พายุวิกฤตพลังงานยังถาโถม น้ำมันแพง ค่าไฟพุ่ง พลังงานทดแทนคือคำตอบสุดท้ายได้หรือไม่?

598
0
Share:

พายุ วิกฤตพลังงาน ยังถาโถม น้ำมันแพง ค่าไฟ พุ่ง พลังงานทดแทน คือคำตอบสุดท้ายได้หรือไม่?

ช่วงที่ผ่านมาทั้งประเทศไทยและทั่วโลกต่างต้องเผชิญกับวิกฤตราคาพลังงาน อย่างที่รู้ๆ กันว่าด้วยภาวะสงครามที่เริ่มก่อตัวขึ้นจากรัสเซีย-ยูเครน ที่ยังคงฟาดฟันกันไม่หยุดหย่อน ส่งผลให้ราคาพลังงานปรับขึ้นยกแผง ทั้งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ ทำทั่วโลกเดือดร้อนไปตามๆ กัน

โดยเฉพาะบ้านเราที่หลายคนน่าจะรู้ซึ้งดีถึงราคาน้ำมันและค่าไฟที่แพงหูฉี่ บรรดาหน่วยงานด้านพลังงานก็อ้างว่าเป็นภาวะสงครามที่ดันราคาน้ำมันให้พุ่งขึ้นได้ขนาดนั้น ซึ่งล่าสุดราคาดีเซลก็ยังอยู่ที่ 34.94 บาท เนื่องจากภาครัฐใช้มาตรการตรึงไว้ ส่วนราคาน้ำมันชนิดอื่นๆ ก็เพิ่งปรับลงไปเมื่อวานนี้ 30 สตางค์ ยกเว้น E85 ที่ลงไป 10 สตางค์ แต่นั่นก็ยังสูงอยู่ดี

ขณะที่ค่าไฟฟ้าได้พุ่งปรอทแตก นั้นเป็นปัจจัยสำคัญมาจากก๊าซ LNG ที่เป็นเชื้อเพลิงที่ใช้ผลิตเป็นหลักมีราคาผันผวน โดยเมื่อช่วงปลายเดือนที่ผ่านมา (22 กันยายน 2565) นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ เลขาธิการพรรคสร้างอนาคตไทย ได้ออกมาให้ข้อมูลชำแหละประเด็นนี้ไว้ว่าปัจจัยที่ทำให้ค่าไฟแพงมาจากเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้า 54.8% ใช้ก๊าซธรรมชาติ การไฟฟ้าฝ่ายผลิต หรือ กฟผ. ผลิตอยู่ที่ 31% แต่เอกชน 31.2% กำลังผลิตตามสัญญาเอกชนคือ 51,828 เมกะวัตต์ มีไฟฟ้าส่วนเกินครึ่งหนึ่ง หรือพูดให้เข้าใจง่ายๆ ก็คือประชาชนกำลังแบกค่าเอฟที ที่ขณะนี้อยู่ที่ประมาณ 60-70 สตางค์นั่นเอง

ขณะที่ เรื่องค่าก๊าซแพง การใช้ก๊าซในอ่าวไทยลดลงมาตั้งแต่ปี 60 พอพ้นปี 63 ปริมาณการผลิตลดลง ส่งผลต้นทุนแพง ไทยเหลือก๊าซใช้เองไม่เกิน 7 ปี ดังนั้นไม่เกิน 10 ปีจากนี้เราต้องนำเข้า LNG ทั้งหมด และราคาที่สูงจะกินเวลาไปอย่างน้อยถึงเดือน มีนาคม 2566

นั่นหมายความว่าเราต้องทนแบกรับค่าไฟที่แพงขึ้นอีก…?

ในช่วงปีนี้กระแสรถพลังงานไฟฟ้าเริ่มจะบูมขึ้นเรื่อยๆ จากนโยบายส่งเสริมของภาครัฐ คนไทยก็เริ่มเปิดใจหันมาใช้รถยนต์ไฟฟ้ากันมากขึ้น เพราะเฉลี่ยดูอาจจะถูกกว่าน้ำมัน และมีหลายค่ายเข้ามาทำตลาดแข่งกันเป็นทางเลือกให้ประชาชน แต่ส่วนใหญ่ก็มองว่า “ยังไม่ตอบโจทย์นัก” ด้วยสถานีชาร์จที่ยังไม่ครอบคลุมทั่วประเทศ ตลาดจึงจำกัดอยู่ในเมืองใหญ่ที่มีสถานีให้บริการ แต่ก็ถือว่ายังน้อยมาก ด้วยปัจจัยเรื่องระยะเวลาชาร์จ การปรับหัวชาร์จกับไฟบ้าน ซึ่งไม่ใช่อยู่ดีๆจะสามารถลากสายไฟออกมาชาร์จรถได้เลย ต้องมีการติดตั้งอุปกรณ์เพิ่มอีกด้วย และที่สำคัญในยุค “ค่าไฟแพง” หลายคนอาจจะยังตัดสินใจแล้วตัดสินใจอีก

