ในยุคสมัยที่เปลี่ยนไป การหาเสียงด้วยการติดตั้งป้ายหาเสียงริมทางยังได้ผลจริงหรือ

739
0
Share:

ในยุคสมัยที่เปลี่ยนไป การหาเสียง เลือกตั้ง ผู้ว่าฯ กทม. ด้วยการติดตั้ง ป้ายหาเสียง ริมทางยังได้ผลจริงหรือ
หลังจากห่างหายไปนานถึง 8 ปี ตั้งแต่มีรัฐประหารเมื่อปี 2557 และแล้ววันนี้ก็มาถึงกับวันที่คนเมืองหลวงจะได้สัมผัสกับบรรยากาศการกาบัตรเลือกตั้งอีกครั้ง เพื่อหาผู้ที่เหมาะสมเข้ามาบริหารและแก้ปัญหาศูนย์กลางภูมิศาสตร์ประเทศไทยอย่างกรุงเทพมหานคร

เมื่อมีการประกาศรับสมัครชิงตำแหน่งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ก็เกิดเป็นกระแสตอบรับอย่างอุ่นหนาฝาคั่ง ซึ่งความน่าสนใจของการเลือกตั้งในปีนี้ คือเป็นปีที่มีผู้สมัครสนใจลงชื่อเข้าชิงตำแหน่งมากที่สุดในประวัติศาสตร์ของการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. จำนวนมากถึง 31 คน จากที่เคยมีการเลือกตั้งมาแล้วกว่า 10 ครั้ง ซึ่งผู้สมัครก็มีทั้งที่มีสังกัดและตั้งตนเป็นอิสระ ส่งผลให้ประชาชนชาวกรุงได้มีตัวเลือกในการเฟ้นหาผู้ที่มีคุณสมบัติที่เหมาะสม มีความน่าเชื่อถือ และเห็นถึงความสามารถในการเข้ามาช่วยแก้ปัญหาที่เหล่าชาวกรุงต้องประสบพบเจอ โดยผู้สมัครแต่ละคนก็ได้งัดกลยุทธ์และนำนโยบายต่างๆ ออกมาหาเสียงกันอย่างคึกคัก เฉพาะอย่างยิ่งการนำเสนอนโยบายผ่านป้ายหาเสียงริมทาง และนี่เองคือจุดเริ่มต้นของดราม่าหนาหูในสังคมโซเชียลถึงการสร้างความเดือดร้อนให้ประชาชนจากบรรดาป้ายเหล่านี้

หลังจากที่มีประกาศอนุญาตให้ผู้ลงสมัครสามารถโฆษณาหาเสียงได้ เพียงชั่วข้ามคืนเหล่ากองทัพป้ายหาเสียงจากผู้สมัครเบอร์ต่างๆ ก็ผุดขึ้นทั่วกรุงราวกับดอกเห็ด เรียกได้ว่าเสาไฟฟ้าทุกเสา ต้นไม้ทุกต้น ถูกจับจองด้วยป้ายหาเสียงละลานตากันเลยทีเดียว แต่สิ่งที่เป็นจุดกำเนิดของดราม่าก็คงหนีไม่พ้นขนาดของป้ายที่ดูจะใหญ่โต ทำให้บดบังวิสัยทัศน์ในการมองเห็น เกิดความไม่สะดวกสำหรับผู้ใช้ทางเท้าและผู้โดยสารขนส่งสาธาณะอย่างรถเมล์ จนเกิดการร้องเรียน เพราะทำให้ประชาชนต้องชะโงกหน้าออกมาที่บริเวณถนน ซึ่งเสี่ยงต่อการเกิดอันตรายได้ และดูเหมือนว่าหากเกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันขึ้นคงไม่สามารถหาคนมารับผิดชอบได้เช่นกัน

แม้ปัญหานี้จะดูเหมือนเรื่่องเล็กน้อย แต่ในสถานการณ์ปัจจุบันที่ประชาชนตระหนักรู้มากขึ้น ปัญหาเพียงเล็กน้อยนี้กลับสร้างความไม่สบายใจให้กับประชาชนอยู่พอสมควร และหากมีใครสักคนที่เข้ามาเพื่อแก้ปัญหานี้ให้หายไปได้ เชื่อว่าคนๆ นั้น จะได้รับความน่าเชื่อถือ และไว้วางใจให้เข้ามาบริหารดูแลความเป็นอยู่ของเหล่าชาวกรุงอย่างแน่นอน เพราะหากแม้แต่ปัญหาเล็กๆ ก็ยังแก้ไม่ได้ ประชาชนก็คงหมดความเชื่อถือให้มารับผิดชอบปัญหาที่ใหญ่กว่านี้เป็นแน่

‘การกระทำสำคัญกว่าคำพูด’ ประโยคนี้ได้สะท้อนชัดถึงสิ่งที่ประชาชนอยากได้ มากกว่าคำพูดหรือคำสัญญาสวยหรูที่ใช้ในการหาเสียงผ่านตัวหนังสือบนป้ายหาเสียงที่เรียงรายอยู่ริมถนน ถ้าอยากเป็นผู้นำก็ต้องทำตัวให้น่าเชื่อถือ และสร้างความไว้วางใจให้ประชาชน เพราะเชื่อว่าคนไทยทุกคนต้องการผู้นำที่ฉลาด และเป็นคนดีมาพัฒนาบ้านเมือง สุดท้ายลึกๆ ก็คงไม่มีใครอยากได้คนโง่ที่ดวงดีมาบริหารงานอย่างแน่นอน

ทั้งนี้ ไม่ว่าใครจะได้เป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ทีมงาน BTimes ก็หวังว่าจะเกิดการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดี และคาดหวังให้ผู้ที่เข้ามาดำรงตำแหน่งโปรดรับฟังเสียงของประชาชนในทุกๆ เรื่อง พร้อมนำไปแก้ไข และอย่าลืมว่าก่อนได้รับเลือกท่านได้ให้สัญญาอะไรไว้ อย่าทำให้คำพูดเป็นเพียงการขายฝันเพียงข้ามคืนเพื่อให้ตัวเองได้ดำรงตำแหน่งเท่านั้น แต่โปรดมาช่วยกันทำเมืองหลวงให้น่าอยู่กันเถอะค่ะ

BTimes