สินเชื่อรถส่อปัญหาหลังสิ้นสุดมาตรการพักหนี้ กดดันผ่อนต่อไม่ไหว ดึงพายุยึดรถซัดคืนไทย

737
0
Share:

สินเชื่อ รถส่อแววก่อปัญหาหลังสิ้นสุดมาตรการพักหนี้ กดดันผ่อนต่อไม่ไหว ดึงพายุ ยึดรถ ซัดคืนไทย คาดอาจแตะ 180,000 คัน เสี่ยงเกิดหนี้เสียตามมาหรือไม่?

ตั้งแต่ปลายปีที่ผ่านมาจนถึงต้นปีนี้ หลายฝ่ายต่างมองว่าอะไรๆ ก็เริ่มดีขึ้น โดยเฉพาะการท่องเที่ยวที่กระตุ้นให้หลายธุรกิจฟื้นตัว มีการจับจ่ายใช้สอย เกิดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ ซึ่งดูแนวโน้มแล้วน่าจะเป็นไปในทิศทางบวก

แต่สิ่งที่น่ากังวลตามมานั่นก็คือหลังจากช่วงวิกฤตโควิดคลี่คลาย บรรดาแบงก์ สถาบันการเงินต่างๆ ทยอยยกเลิกมาตรการช่วยเหลือด้านสินเชื่อ ไม่ว่าจะเป็นการตรึงดอกเบี้ย เงินต้น หรือการพักชำระหนี้ลูกค้า หลายคนอาจจะยังรับมือไม่ทัน ชักหน้าไม่ถึงหลัง บางคนอาจจะยังตกงาน หางานไม่ทัน ค่าผ่อนรถผ่อนบ้านก็ดันตามเก็บมาแล้ว นั่นก็อาจจะเป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้คนที่ซื้อรถเงินผ่อนต้องโดนยึดรถคืนไป

ธนาคารเกียรตินาคินภัทร (KKP) เปิดเผยว่า จากแนวโน้มเศรษฐกิจที่มีการฟื้นตัว กิจกรรมทางเศรษฐกิจทยอยกลับมาตามการเปิดประเทศ ลูกค้าที่ขอความช่วยเหลือผ่านมาตรการเริ่มทยอยลดลง ซึ่งธนาคารก็หวังว่าสถานการณ์รถยึดไม่น่าจะเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ แต่ก็ขึ้นกับปัจจัยในแต่ละเดือน แต่ในกรณีลูกค้าที่ธนาคารได้ให้ความช่วยเหลือผ่านมาตรการต่างๆ แล้ว 4 ครั้งแล้ว ลูกค้ายังไม่สามารถกลับมาชำระได้ กลุ่มนี้ธนาคารจะเข้าไปขอยึดรถแทน

ซึ่งโดยปกติการที่แบงก์จะยึดรถได้ต้องพิจารณาจากหลายปัจจัยที่จะปรับเปลี่ยนขึ้นลง ตามปัจจัยแวดล้อมทางเศรษฐกิจ และพอร์ตสินเชื่อของธนาคารเป็นหลัก เนื่องจากพอร์ตธุรกิจเช่าซื้อของ KKP กว่า 60% เป็นรถเก่า ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงค่อนข้างสูงที่จะได้รับผลกระทบทั้งจากเศรษฐกิจและภาวะตลาดโดยรวม ทำให้อัตราการยึดรถจะสูงกว่ารถยนต์ใหม่ โดยในปีนี้ธนาคารคาดหวังว่าอัตราการยึดรถและคืนรถในปีนี้สูงสุดจะไม่เกิน 2,000-2,500 คันต่อเดือน

เมื่อธนาคารยึดรถมาแล้ว รถกลุ่มนี้ก็จะเข้าสู่ระบบรถมือสอง หรือลานประมูลรถมือสองต่อไป ซึ่งเป็นที่แน่ชัดว่า จากการสิ้นสุดมาตรการช่วยเหลือด้านสินเชื่อทำให้รถถูกยึดมากขึ้น ซึ่งบริษัท สยามอินเตอร์ การประมูล จำกัด (SIA) บริษัทประมูลรถรายใหญ่อันดับต้นๆ ในประเทศไทย ระบุว่าตั้งแต่ต้นปีเริ่มเห็นรถยึดไหลเข้าลานประมูลอย่างต่อเนื่อง เพราะมาตรการเยียวยาต่างๆเริ่มทยอยหมดลง ทำให้คาดการณ์ว่าตลาดรถยึดเข้าลานประมูลทั้งระบบปีนี้น่าจะโตประมาณ 20-30% จากปี 2565 จึงคาดว่ายอดประมูลขายรถจะเพิ่มขึ้น 1 เท่าตัว จากเดิมจะมียอดอยู่ที่ 2,500-3,000 คันต่อเดือน จากปีก่อนไม่ถึง 2,000 คันต่อเดือน และทั้งปีน่าจะอยู่ที่ประมาณ 30,000 คัน ทั้งรถยนต์และรถจักรยานยนต์