“แล้วทำไมไม่ใช้พลังงานทดแทนอื่นมาผลิตไฟฟ้าล่ะ” เชื่อว่าคำถามนี้เป็นคำถามที่หลายคนอยากถาม ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ระบุว่าที่ผ่านมาพยายามจะหาเชื้อเพลิงอื่นมาทดแทน เช่น น้ำมันดีเซล น้ำมันเตา ใช้พลังน้ำ เข้ามาช่วยให้ได้มากที่สุด แต่ระบบการผลิตไฟฟ้าบ้านเราพึ่งก๊าซธรรมชาติ 60% นำมาทดแทนได้บางส่วนเท่านั้น ไม่สามารถทดแทนได้หมด

ซึ่งขณะนี้ กระทรวงพลังงาน อยู่ระหว่างดำเนินการปรับแผนเชื้อเพลิงให้เหมาะสม ทั้งการใช้น้ำมันดีเซลเพื่อทดแทนแอลเอ็นจีที่มีราคาสูง การยืดอายุโรงไฟฟ้าถ่านหินแม่เมาะ อีกทั้งการไฟฟ้าฝ่ายผลิต (กฟผ.) สั่งจ่ายจากโรงไฟฟ้าต้นทุนที่ต่ำที่สุดก่อน เช่น โรงไฟฟ้าพลังน้ำ รวมถึงการปรับระบบไฟฟ้ารองรับพลังงานทดแทนที่จะเข้าระบบมากขึ้นให้มั่นคง โดยได้จัดทำโครงข่ายระบบไฟฟ้ามีความทันสมัยยืดหยุ่น (Grid Modernization) สามารถนำพลังงานหมุนเวียนมาปรับใช้ได้อย่างเหมาะสมพัฒนาระบบกักเก็บพลังงานในรูปแบบต่างๆ

ยังรวมไปถึงการจัดทำโครงข่ายระบบ Grid Modernization เช่น ระบบแบตเตอรี่กักเก็บพลังงาน (BESS) ที่เชื่อมต่อกับระบบส่งไฟฟ้า หรือ Grid Scale นำร่องใช้งานที่สถานีไฟฟ้าแรงสูงชัยบาดาล จ.ลพบุรี กำลังผลิตไฟฟ้า 21 เมกะวัตต์-ชั่วโมง (MWh) และที่สถานีไฟฟ้าแรงสูงบำเหน็จณรงค์ จ.ชัยภูมิ กำลังผลิตไฟฟ้า 16 MWh รวมทั้งสิ้น 37 MWh นับว่ามีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ซึ่งสามารถตอบสนองต่อระบบไฟฟ้าได้อย่างรวดเร็ว เพราะจ่ายกำลังไฟฟ้าได้ภายในเวลาไม่เกิน 200 มิลลิวินาที เพื่อช่วยรักษาเสถียรภาพในระบบไฟฟ้า

นอกจากนี้ กกพ. ยังได้เปิดรับซื้อไฟฟ้าพลังงานสะอาดหรือพลังงานทดแทนจากเอกชน 5,203 เมกะวัตต์ ในรูปแบบ Feed-in Tariff (FiT) ปี 2565–2573 สำหรับกลุ่มโรงไฟฟ้าประเภทไม่มีต้นทุนเชื้อเพลิง พ.ศ.2565 โดยจะรับซื้อไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน 3 ประเภท ได้แก่ ก๊าซชีวภาพ (น้ำเสีย/ของเสีย) พลังงานลม พลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดิน และพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดินร่วมกับระบบกักเก็บพลังงาน (Battery Energy Storage System: BESS) ให้ยื่นข้อเสนอขายไฟฟ้า 4 พฤศจิกายน 2565 และจะประกาศผู้ชนะได้ มีนาคม 2566 นี้

