ผ้าอนามัย สินค้าฟุ่มเฟือยที่แสนจำเป็นสำหรับผู้หญิง และการเรียกร้องสวัสดิการที่ผู้หญิงควรได้รับ

1160
0
Share:

ผ้าอนามัย สินค้าฟุ่มเฟือยที่แสนจำเป็นสำหรับผู้หญิง และการเรียกร้องสวัสดิการที่ผู้หญิงควรได้รับ
‘เกิดเป็นผู้หญิงแท้จริงแสนลำบาก’ เป็นคำที่ทุกคนอาจเคยได้ยินผ่านหูกันมาบ้าง และคงปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นเรื่องจริง ซึ่งก็ไม่ได้หมายความว่าเป็นผู้ชายแล้วจะไม่ลำบาก แต่ในที่นี้จะขอกล่าวถึงกรณีที่ธรรมชาติกำหนดตัวแปรที่ทำให้เพศหญิงแตกต่างจากเพศชาย และเป็นสิ่งที่ผู้หญิงทุกคนบนโลกนี้ต้องประสบพบเจอนั่นคือการมีประจำเดือน

ถ้าเลือกได้คงไม่มีใครอยากให้มีเลือดไหลออกจากร่างกายในทุกๆ เดือน อีกทั้งยังไม่สามารถควบคุมการไหลของเลือดได้ มากไปกว่านั้นคือบางครั้งอาจมีอาการปวดท้องหรือปวดหลังเข้ามาเอี่ยว มากขึ้นไปอีกขั้นคือบางรายอาจมีไข้ไม่สบายตัวเพิ่มขึ้นมา ซึ่งอาการเหล่านี้เป็นสิ่งที่ผู้หญิงหลีกเลี่ยงไม่ได้ จึงเกิดข้อเรียกร้องหรือข้อเสนอแนะออกมามากมาย จนเป็นกระแสไวรัลบนโลกออนไลน์ถึงการขอรับความช่วยเหลือจากรัฐบาลในหลากหลายประเทศทั่วโลก เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายจำเป็นเกี่ยวกับผ้าอนามัยมาอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นการแจกผ้าอนามัยฟรี การติดตั้งตู้กดผ้าอนามัยตามสถานศึกษา หรือแม้แต่การลดภาษีผ้าอนามัย ซึ่งข้อเรียกร้องเหล่านี้ถูกรัฐบาลบางประเทศทำให้เกิดขึ้นจริงแล้ว ยกตัวอย่างในประเทศนิวซีแลนด์ ญี่ปุ่น และไต้หวัน ได้มีการแจกผ้าอนามัยฟรีให้กับนักเรียนหญิง เพื่อแก้ปัญหาภาวะความยากจน และปัญหาด้านรายได้ที่ส่งผลกระทบให้ผู้หญิงบางคนไม่สามารถเข้าถึงผ้าอนามัย โดยก่อนหน้าประเทศสกอตแลนด์ได้นำร่องประกาศอย่างเป็นทางการว่าประเทศของเขาเป็นที่แรกของโลกที่สนับสนุนผ้าอนามัยให้ผู้หญิงทุกคนได้ใช้ฟรี ทั้งยังมีอีกหลายประเทศที่ยกเลิกการเก็บภาษีผ้าอนามัย อาทิ อังกฤษ แคนาดา อินเดีย ออสเตรเลีย เคนยา และอีกหลายรัฐในสหรัฐอเมริกา ซึ่งนับเป็นมาตรการความช่วยเหลือที่เข้าถึงแก่นปัญหา จนได้รับการชื่นชมและได้ใจผู้หญิงไปแบบเต็มๆ

หากมองย้อนกลับไปในสมัยก่อน ก็พอจะทราบว่าผู้หญิงไทยอาจไม่จำเป็นต้องซื้อผ้าอนามัยใช้เหมือนเช่นทุกวันนี้ ยิ่งถ้าลองไปถามคุณย่าคุณยายก็จะได้คำตอบว่าในยุคนั้นมีการนำวัสดุทางธรรมชาติอย่างกาบมะพร้าวมาใช้ ทำให้ไม่ต้องเสียเงินซื้อ โดยข้อมูลเหล่านี้ก็ถูกถ่ายทอดผ่านละครหลังข่าวเรื่องดังอย่างบุพเพสันนิวาส ที่ได้กล่าวถึงช่วงการเป็นรอบเดือนของแม่การะเกดพร้อมแสดงให้เห็นถึงขั้นตอนการประดิษฐ์ผ้าอนามัยโบราณ ด้วยการนำกาบมะพร้าวมาทุบให้อ่อนนุ่ม แล้วยัดใส่ในผ้าที่เย็บไว้ จากนั้นก็หนีบไว้กับเข็มขัดคาดเอว ทำให้เวลาสวมใส่จะรู้สึกเหมือนกับการขี่ม้าหรือนั่งบนหลังม้า จึงเป็นที่มาของคำว่า ขี่ม้า ที่ใช้เรียกแทนช่วงการมีประจำเดือนนั่นเอง แต่พอมาถึงในยุคปัจจุบันที่นวัตกรรมและเทคโนโลยีถูกพัฒนาให้มีความเจริญก้าวหน้า พฤติกรรมทั้งหมดจึงเปลี่ยนไป ผู้หญิงมีการทำงานนอกบ้านมากขึ้น ดังนั้นความสะดวกสบายและสุขอนามัยจึงเป็นเรื่องสำคัญ หากจะให้กลับไปใช้กาบมะพร้าวอย่างเช่นในอดีต อาจจะไม่เหมาะกับการใช้ชีวิตเท่าไรนัก ส่งผลให้การใช้ผ้าอนามัยใยสังเคราะห์อย่างเช่นปัจจุบัน กลายเป็นไอเท็มติดตัวชิ้นสำคัญสิ่งที่ไม่ใช่สิ่งฟุ่มเฟือย

