จะงัดทีเด็ดอะไรในการกู้วิกฤต พร้อมทบทวน 100 วันแรก “ก้าวไกล” ประกาศเป็นมั่นไว้ รีบทำอะไรก่อนบ้าง?

กางแผนนโยบายดรีมทีม 8 พรรครัฐบาลใหม่ของไทย จะงัดทีเด็ดอะไรในการกู้วิกฤต พร้อมทบทวน 100 วันแรก “ก้าวไกล” ประกาศเป็นมั่นไว้ รีบทำอะไรก่อนบ้าง?

เป็นที่ชัดเจนแล้วว่าผลการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ปี 2566 เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคมที่ผ่านมา “พรรคก้าวไกล” ที่เหมือนเป็นม้ามืดม้าเร็ว กวาดคะแนนมาเป็นอันดับ 1 สามารถคว้าใจคว้าเสียงประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศไปได้ วิ่งเฉียดกับพรรคเพื่อไทยมาไม่ห่างเท่าไร ด้วยจำนวนที่นั่ง ส.ส. 152 ที่นั่ง ขณะที่เพื่อไทยได้อันดับ 2 ที่ 141 ที่นั่ง

ตอนนี้ก็ยังคงอยู่ในระหว่างขั้นตอนรวบรวม ส.ส. เพื่อให้ได้ที่นั่งเพียงพอในการจัดตั้งรัฐบาลก้าวไกล และโหวตให้ “นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์” ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ของประเทศไทย ซึ่งล่าสุดรายชื่อของพรรคที่จะมาร่วมรัฐบาล มีด้วยกัน 8 พรรค โดย ณ เวลานี้ การจัดตั้งรัฐบาล 2566 โดยการนำของนาย “พิธา” จะมีจำนวน ส.ส. ทั้งสิ้น 313 เสียง ได้แก่
1. พรรคก้าวไกล 152 ที่นั่ง
2. พรรคเพื่อไทย 141 ที่นั่ง
3. พรรคประชาชาติ 9 ที่นั่ง
4. พรรคไทยสร้างไทย 6 ที่นั่ง
5. พรรคเพื่อไทรวมพลัง 2 ที่นั่ง
6. พรรคเสรีรวมไทย 1 ที่นั่ง
7. พรรคเป็นธรรม 1 ที่นั่ง
8. พรรคพลังสังคมใหม่ 1 ที่นั่ง

โดยเงื่อนไขที่มีการพูดคุยกันเพื่อจัดตั้งรัฐบาลของรัฐบาลก้าวไกล คือ
1. นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล จะได้เป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งจะเป็นนายกฯ คนที่ 30 ของประเทศ
2. ทุกพรรคจะทำ MOU จัดตั้งรัฐบาล ในการจัดตั้งรัฐบาล เพื่อแสดงถึงแนวร่วมในการทำงาร่วมกัน และจะแถลงต่อสาธารณชนในวันที่ 22 พฤษภาคม 2566 ที่จะถึงนี้ เพื่อแก้การเมือง เศรษฐกิจ และสังคม
3. ทุกพรรคจะสร้างทีมงานเพื่อสานต่องานอย่างไร้รอยต่อ

แม้ว่าช่วงหลายวันที่ผ่านมาจะได้เห็นหลายๆ พรรคเข้ามาเป็นกำลังเสริม เพิ่มจำนวนเสียงโหวตให้กับ “พิธา” แต่หนทางสู่ประตูทำเนียบนั้น ก็ไม่ได้มีไพรเวทเจ็ทมารอรับไปส่งทันที เพราะตามกฎหมายแล้วการจะได้รับการแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีจะต้องได้คะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของสมาชิกที่มีอยู่ 2 สภาฯ นั่นคือ 376 เสียง เท่ากับว่ายังขาดอีก 60 เสียง ที่รอให้ฝ่ายค้าน และ ส.ว. ช่วยโหวต ซึ่งสถานการณ์ล่าสุดยังมี ส.ว. เสียงแตก คือมีทั้งฝ่ายที่จะงดออกเสียง ฝ่ายสงวนท่าที และฝ่ายที่สนับสนุนเต็มสูบ