ด้านบริษัท แอพเพิล ออโต้ ออคชั่น (ประเทศไทย) จำกัด บอกว่าภาพรวมการคืนรถหรือยึดรถสู่ธุรกิจลานประมูล น่าจะคึกคัก แต่สิ่งที่น่ากังวลนั่นก็คือการแข่งขันกันปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงินที่คาดว่าจะมีมากขึ้น อาจจะเสี่ยงก่อให้เกิดหนี้ NPL หรือหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้เร่งตัวขึ้น โดยในปี 2566 คาดว่าจะมีรถไหลเข้าสู่ลานประมูล กลับเข้าสู่ระดับปกติเท่ากับก่อนเกิดโควิด-19 หรือประมาณ 150,000 -180,000 คัน จากปีที่แล้วที่มีรถยึดเข้ามาประมาณ 120,000 คัน ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจาก ปีที่ผ่านมามีมาตรการช่วยเหลือของแบงก์ชาติ ทำให้สถาบันการเงินชะลอการยึดรถ แต่ปีนี้เมื่อมาตรการดังกล่าวสิ้นสุดลง ก็จะส่งผลให้การยึดรถและรถที่เป็นหนี้เสียไหลเข้าลานประมูลมากขึ้น

แต่ในเมื่อผ่อนไม่ไหวแล้วจริงๆ ทำยังไงดีให้จบหนี้…

วิธีแรกคือ “ขายดาวน์” ให้คนที่สนใจซื้อรถต่อ และเปลี่ยนชื่อในสัญญา (มีค่าเปลี่ยนสัญญา หรือบางแห่งอาจไม่ยอมให้เปลี่ยนสัญญา) แม้ราคาที่ได้อาจไม่เท่ากับเงินดาวน์ และค่างวดที่จ่ายไปแล้ว แต่ก็ไม่ต้องเจ็บตัวเพิ่ม เพราะถ้าโดนปล่อยยึด อาจต้องตามใช้หนี้ส่วนต่างอีกไม่น้อย ซึ่งการขายดาวน์ยังทำให้ได้เงินก้อนมาหมุน และไม่ต้องเสียเครดิตทางการเงิน แต่จะต้องระบุในสัญญาซื้อขายให้ชัดเจนว่าหลังจากนี้ผู้ขายจะไม่ต้องรับผิดชอบอะไรอีก

วิธีที่สองคือ “ขายรถ” ให้ยอมตัดใจขายรถไปเลย ซึ่งจะต้องไปติดต่อกับไฟแนนซ์ เนื่องจากเล่มทะเบียนรถอยู่ที่ไฟแนนซ์ โดยตกลงกันว่า ต้องใช้เงินเท่าไรในการปิดยอดสินเชื่อ จากนั้นจึงไปตกลงราคาขายกับผู้ซื้อ นำเงินมาปิดยอดที่ค้าง พร้อมโอนชื่อเจ้าของรถให้ผู้ซื้อ แม้จะดูยุ่งยาก แต่ก็เป็นอีกทางเลือกที่คุ้มค่า ไม่ต้องมีภาระหนี้ติดตัว

และอีกวิธีนั่นก็คือ “คืนรถ” โดยให้ไปเจรจากับไฟแนนซ์ เพื่อขอคืนรถ โดยจะต้องตกลงให้ชัดเจนว่าหากคืนรถแล้วจะต้องจ่ายอะไรเพิ่มอีกหรือไม่ หากมีต้องจ่ายเท่าไร และทำสัญญาให้ชัดเจนว่าจะไม่รับผิดชอบอะไรอีกหลังจากนี้ ถ้าไม่มียอดค้างชำระ จะเป็นการคืนรถโดยไม่ผิดสัญญา ไฟแนนซ์อาจคิดค่าส่วนต่างเวลาที่ขายรถขาดทุนเท่านั้น

แต่ถ้าค้างค่างวดเกิน 3 งวด จนถูกบอกเลิกสัญญา แล้วไม่นำรถไปคืนไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดๆ ก็ตาม ไฟแนนซ์สามารถติดตามยึดรถผู้เช่าซื้อ และผู้ค้ำประกันได้ หลังฟ้องคดีต่อศาล และศาลตัดสินให้เจ้าหนี้ชนะคดีเท่านั้น เพราะฉะนั้นพยายามอย่าผิดนัดจ่ายหนี้เกินนี้เด็ดขาด!!

เอาเป็นว่าถ้าเป็นไปได้ก็คงไม่มีใครอยากโดนยึดรถหรอกเนอะ ในยุคที่อะไรๆ ก็แพง ดอกเบี้ยเงินกู้ก็ยังมาขึ้น ถ้าไม่ไหวจริงๆ ก็ขอให้เลือกวิธีที่ดีที่สุด อย่าถึงขั้นต้องเสียเครดิต เพราะจะมีผลต่อการขอสินเชื่อครั้งต่อไป ทีมงาน BTimes ก็ขอเป็นกำลังใจให้กับทุกท่านที่กำลังเผชิญวิกฤตการผ่อนชำระหนี้ตอนนี้ให้ผ่านพ้นไปได้ด้วยดีนะคะ…

BTimes