คงจะต้องขออธิบายประกอบสักนิดว่าปกติแล้วผู้หญิงจะเริ่มมีประจำเดือนเมื่อย่างเข้าสู่วัยรุ่นช่วงอายุประมาณ 12-13 ปี ในบางรายที่มีร่างกายสมบูรณ์มากประจำเดือนก็อาจจะขยับมาเป็นเร็วขึ้น อีกทั้งในปัจจุบันยังพบว่าเด็กผู้หญิงมีแนวโน้มการมีประจำเดือนในอายุที่น้อยลง และจะหมดประจำเดือนในช่วงอายุประมาณ 60 ปี ซึ่งการเป็นในแต่ละรอบเดือนจะใช้ระยะเวลาโดยเฉลี่ยคือ 5-7 วัน นั่นหมายถึงในชีวิตหนึ่งของผู้หญิงต้องมีประจำเดือนอยู่ที่ประมาณ 2,500 วัน เพิ่มเติมข้อมูลจากบีบีซีไทยที่ได้รายงานเกี่ยวกับการใช้ผ้าอนามัยว่า ตามหลักสุขภาพที่แนะนำคือควรเปลี่ยนผ้าอนามัยทุกๆ 4 ชั่วโมง เท่ากับว่าใน 1 วัน ผู้หญิงต้องใช้ผ้าอนามัยอย่างน้อย 6 แผ่น อาจมากหรือน้อยกว่านี้ขึ้นอยู่กับสภาพร่างกายของแต่ละคน ดังนั้นในแต่ละเดือนจะใช้ผ้าอนามัยประมาณกว่า 30 แผ่น คิดเป็นรายจ่ายเกือบ 2,500 บาทต่อปี ซึ่งคำนวณคร่าวๆ ตลอดอายุการเป็นประจำเดือนของผู้หญิง 1 คนจะต้องจ่ายค่าผ้าอนามัยทั้งหมดประมาณ 120,000 บาท นับว่าเป็นมูลค่ามิใช่น้อยเลยทีเดียว และถ้ามองกลับมาในมุมของเด็กผู้หญิงที่เริ่มมีประจำเดือนครั้งแรกตอนที่อายุไม่ถึง 10 ปี เด็กน้อยในช่วงอายุนี้ยังเรียน และไม่มีรายได้มากพอจะมาใช้จ่ายสำหรับค่าผ้าอนามัยแน่นอน ดังนั้นภาระเหล่านี้ก็ต้องตกไปยังผู้ปกครอง ซ้ำร้ายไปกว่านั้นในเคสที่มีฐานะยากจนก็จะพบว่าพวกเขาต้องใช้ผ้าอนามัย 1 แผ่นซ้ำๆ วนไป หรือใช้วัสดุอื่นทดแทน เช่น กระดาษทิชชู่ กระดาษหนังสือพิมพ์ เศษผ้า หรือแม้แต่ชุดชั้นในในการซึมซับเลือดที่ไหลออกมา

วกกลับมาในประเทศไทย เมื่อไม่นานมานี้โลกออนไลน์ก็ได้ร้อนระอุขึ้นอีกครั้ง เนื่องจากมีผู้ใช้งานหลายรายหยิบยกประเด็นนี้ขึ้นมาพูดคุยกันอย่างหนักผ่านแฮชแทก #ภาษีผ้าอนามัย จนขึ้นเทรนด์อันดับ 1 ในทวิตเตอร์ สืบเนื่องจากกระแสข่าวลือว่าจะมีการเพิ่มอัตราการเก็บภาษีผ้าอนามัยสูงถึง 40% ส่งผลให้มีการถกเถียงถึงความไม่เหมาะสมกันแบบดุเดือด โดยหลังจากที่มีการแสดงความคิดเห็นในมุมมองต่างๆ ออกไป ก็ได้มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องออกมาแถลงการณ์ว่าข้อมูลที่ถูกกล่าวถึงไม่เป็นความจริง รัฐไม่ได้มีนโยบายการขึ้นภาษีผ้าอนามัยแต่อย่างใด และปัจจุบันผ้าอนามัยเป็นสินค้าที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือ VAT ที่อัตรา 7% เป็นปกติอยู่แล้ว

แต่ถึงอย่างไร ถ้าเป็นไปได้ก็เชื่อว่าแฟนๆ รายการ BTimes ที่เป็นผู้หญิง หรือประชากรหญิงไทยส่วนใหญ่ อยากให้มีการงดเก็บภาษี หรือมีการแจกผ้าอนามัยฟรี เพื่อเป็นการช่วยเหลือและแบ่งเบาค่าใช้จ่ายในยุคที่เศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัว อันเป็นผลกระทบลูกโซ่มาจากวิกฤตการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ถือว่ายังรุนแรงและน่ากังวลไม่น้อย และต่อให้โควิด-19 หายไป แต่ผู้หญิงก็ยังคงต้องใช้ผ้าอนามัยอยู่ดี…

BTimes