ด้วยความเป็น ส.ส. รุ่นใหม่ไฟแรงสูงซะส่วนใหญ่ภายในพรรค การคิดนโยบายรวมทั้งนโยบายของแต่ละพรรคร่วม จะมีอะไรที่ลงล็อกจับมามิกซ์กันได้แบบลงตัวได้บ้าง ย่อมเป็นที่จับตาของประชาชน ซึ่งนายพิธาเองก็ยืนยันหนักแน่นว่าจะต้องมีการทำ MOU กันภายในพรรคร่วม ในการตั้งรัฐบาลและนำพากันเปลี่ยนแปลงประเทศ ซึ่งในช่วงก่อนเลือกตั้งเราก็คงพอจะได้ยินได้ฟังจากเวทีดีเบตต่างๆ มาพอสมควร

แต่ที่แน่ๆ คือนโยบายปากท้องจะเป็นเรื่องที่เราทุกคนคาดหวัง ถ้าจะยกตัวอย่างนโยบายที่โดดเด่นเรียกความสนใจให้กับวงดีเบต ก็อย่างเช่น พรรคก้าวไกล ที่จะลดค่าไฟให้กับประชาชนได้อย่างน้อย 70 สตางค์/หน่วย เฉลี่ยบ้านละ 150 บาท และการปลดล็อกให้ประชาชนทุกบ้านติดแผงโซลาร์ ซึ่งจะมาเสริมการแก้ปัญหาเรื่องค่าไฟแพง หวยใบเสร็จ ที่นำวิธีซื้อของร้านค้ารายย่อยที่ทั้งคนซื้อและคนขาย จะได้รับแถมสลากกินแบ่งของรัฐบาลไปลุ้นรางวัล รวมไปถึงนโยบายขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ สวัสดิการหมาแมว สวัสดิการตั้งแต่เกิดจนตาย ปลดหนี้ เป็นต้น

ส่วนเพื่อไทย พรรคอันดับรอง นโยบายที่ทำให้หลายคนตาลุกวาว คงหนีไม่พ้นกระเป๋าเงินดิจิทัล 10,000 บาท ที่ให้กับประชาชนที่มีอายุ 16 ปีขึ้นไป ใช้จ่ายใกล้บ้านระยะทางไม่เกิน 4 กม. ระยะเวลาการใช้ 6 เดือน รถไฟฟ้า กทม. 20 บาทตลอดสาย ขึ้นเงินเดือนคนจบปริญญาตรี 25,000 บาท นโยบายปลดหนี้ การอัปเกรด 30 บาทรักษาทุกโรค หรือแม้แต่นโยบายปลดหนี้ต่างๆ

ซึ่งหากไปดูในรายละเอียดอาจจะพบว่า นโยบายเรื่องปากท้องของทั้งสองพรรคเองมีความคล้ายคลึงกัน ซึ่งก็ไม่แน่ว่าหากนำเรื่องที่ทั้งสองพรรคต้องการจะแก้ปัญหามารวมสูตรกัน ประชาชนก็อาจจะได้นโยบายแบบมิกซ์ที่อยู่ตรงกลาง และเป็นประโยชน์ต่อประชาชนก็เป็นได้

แต่ถึงกระนั้น ก็อย่าลืมว่าต้องอยู่ภายใต้วงเงินงบประมาณ ที่ในปี 67 ยังเหลืออยู่ “แสนจะจำกัด” ด้วย

ขณะเดียวกัน นโยบายสำคัญของพรรคแกนนำนั้น ก็ต้องเป็นที่จับตาว่าจะพวกเขาจะเดินหน้าเรื่องอะไรเป็นเรื่องแรกๆ ซึ่ง BTimes ได้รวบรวมข้อมูลนโยบายเร่งด่วน 100 วันแรกของพรรคก้าวไกล ว่าที่รัฐบาลใหม่แกะกล่องนี้มาฝากกันด้วย

