‘น้ำส้ม’ น้ำผลไม้ธรรมดาที่นำพาเรื่องไม่ธรรมดา…

1006
0
Share:

‘น้ำส้ม’ น้ำผลไม้ธรรมดาที่นำพาเรื่องไม่ธรรมดา...

น้ำส้ม หรือน้ำที่มักถูกเรียกขานอยู่บ่อยครั้งในละครว่า น้ำนางเอก ดูเผินๆ ก็เหมือนเครื่องดื่มที่แสนธรรมดา ไม่มีพิษภัย แต่ว่าตอนนี้ท่าจะกลายเป็นน้ำนางร้ายไปเสียแล้ว เหตุเพราะมีกระแสร้อนเด็ดดังในโลกโซเชียลจากกรณีที่ผู้ใช้เฟซบุ๊กรายหนึ่งออกมาระบุว่าถูกเจ้าหน้าที่ล่อซื้อน้ำส้มจำนวน 500 ขวด พร้อมกับเรียกเงินค่าปรับเป็นจำนวน 12,000 บาท ฐานไม่มีใบอนุญาต จนเกิดเป็นประเด็นดราม่าใหญ่โต และมีคนเข้ามาแสดงความคิดเห็นเป็นจำนวนมากถึงความไม่เหมาะสมจากการเปรียบเทียบปรับเป็นจำนวนเงินก้อนโตกับคนที่ทำมาหากินอย่างสุจริตในช่วงเวลาที่ยากลำบากแบบนี้…

ล่าสุด กรมสรรพากรในฐานะหน่วยงานที่ถูกกล่าวอ้างถึง ได้มีการแถลงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น โดยชี้แจงว่าได้รับแจ้งเบาะแสจากผู้ประกอบการที่เสียภาษีอย่างถูกต้องว่ามีบางโรงงานผลิตเครื่องดื่มที่ไม่ได้มาตรฐาน ทั้งยังไม่ได้เสียภาษี ซึ่งกรมสรรพสามิตได้มอบหมายให้เจ้าหน้าที่เข้าตรวจสอบ และได้ดำเนินการให้ผู้ประกอบเข้าสู่ระบบการเสียภาษีอย่างถูกต้องแล้วจำนวน 4 ราย ซึ่งรายนี้เป็นรายที่ 5 โดยโรงงานผลิตของผู้ใช้เฟซบุ๊กรายดังกล่าวยังไม่ได้เสียภาษีสรรพสามิต เจ้าหน้าที่จึงได้ทำการให้คำแนะนำ แต่ไม่ได้เรียกเก็บค่าปรับเป็นจำนวน 12,000 บาท ตามที่มีการรายงานข่าวออกไป ทำให้เรื่องนี้เป็นที่สนใจ จนกลายเป็นกรณีศึกษาสำหรับผู้ประกอบการรายใหม่ที่อยากลงทุนในธุรกิจเกี่ยวกับการผลิตและจำหน่ายน้ำส้ม

ในช่วงวิกฤตโควิด-19 ที่ต่างคนก็ต่างต้องดิ้นรนให้ตัวเองมีชีวิตรอด เพื่อผ่านช่วงเวลาที่ยากลำบากนี้ไปได้ ทั้งยังต้องเลี้ยงดูปากท้องคนในครอบครัวอีกมากมาย ทำให้หลายคนมองหาอาชีพเสริม เพื่อเพิ่มช่องทางรายรับให้เพียงพอกับยุคที่ข้าวยากหมากแพงเช่นนี้ โดยสินค้าที่ได้รับความนิยมนำมาผลิตขายกันเองมักเป็นสินค้าประเภทอาหารและเครื่องดื่ม ซึ่ง ‘น้ำส้ม’ ถือเป็นอีกหนึ่งสินค้าฮอตฮิตที่เป็นที่ต้องการของตลาดทั้งตลาดออฟไลน์ และตลาดออนไลน์ เพราะสามารถทำเองได้ อาจสร้างความแตกต่างด้วยการปรับสูตรให้มีความอร่อยในแบบฉบับของตนเอง จากเหตุนี้ส่งผลให้ผู้ประกอบการรายใหม่โดดเข้ามามีส่วนแบ่งทางการตลาดเยอะขึ้น หลากหลายแบรนด์ต่างแข่งขันกันด้วยคุณภาพของสินค้าและราคา โดยเฉพาะน้ำส้มคั้นสด 100% แต่จากกรณีที่เกิดขึ้น ทำให้ผู้ประกอบการธุรกิจน้ำส้มจำเป็นต้องรู้กฎหมายพื้นฐานที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์ เพื่อป้องกันการตกเป็นเหยื่อของผู้ที่ไม่หวังดี หรือมิจฉาชีพที่อาจแฝงตัวอ้างว่าเป็นเจ้าหน้าที่เข้ามาเรียกค่าเสียหาย ซึ่งอาจทำให้ผู้ประกอบการที่ไม่รู้สูญเสียทรัพย์สินเป็นจำนวนมากได้เช่นกัน

สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา หรือ อย. ได้ออกข้อปฏิบัติเกี่ยวกับมาตรการทางกฎหมายเรื่องน้ำผลไม้บรรจุขวด โดย พ.ร.บ.โรงงาน (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2562 ได้ให้คำนิยามของ ‘โรงงาน’ ว่าคืออาคาร หรือยานพาหนะที่ใช้เครื่องจักรที่มีกำลังรวม 50 แรงม้าขึ้นไป หรือมีแรงงานตั้งแต่ 50 คนขึ้นไป เมื่อเข้าข่ายโรงงานต้องยื่นขอจัดตั้งโรงงานผลิตอาหาร แต่ถ้ากรณีที่สถานที่ผลิตไม่เข้าข่ายเป็นโรงงานผลิตอาหาร ผู้ค้าต้องยื่นขอรับเลขสถานที่ผลิตอาหารที่ไม่เข้าข่ายโรงงาน ถ้าดำเนินการโดยไม่ได้รับอนุญาตจะมีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 3 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ สำหรับผู้ประกอบการที่จำหน่ายโดยตรงต่อผู้บริโภค เช่น รถเข็น หรือหาบเร่ จะได้รับการยกเว้นไม่ต้องขอรับเลขผลิตอาหาร แต่ต้องขออนุญาตเปิดร้านจำหน่ายจากท้องที่นั้นๆ ส่วนใครที่เป็นสายขายออนไลน์ก็ต้องไปขอใบอนุญาตอิเล็กทรอนิกส์จากกระทรวงพาณิชย์ด้วยเช่นกัน ไม่เช่นนั้นอาจเข้าข่ายมีความผิดตามกฎหมายได้

ปัจจุบันเราทุกคนอยู่ในยุคที่โลกเปิดกว้าง และการสื่อสารมีอิสระมากขึ้น ผู้คนสามารถแชร์เหตุการณ์ หรือความรู้สึกต่างๆ ผ่านสื่อโซเชียลที่มีอัตราการกระจายข่าวสารเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้คนในสังคมได้รับรู้เรื่องราวได้อย่างละเอียด และนำมาเป็นกรณีศึกษาได้… อย่างไรแล้วทีมงาน BTimes ก็ขอเป็นกำลังใจให้ผู้ที่ประกอบอาชีพสุจริตทุกท่านจงเข้มแข็ง และสามารถนำพาธุรกิจก้าวผ่านช่วงเวลาที่กำลังพิสูจน์แรงม้านี้ไปได้ สู้ๆ นะคะ ขอให้ทุกท่านประสบความสำเร็จ และพบแต่ความโชคดี

BTimes