คนไทยกุมขมับอีกจนได้ เมื่อประกันโควิด-19 เจอเชื้อ แต่ไม่จ่าย และไม่จบ

1073
0
Share:

คนไทยกุมขมับอีกจนได้ เมื่อ ประกันโควิด-19 (เจอ จ่าย จบ) เจอเชื้อ แต่ไม่จ่าย และไม่จบ

ยืดเยื้อมานานพอสมควรกันเลยทีเดียว สำหรับปัญหาประกันโควิด-19 เจอ-จ่าย-จบ เพราะธุรกิจประกันภัยหลายเจ้าต้องการขอยกเลิกกรมธรรม์ “เจอ-จ่าย-จบ” เนื่องจากแบกรับค่าใช้จ่ายที่คนยื่นเคลมกันไม่ไหว เกิดเป็นเรื่องเป็นราวถึงขั้นขึ้นศาล เพราะกลัวเจ๊ง ทำเอาทางด้านผู้ที่ซื้อประกันต่างก็ได้รับผลกระทบจากกการเคลมประกันไม่ได้ แล้วถ้าเป็นแบบนี้ต่อไป ใครจะยอมเสียตังค์ซื้อประกันกันอีก ?

กรมธรรม์ ‘เจอ-จ่าย-จบ’ เขย่าวงการประกันภัย

ย้อนกลับไปเมื่อช่วงต้นปี 2563 ที่เป็นช่วงโรคโควิด-19 กำลังระบาดใหม่ๆ ธุรกิจประกันภัยต่างออกผลิตภัณฑ์ประกันภัยสำหรับโรคนี้โดยเฉพาะ เรียกได้ว่าเกิดการแข่งขันทางการตลาดกันอย่างดุเดือดเลยทีเดียว ซึ่งในช่วงแรกที่มีการโฆษณาถึงผลิตภัณฑ์นี้ก็ทำให้บริษัทประกันมีรายรับที่สูงมาก เรียกได้ว่าเติบโตขึ้นเรื่อยๆ จวบจนปี 2564 ที่มีการระบาดหนักของสายพันธุ์เดลตาที่พ่นพิษทำให้ประชาชนติดเชื้อกันไปถ้วนหน้า ส่งให้ยอดผู้ติดเชื้อรายวันทะลุหมื่นอยู่นาน จนสะเทือนถึงธุรกิจประกัน โดยข้อมูลจากสมาคมประกันวินาศภัยไทยระบุว่า ตั้งแต่ปี 2563 จนถึงสิ้นเดือนสิงหาคม 2564 มียอดกรมธรรม์สะสมสูงถึง 39.86 ล้านฉบับ เบี้ยประกันภัยสะสมรวม 11,250 ล้านบาท สอดคล้องกับข้อมูลของประชาชาติธุรกิจ โดยเฉพาะกรมธรรม์ประกันภัยโควิด เจอ-จ่าย-จบ พบว่าในช่วง 15 เมษายน 2564 ถึง 30 มิถุนายน 2564 มียอดซื้อประกันตัวนี้เข้ามามากถึง 13 ล้านกรมธรรม์ เมื่อรวมยอดขายตั้งแต่ต้นปี 2564 จึงมียอดกรมธรรม์สูงกว่า 15 ล้านกรมธรรม์

ต่อมาในช่วงเดือนกรกฎาคม 2564 ทางบริษัทสินมั่นคงประกันภัยก็สร้างความตกใจให้กับวงการประกันภัยอีกครั้ง เมื่อได้ประกาศยกเลิกกรมธรรม์โควิด-19 กลางคัน พร้อมกับจะทำการคืนเงินเต็มจำนวน ซึ่งทางบริษัทให้เหตุผลที่ทำการยกเลิกว่าเนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 ทวีความรุนแรงอย่างต่อเนื่อง และมีจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มขึ้นในอัตราที่สูง จึงนับเป็นภาวะวิกฤตด้านสาธารณสุขในระดับที่ท้าทายจนไม่สามารถคาดการณ์ได้ว่าสถานการณ์จะพัฒนาไปสู่จุดใด ส่งผลให้สินมั่นคงประกันภัยต้องบริหารความเสี่ยงให้มีประสิทธิภาพ และจำเป็นต้องใช้สิทธิบอกเลิกกรมธรรม์ประกันภัยการติดเชื้อไวรัสโคโรนาแบบเจอ-จ่าย-จบ ภายหลังจากที่ประกาศออกไป ก็ทำให้เกิดดราม่าต่างๆ มากมาย จน คปภ. ต้องใช้อำนาจนายทะเบียนสั่งสินมั่นคงประกันภัยห้ามบอกเลิกกรมธรรม์โควิด-19 เพราะหวั่นผู้บริโภคไม่ได้รับความเป็นธรรม