> ประชามติ จัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่
โดยเสนอให้มีการทำประชามติเพื่อถามประชาชนว่าควรมีร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ ภายใน 100 วันแรก ของรัฐบาลก้าวไกล
> ยกเลิกการประกาศกฎอัยการศึกในชายแดนใต้
เสนอยุติการใช้กฎอัยการศึกในจังหวัดชายแดนใต้ เพื่อเป็นจุดเริ่มต้นในการคลี่คลายสถานการณ์รุนแรง

> ประชามติยกเลิกราชการส่วนภูมิภาค ไม่มีใครตกงาน–เสียประโยชน์
– จัดให้มีประชามติภายใน 1 ปี เพื่อถามประชาชนว่าเห็นชอบหรือไม่ ให้มีการยกเลิกราชการส่วนภูมิภาค และโอนถ่ายอำนาจการบริหารจังหวัดไปสู่ท้องถิ่น
– หากประชามติได้รับความเห็นชอบจากประชาชน จะปูทางไปสู่
• การเปลี่ยนสังกัดของข้าราชการส่วนภูมิภาคและฝ่ายท้องที่ (กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน) โดยไม่มีตำแหน่งใดที่หาย และไม่มีใครตกงานหรือสูญเสียสิทธิประโยชน์ที่เคยได้รับ เดิมที่ทำแยกกันภายใต้ผู้ว่าฯ แต่งตั้ง–อธิบดีกรม–ปลัดกระทรวง เป็นการทำงานร่วมกันภายใต้ผู้บริหารท้องถิ่นที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนในพื้นที่ จากเดิมที่ทำงานแยกกันภายใต้ผู้ว่าฯ แต่งตั้ง–อธิบดีกรม-ปลัดกระทรวง ที่ถูกแต่งตั้งโดยราชการส่วนกลาง ไปเป็นรูปแบบใหม่ที่มีการทำงานร่วมกันภายใต้ผู้บริหารท้องถิ่น (นายกจังหวัด) ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนในพื้นที่

> ยกเลิกกฎระเบียบและคำสั่ง คสช. ที่ล็อกคอ–ล้วงลูกท้องถิ่น
– ยกเลิกคำสั่ง คสช. 8/2560 ที่เข้ามาแทรกแซงการบริหารงานบุคคลของ อปท. ทำให้ท้องถิ่นขาดกำลังคน
– ยกเลิกกฎระเบียบของกระทรวงมหาดไทย ที่จำกัดอำนาจขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และไม่จำเป็นต่อการบริหารราชการท้องถิ่น เช่น การใช้จ่ายประมาณของท้องถิ่น การสอบสวนผู้บริหารท้องถิ่น การลาของผู้บริหารท้องถิ่นและสมาชิกสภาท้องถิ่น การเห็นชอบข้อบัญญัติท้องถิ่น

> ห้ามใช้เงินหลวง โปรโมทตัวเอง

> กฎโรงเรียนต้องไม่ขัดหลักสิทธิมนุษยชน เช่น การบังคับเรื่องทรงผม การลงโทษด้วยวิธีรุนแรงทุกประเภท การบังคับให้เด็กบริจาคเงินหรือสิ่งของ การบังคับซื้อของ โดยให้ความสำคัญของสิทธิในเนื้อตัวร่างกายของเด็ก

> ครูละเมิดสิทธิ พักใบประกอบทันที เมื่อมีการละเมิดสิทธิเด็ก (เช่น การทำร้ายร่างกายเด็ก การล่วงละเมิดทางเพศ) เพื่อป้องกันไม่ให้มีการงดโทษหรือลงโทษเพียงแค่ย้ายโรงเรียน แก้ปัญหาการปกปิดความผิดโดยโรงเรียนเมื่อเกิดเหตุขึ้น

> เลิกให้ครูนอนเวร เฝ้าโรงเรียน เพื่อให้คุณครูสามารถโฟกัสไปที่การเรียนการสอนเพื่อพัฒนาผู้เรียนได้อย่างเต็มที่

> ยกเลิกพิธีรีตองในการประเมินครู–รับแขก ยกเลิกพิธีรีตองที่ไม่เกี่ยวข้องกับการเรียนการสอนหรือการพัฒนาผู้เรียน