และเมื่อไม่กี่วันมานี้ กระทรวงพลังงาน ยังเตรียมจะยืดมาตรการพยุงค่าไฟฟ้าออกไปอีกจนถึงไตรมาส 1 ของปี 2566 โดยจะตรึงไว้ให้ที่ 4.72 บาทต่อหน่วย หวังใจว่าจะช่วยแบ่งเบาภาระ และเพื่อเป็นของขวัญปีใหม่ให้กับประชาชนด้วย

อีกทางคือ กกพ. จัดทำ “โครงการโซลาร์ภาคประชาชน” รับซื้อไฟฟ้าส่วนเกินปีละ 10 เมกะวัตต์ แบ่งเป็นในส่วนของการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) 5 เมกะวัตต์ และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) 5 เมกะวัตต์ ในราคารับซื้อไฟฟ้าที่ 2.20 บาทต่อหน่วย เป็นระยะเวลารับซื้อไฟฟ้า 10 ปี จากที่เมื่อปี 2562 รัฐประกาศรับซื้อในราคา 1.68 บาท และกำหนดวันจ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ตามสัญญา (ซีโอดี) ภายใน 270 วัน นับแต่วันที่ทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้า แต่ทว่ายังมีอุปสรรคในเรื่องของการเชื่อมต่อระบบให้สามารถจ่ายไฟฟ้า และใช้งานอุปกรณ์ที่ต้องใช้เวลานานรวมทุกขั้นตอนประมาณ 90–135 วัน ต่อมาได้ปรับเหลือเป็น 30 วันแล้ว

ประเด็นสำคัญไม่ได้อยู่ที่ขายได้ไม่ได้ แต่คือต้นทุน เพราะค่าอุปกรณ์ ติดตั้งโซลาร์เซลจะอยู่ที่ประมาณ 30,000–50,000 บาทต่อ kW แม้จะถูกลงกว่าเมื่อก่อน ที่ 70,000–100,000 บาทก็ตาม แต่ก็ยังถือว่าหนักหนาเอาการ หากยกตัวอย่าง เช่น ระบบโซล่าเซลล์ขนาด 5 kW จะเงินลงทุนประมาณ 220,000 บาท จะสามารถผลิตไฟฟ้าได้ 6,500 หน่วยต่อปี สำหรับบ้านทั่วไปที่เป็นผู้ใช้ขนาดกลาง ค่าไฟเฉลี่ยประมาณ 4.4 บาทต่อหน่วย ระบบโซล่าเซลล์จะช่วยลดค่าไฟฟ้าได้ 28,600 บาทต่อปี ทำให้มีจุดคุ้มทุนอยู่ที่ประมาณ 8 ปี ในทางกลับกันถ้าผลิตไฟฟ้าเพื่อที่จะขายไฟคืนให้กับการไฟฟ้าฯ ถ้าในปี 62 ราคารับซื้อ 1.68 บาทต่อหน่วย จะขายไฟฟ้าได้เงินเพียง 10,920 บาทต่อปี ทำให้ระยะเวลาคืนทุนยาวออกไปถึง 22 ปีเลยทีเดียว นั่นก็แสดงว่าคนที่ลงทุนไปเมื่อ 3 ปีก่อนก็คงจะยัง “ไม่คืนทุนหรอก”

ไอเดียของ กกพ. เน้นให้ติดเพื่อใช้งานเองเป็นหลัก ส่วนที่เกินค่อยขาย แต่ถ้าย้อนกลับไปดูต้นทุนติดตั้งในยุคที่ต้องประหยัด ข้าวของก็แพง หนี้สินยังติดตัว ก็อาจจะเป็นทางเลือกลำดับท้ายๆ ของประชาชนเป็นแน่

การส่งเสริมพลังงานทดแทน นับว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี และอาจจะจำเป็นยิ่งขึ้นถ้าในอนาคตอันไม่ใกล้ไม่ไกลก๊าซหรือน้ำมันหมดไปจากโลก ไม่มีเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้า น่าจะเป็นการเตรียมพร้อมเพื่อเปลี่ยนผ่านไปสู่อีกยุคก็ได้ เพราะปัจจุบันเราก็กำลังจะเข้าสู่ยุคราคาพลังงานไต่เพดานอยู่แล้ว แต่สิ่งที่ประชาชนต้องการจริงๆ คือความชัดเจน ส่งเสริมจริงจัง ไปให้สุด อย่าหยุดที่กลางทางก็พอ…

 

BTimes