วิกฤตโรคระบาด ฟรีแลนซ์ VS มนุุษย์เงินเดือน ใครจะเป็นผู้อยู่รอด?

781
0
Share:

วิกฤตโรคระบาด ฟรีแลนซ์ VS มนุุษย์เงินเดือน ใครจะเป็นผู้อยู่รอด?

ช่วงเวลาที่ยากลำบากนี้ ไม่ว่าอาชีพไหนก็ต้องดิ้นทุกทาง เพื่อให้ตัวเองรอด

พนักงานประจำ หรือที่ถูกเรียกจนคุ้นหูว่า ‘มนุษย์เงินเดือน’ คือพนักงานที่ถูกจ้างงานจากองค์กรโดยตรง ทำงานเป็นประจำและเต็มเวลา โดยได้รับเงินเดือน หรือค่าจ้าง และสวัสดิการต่างๆ เป็นการตอบแทน

ส่วนฟรีแลนซ์ คืออาชีพของกลุ่มคนที่มีทักษะความเชี่ยวชาญเฉพาะทางในด้านต่างๆ สามารถเลือกรับงานเป็นครั้งคราวได้ ไม่จำเป็นต้องทำงานที่ออฟฟิศ หรือผูกมัดกับบริษัทใดบริษัทหนึ่ง เรียกได้ว่าเป็นอาชีพแห่งความอิสระ รวมถึงสามารถกำหนดค่าจ้างเองได้ บางรายสามารถแจ้งระยะเวลาการทำงานที่สะดวกได้ด้วยเช่นกัน แต่ฟรีแลนซ์จะมีรายได้ที่ไม่แน่นอน และไม่มีสวัสดิการ ซึ่งทั้งสองอาชีพนี้ต่างมีข้อดีและข้อเสียที่แตกต่างกัน

กลับมาที่ปัจจุบันที่ทั่วโลกต่างพบการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ส่งผลให้การใช้ชีวิตของมนุษย์เปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิง และต้องปรับตัวให้เข้ากับวิถี New normal จากเดิมที่พนักงานประจำต้องไปทำงานที่ออฟฟิศ เข้า-ออกตามเวลาที่องค์กรกำหนด เปลี่ยนเป็นต้องทำงานอยู่ที่บ้าน (Work From Home) บางคนโชคดีก็ยังคงได้รับเงินเดือนเต็มจำนวน แต่บางคนกลับต้องเผชิญกับการปรับโครงสร้างองค์กร นายจ้างจำเป็นต้องปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ โดยการลดปริมาณงาน ลดขนาดองค์กร ถ้าโชคร้าย สายป่านไม่พอ ก็ต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบการจ้างงานจาก Full -time เป็น Part-time แทน เพื่อลดค่าใช้จ่าย ดังนั้นปัญหานี้อาจส่งผลกระทบโดยตรงกับพนักงานประจำที่มีรายได้หลักคือเงินเดือน

ในส่วนของอาชีพฟรีแลนซ์ก็มีทั้งสายงานที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักหน่วง เช่น งานประเภทเน็ตไอดอล นักร้อง นักแสดง บล็อกเกอร์ เขียนแบบ วิศวกรรม การออกแบบโครงสร้าง และช่างถ่ายภาพ ที่อาจมีการลดการจ้างงาน เนื่องจากสถาการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19

แต่สำหรับบางสายงานถือว่าโชคเข้าข้าง โอกาสวิ่งเข้าหา เรียกได้ว่าแจ้งเกิดกันเลยทีเดียว สายงานนั้นก็คืองานประเภทออนไลน์ที่กำลังได้รับความนิยมเป็นอย่างมากในช่วงเวลานี้ อาทิ Graphic Design, Marketing, Content Creator เป็นต้น

แต่ดูเหมือนว่าอาชีพฟรีแลนซ์จะไม่ได้จำกัดแค่เฉพาะใครคนใดคนหนึ่งเท่านั้น เพราะในยุคนี้อาชีพเดียวอาจไม่เพียงพอ ทำให้คนที่มีความสามารถ มีทักษะเฉพาะกลายเป็นคนที่ตลาดต้องการ และอาจมีโอกาสก้าวเข้ามารับบทบาทในอีกหัวโขนหนึ่ง เพื่อสร้างมูลค่าจากความสามารถที่มีอยู่แต่ไม่ได้ถูกใช้เป็นงานประจำ ซึ่งสอดคล้องกับข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติในปี พ.ศ.2563 พบว่าคนที่ประกอบอาชีพฟรีแลนซ์ในประเทศไทยมีจำนวนถึง 1.3 แสนคน และมีอัตราการเติบโตสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องเพิ่มขึ้นถึง 29.9% ต่อปี แต่ถึงอย่างไรแล้วการมีงานทำย่อมดีกว่าการว่างงาน

คำถามที่ว่าใครจะเป็นผู้อยู่รอดในสมรภูมิการต่อสู้ระหว่างโลกมนุษย์กับโรคระบาดในตอนนี้ เป็นคำถามที่ไม่มีใครรู้คำตอบนอกจากตัวคุณเอง เพียงแค่ลองปรับตัวและมองหาโอกาสใหม่ๆ ในช่วงแรกอาจจะต้องใช้ความพยายามและความอดทนมากกว่าเดิม แต่เชื่อว่าแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์นั้นจะเป็นแสงสว่างของทางรอดให้กับทุกคน

สุดท้ายทีมงาน BTimes ขอเป็นกำลังใจให้ทุกคนสามารถก้าวผ่านความยากลำบากนี้ไปได้ และเชื่อว่าเมื่อทุกอย่างกลับมาฟื้น ทุกคนจะสามารถอยู่รอดในยุคที่โรคเปลี่ยนโลกได้อย่างแน่นอน สู้ๆ นะคะ

BTimes