> เปลี่ยนนิคมสหกรณ์เป็นโฉนดทันที เร่งเปลี่ยนที่ดินนิคมสหกรณ์ทุกแห่งทั่วประเทศ เป็นเอกสารสิทธิ์หรือโฉนดให้เกษตรกรและประชาชนทันที

> หยุดบังคับติดตั้งระบบ AIS หรือ Automatic Identification System ที่กำหนดให้เรือประมงพาณิชย์ติดตั้งระบบ AIS ที่ซ้ำซ้อนกับ VMS ที่มีอยู่แล้ว เพื่อให้เหลือเพียงระบบเดียว

> “ค่าไฟแฟร์” ถูกและเป็นธรรมสำหรับประชาชน โดยจะลดค่าไฟให้กับประชาชนได้อย่างน้อย 70 สตางค์/หน่วย (เฉลี่ยบ้านละ 150 บาท) โดยปรับนโยบายเพื่อให้ความสำคัญกับประชาชนก่อนกลุ่มทุน จนกระทั่งปรับโครงสร้างพลังงาน

> “หลังคาสร้างรายได้” เปิดเสรีโซลาร์เซลล์ ประกันราคาซื้อพลังงานสะอาดสำหรับครัวเรือน
โดยจะปลดล็อกให้ประชาชนทุกบ้านติดแผงโซลาร์ด้วยระบบ net metering (หักลบหน่วยขาย/ซื้อ) เพื่อช่วยลดค่าไฟฟ้า และเปิดโอกาสให้ขายไฟฟ้าที่ผลิตเกินใช้ กลับคืนให้รัฐในราคาตลาด เพิ่มแต้มต่อให้ประชาชนผู้ผลิตพลังงานหมุนเวียน โดยการสนับสนุนให้เกิดการรับซื้อไฟฟ้าส่วนเกิน (จากระบบ net metering) จากโซลาร์เซลล์และพลังงานหมุนเวียนที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกน้อย ในราคาที่สูงกว่าตลาด และประกันราคารับซื้อไฟฟ้าขั้นต่ำ หากยังไม่มีตลาดที่ 2.2 บาท/หน่วย

> ลดรายจ่าย SME: หักค่าใช้จ่ายเหมาภาษี เพิ่มจาก 60% เป็น 90%

> เพิ่มแต้มต่อให้ SME: หวยใบเสร็จ ซื้อของร้านค้ารายย่อย ทั้งคนซื้อได้สลากกินแบ่งของรัฐบาลไปลุ้นรางวัล

อ่านรายละเอียดได้เพิ่มเติม คลิกลิงก์นี้ : https://election66.moveforwardparty.org/policy/collection/PolicyTopList/77

ยังไม่รวมถึงนโยบายสุราก้าวหน้า ปลดล็อกการแข่งขันสำหรับผู้ผลิตสุราท้องถิ่น ปรับโครงสร้างหนี้ 1 หมื่นล้านบาท ปรับโครงสร้างราคาน้ำมัน แก้น้ำมันแพง อีกหลายนโยบาย ซึ่งหลายๆคนที่เทคะแนนเทใจให้พรรค “พ่อของส้ม” จะคาดหวัง และเชื่อว่าพรรคคงคิดมาดีแล้วที่ลำดับความสำคัญก่อนหลังของนโยบายต่างๆ เหล่านี้

แน่นอนว่าคงจะเอาใจช่วยให้พรรคส้มรวบรวมแรงโหวต จัดตั้งรัฐบาลและนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ของไทยได้อย่างราบรื่น แม้จะยังมีข้อกังขาจากบรรดา ส.ว. หรือแม้แต่พรรคร่วมรัฐบาลบางพรรคเกี่ยวกับความชัดเจนในเรื่องกฎหมายมาตรา 112 ที่พรรคก้าวไกลเองก็มีจุดยืนมาตลอด

แต่ก็ถือเป็นด่านหินด่านที่ต้องสู้กับบอสและเอาชนะ(ใจ)ปลดล็อกเลเวลสู่เก้าอี้นายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ให้ได้อย่างเต็มภาคภูมิ งานนี้แม่ยกพ่อส้มคงลุ้นยิ่งกว่าลุ้นหวยรัฐบาลก็คงไม่ปานแล้วล่ะ…

BTimes