และจากเหตุการณ์เคลมยอดเจอ-จ่าย-จบที่พุ่งสูงจนเกินจะรับไหว ทำให้เอเชียประกันภัยถึงกับประสบภาวะขาดสภาพคล่องทางการเงิน มีหนี้สินเยอะกว่าทรัพย์สิน ส่งผลให้ต้องปิดตัวลงจากการถูกเพิกถอนใบอนุญาต ต่อมาในเดือนธันวาคม 2564 บริษัท เดอะ วัน ประกันภัยก็ถูกปิดตัวลง เนื่องจากโดนเพิกถอนใบอนุญาตไปอีกรายเช่นเดียวกัน

ล่าสุด ธุรกิจประกันภัยของเครือเจ้าสัวเจริญ ก็ได้ดำเนินการยื่นฟ้องต่อศาลปกครองกลาง คดีพิพาทหน่วยงานกำกับดูแลอย่างสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) กรณีหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย จากประกาศคำสั่งนายทะเบียนที่ 38/2564 เรื่องให้ยกเลิกเงื่อนไขการใช้สิทธิบอกเลิกกรมธรรม์ประกันภัยโควิด-19 สำหรับบริษัทประกันวินาศภัย

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 16 มกราคม 2565 ทางด้านนายสุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เปิดเผยว่า จากกรณีบริษัท อาคเนย์ประกันภัย จำกัด (มหาชน) กับพวกยื่นฟ้อง คปภ. โดยขอให้ยกเลิกเงื่อนไขการใช้สิทธิบอกเลิกกรมธรรม์ประกันภัยโควิด-19 แบบ เจอ-จ่าย-จบ นั้น ในระหว่างที่ศาลปครองกลางยังไม่ได้รับฟ้องและมีคำสั่งให้คุ้มครองชั่วคราว กรมธรรม์ประกันภัยโควิด-19 แบบเจอ-จ่าย-จบ จะยังคงมีผลใช้บังคับและให้ความคุ้มครองตามปกติ แต่ถ้าเมื่อไรที่ศาลรับฟ้องและมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว บริษัทประกันภัยจะนำมาเป็นเครื่องมือในการยกเลิกสัญญากับผู้เอาประกันภัย และจะทำให้ผู้เอาประกันภัยโควิดกว่า 10 ล้านคน ต้องถูกลอยแพอย่างแน่นอน พร้อมกับพูดอีกว่า “ถ้าเมื่อใดที่ความเสี่ยงภัยเปลี่ยนไป แล้วบริษัทประกันภัยสามารถอ้างเหตุนี้มายกเลิกกรมธรรม์ประกันภัยได้แบบเหมาเข่ง ก็ย่อมจะกลายเป็นบรรทัดฐานใหม่ที่ไม่เคยปรากฏในระบบประกันภัยของโลก จนลุกลามกระทบต่อความเชื่อถือไว้วางใจของประชาชน แล้วเช่นนี้ประชาชนจะซื้อประกันภัยไปทำไม”

การที่บริษัทประกันเริ่มออกผลิตภัณฑ์ประกันโควิด-19 เจอ-จ่าย-จบ ที่ถึงแม้จะได้ลูกค้าเพิ่มขึ้นมาก็จริง แต่ท้ายที่สุดบริษัทก็รับความเสี่ยงของโรคระบาดไม่ไหวกลายเป็นความล้มเหลว ทั้งยังมีคนบางกลุ่มที่ยอมเสี่ยงเอาเชื้อเข้าร่างกายตามที่มีข่าวออกไป เพื่อหวังเอาเงินเคลมประกัน ซึ่งต้องยอมรับเช่นกันว่าพฤติกรรมนี้เป็นพฤติกรรมที่ไม่น่ารักเท่าที่ควร…

หรือทั้งหมดที่เกิดขึ้นจะกลายเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของวงการประกันภัยต่อความเชื่อใจของประชาชน ที่อยากได้เงิน แต่กลับไม่อยากจ่ายเงิน หลังจากนี้ก็ต้องจับตาดูคำสั่งของศาลปกครองกันว่าจะออกมาในรูปแบบไหน ถ้ามีคำสั่งให้คุ้มครองชั่วคราวจริง ประชาชนก็อาจถูกลอยแพอย่างแน่นอน

BTimes