ฟุตบาทไทย ทางเท้าสบายใจหรือกวนใจคนเมือง?

1687
0
Share:

ปัญหา ฟุตบาท ไทย กวนใจคนเมืองกรุง

เคยไหมเดินบนฟุตบาทอยู่ดีๆ แล้วขาพลิก ตกหลุม หรือโดนน้ำขังกระเด็นใส่ขา? ปัญหาเหล่านี้ช่างกวนใจผู้คนมากเหลือเกิน จนเกิดเป็นคำถามว่าเมื่อไรทางเดินเท้าในประเทศไทยจะถูกแก้ไขให้เรียบร้อยเสียที แล้วถ้าต้องเจ็บตัวจากปัญหาทางเท้าชำรุดจะสามารถไปร้องเรียนกับใครได้บ้าง? วนกลับมาสู่คำถามคาใจว่าร้องเรียนแล้วจะถูกแก้ไขหรือไม่ แล้วประชาชนต้องทน ระวัง และซ่อมแซมกันเองต่อไปแบบนี้จริงหรือ??

ทรุดโทรม ชำรุด น้ำขังเป็นหลุม แถมยังสกปรก นี่แหละเอกลักษณ์ทางเท้าไทย
แม้ว่าบ้านเมืองเราจะมีสิ่งปลูกสร้างล้ำสมัยไปมากมายสักเท่าไร แต่สิ่งที่ยังไม่เคยได้รับการแก้ไขอย่างปัญหาทางเท้าก็ยังมีให้ได้เห็นกันอยู่ทุกวัน แถมนับวันก็ยิ่งจะทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ และไม่มีทีท่าว่าจะดีขึ้นเลย ซึ่งปัญหานี้ส่งผลให้คนกรุง หรือคนในประเทศหลายคนรู้สึกอึดอัดใจเป็นอย่างมาก ยิ่งวันไหนมีธุระด่วน แล้วต้องมาเจอปัญหาเหล่านี้ที่อาจส่งผลทำให้การสัญจรเป็นไปอย่างล่าช้า ยิ่งเกิดเป็นปมว่า งบประมาณในการซ่อมบำรุงอยู่ที่ไหน เจ็บตัวขนาดนี้จะเรียกร้องค่าเสียหายอย่างไรได้บ้าง จนสร้างกระแสฮือฮาบนโลกโซเชียลมานับครั้งไม่ถ้วน ยิ่งบางพื้นที่ที่พื้นทางเท้าชำรุดมาก ก็ไม่ได้ส่งผลเสียให้แค่เพียงคนปกติ แต่ยังเป็นปัญหาเล็กๆ ที่ลุกลามไปถึงกลุ่มผู้พิการ…

ทางเท้า หรือทางสตรีทฟู้ดส์ ???
จากการสำรวจพบว่าฟุตบาทในกรุงเทพมหานครมักมีพื้นที่ทางเดินค่อนข้างแคบ ทั้งยังมีสิ่งกีดขวางเพิ่มเป็นระยะ เช่น ป้ายโฆษณาที่บีบบังทางเดินอันน้อยนิดให้แคบขึ้นไปอีก ซ้ำต่อเนื่องด้วยสภาพความผุพังของพื้นทางเดิน ยิ่งวันไหนเจอมอเตอร์ไซค์ขึ้นสวนขึ้นมา หรือเจอหาบเร่แผงลอย ยิ่งทำให้พื้นที่ที่เคยมีแคบขึ้นไปจนไม่สามารถเดินสวนกันได้ ทั้งที่ความเป็นจริงก็มีเกณฑ์และมาตรฐานผังเมืองรวม พ.ศ. 2549 กำหนดไว้อย่างชัดเจนว่าทางเท้าต้องมีความกว้างอย่างน้อย 1.5 เมตร ซึ่งหมายถึงระยะที่คนเดินเท้าสามารถเดินสวนทางกันได้ แต่ในความเป็นจริงกลับพบว่าฟุตบาทบางแห่งในกรุงเทพมหานครมีขนาดเล็กกว่ามาตรฐานที่กำหนด อีกทั้งบางจุดก็ถูกซ่อมแซมเพื่อขยายถนนให้รถวิ่ง มากกว่าที่จะพัฒนาพื้นที่ให้กว้างเพื่ออำนวยความสะดวกให้กลุ่มผู้พิการได้มีทางเดินที่ปลอดภัย แต่หากมองย้อนกลับไปก็จะพบกับสาเหตุของปัญหาที่มาจากการก่อสร้างที่ไม่ได้มาตรฐาน คนสร้าง-คนซ่อมไม่ใช่ทีมเดียวกัน หรือการซ่อมแบบผักชีโรยหน้า นั่นเท่ากับว่าเป็นการใช้งบประมาณที่สิ้นเปลืองโดยใช่เหตุ

ทางเท้าดี = ประเทศพัฒนา ถูกต้องใช่มั้ย?
คุณเชื่อหรือไม่ว่าถ้าประเทศของเรามีทางเท้าที่ดี หลายๆ อย่างในประเทศจะดีขึ้นตาม? เพราะหากทางเท้ามีคุณภาพมาตรฐาน กว้างและเหมาะสมตามเกณฑ์ หาบเร่แผงลอยก็จะสามารถค้าขายได้ โดยไม่กระทบกับการสัญจร ทั้งยังเชื่อมโยงไปถึงระบบการเดินทาง ผู้คนก็จะสามารถยืนรอรถประจำทางได้แบบไม่ต้องระแวงอุบัติเหตุที่เกิดจากการมีพื้นที่ยืนรอไม่เพียงพอ จนต้องลงไปยืนตามขอบถนน หากพูดถึงในมุมเศรษฐกิจที่อิงจากงานวิจัยจะพบว่าการมีทางเท้าที่สวยงาม และสะดวกสบาย โดยเฉพาะในย่านพาณิชย์จะมีส่วนดึงดูดให้ผู้คนอยากไปเดินจับจ่าย ส่งผลดีไปถึงบรรดาร้านค้ารายย่อยให้ได้มีรายได้เพิ่มขึ้นจากการที่ผู้คนสัญจรผ่านไปมา

เชื่อเหลือเกินว่าถ้าทางเท้าประเทศไทยมีคุณภาพ จะส่งผลดีต่อทั้งระบบการสัญจร และลดการเกิดอุบัติเหตุต่างๆ ได้ด้วยค่ะ สุดท้ายทีมงาน BTimes หวังว่าประเทศไทยของเราจะมีทางเท้าที่ดีให้ประชาชนได้ใช้ในเร็ววันนะคะ ^^

อ้อ…ฝากคำถามไว้คิดเล่นๆ ว่า ขุดถนน กับ ขุดทางเท้า ขุดอะไรมากกว่ากัน ???

BTimes