ภาษีเงินได้ เราจ่าย… จ่ายแล้วใครได้ จ่ายแล้วไปอยู่ที่ไหน ?

1028
0
Share:

ถ้าพูดถึง ‘ภาษี’ ช่วงนี้คงเป็นประเด็นร้อนอยู่ไม่น้อย เนื่องจากประชาชนคนไทยที่มีรายได้ในหลากหลายอาชีพต่างเกิดข้อสงสัยถึงจุดหมายปลายทางของเงินที่ต้องเสียให้แก่รัฐบาลเป็นประจำทุกปีนั้นว่าคุ้มค่ากับสิ่งที่ได้กลับคืนมามากน้อยแค่ไหน

หากจะอธิบายสั้นๆ พอสังเขป จะพบว่าภาษีที่เราต้องจ่ายนั้น ถูกแบ่งออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่
1. ภาษีทางตรง เป็นภาษีที่เรียกเก็บจากบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคล เช่น ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม เป็นต้น
2. ภาษีทางอ้อม เป็นภาษีที่เรียกเก็บจากบุคคลอื่น แต่ผู้เสียภาษีต้องรับภาระในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง เช่น ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีธุรกิจเฉพาะ ภาษีสินค้าเข้า-ออก เป็นต้น

และแหล่งภาษีหลักของประเทศไทยมาจาก 3 แหล่ง ได้แก่
1. ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
คือ ภาษีที่เก็บจากบุคคลทั่วไปที่มีรายได้ตามเกณฑ์ที่กำหนด ยิ่งมีรายได้มากยิ่งต้องเสียภาษีมากตามหลักขั้นบันได ซึ่งในปัจจุบันอัตราสูงสุดในการเสียภาษีจะอยู่ที่ 35%
2. ภาษีเงินได้นิติบุคคล
คือ ภาษีที่จัดเก็บจากเงินได้ของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล โดยอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลสูงสุดจะอยู่ที่ 20%
3. ภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือ VAT (Value-added tax)
คือ การเก็บภาษีจากการซื้อสินค้าหรือการเข้ารับบริการ โดยจัดเก็บเฉพาะในส่วนของมูลค่าที่เพิ่มขึ้นในแต่ละขั้นการผลิต การจำหน่าย หรือการให้บริการ ซึ่งในประเทศไทยได้กำหนดอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มไว้ที่ 7%

โดยหน่วยงานที่ทำหน้าที่ดูแลเกี่ยวกับการจัดการภาษี คือกระทรวงการคลัง แบ่งย่อยออกเป็น 3 กรมที่แยกหน้าที่กันดูแลได้แก่
1. กรมสรรพากร มีหน้าที่จัดเก็บภาษี อาทิ ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภาษีนิติบุคคล ภาษีมูลค่าเพิ่ม(VAT) และภาษีอื่นๆ
2. กรมศุลกากร มีหน้าที่จัดเก็บภาษีเกี่ยวกับการนำเข้า-ส่งออก
3. กรมสรรพสามิต มีหน้าที่จัดเก็บภาษีสินค้าฟุ่มเฟือย อาทิ สินค้าประเภทสุรา บุหรี่ รถยนต์

ภาษีที่กล่าวไปข้างต้นถือเป็นแหล่งรายได้สำคัญของรัฐบาลที่นำมาใช้ในการพัฒนาประเทศ ซึ่งในร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2564 ได้กำหนดงบประมาณของรัฐบาลไว้ที่ 3, 285, 962, 479, 700 ล้านบาท และในแต่ละปีจะถูกแบ่งใช้ในกิจกรรมของ 5 กลุ่มหลัก คือ
1. กลุ่มงบประมาณรายจ่าย กระทรวง/หน่วยงาน
2. กลุ่มงบประมาณรายจ่ายบูรณาการ
3. กลุ่มงบประมาณรายจ่ายพื้นที่
4. กลุ่มงบประมาณรายจ่ายบริหารจัดการหนี้ภาครัฐ
5. กลุ่มงบประมาณแผนงานบุคลากรภาครัฐ

หากอ้างตามหลักการแล้วนั้น ประชาชนทุกคนที่มีรายได้จะต้องเสียภาษีให้แก่รัฐบาลในการนำไปบริหารและพัฒนาประเทศ เพื่อยกระดับความเป็นอยู่ของประชาชนให้ดีขึ้น ทำให้ภาษีไม่ได้เป็นเพียงแค่ตัวเลข แต่ยังเป็นภาพสะท้อนการทำงานของรัฐบาลว่ามีประสิทธิภาพหรือไม่ ดังนั้นในฐานะที่เราเป็นผู้เสียภาษี จึงมีสิทธิ์รับรู้ว่าเงินภาษีที่เราจ่ายไปถูกนำไปใช้ให้เกิดความคุ้มค่าอย่างไรบ้าง

เมื่อเอาไปเปรียบเทียบกับ 150 ประเทศทั่วโลก ในส่วนของอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา จะพบว่าข้อมูลของ KPMG ซึ่งเป็นบริษัทตรวจสอบบัญชีรายใหญ่ของโลก ระบุว่าในปี 2562 ผู้เสียภาษีเงินได้ในประเทศสวีเดนได้จ่ายภาษีในอัตราที่สูงที่สุดเป็นอันดับ 1 ของโลกอยู่ที่ 57.19% ส่วนในประเทศไทยมีการจัดเก็บภาษีเงินได้อยู่ในอันดับที่ 24 ของโลก และอันดับ 8 ของเอเชีย หรืออยู่ที่ 35% ซึ่งคุณภาพชีวิตที่ประชาชนในแต่ละประเทศจะได้รับนั้น ขึ้นอยู่กับความสามารถในการบริหารประเทศของรัฐบาลว่าจะกางแผนบริหารออกมาในทิศทางไหน

มองรวมๆ แล้วดูเหมือนว่าภาษีนั้นจะเป็นเรื่องไกลตัว แต่ความเป็นจริงภาษีอยู่ในทุกๆ การใช้ชีวิตประจำวันของเรา ไม่ว่าจะเป็นการใช้บริการขนส่งสาธารณะ ค่า VAT ที่ต้องจ่ายเพิ่มตามร้านค้าร้านอาหารต่างๆ ซึ่งบางครั้งเราอาจไม่ทันได้สังเกต หรือแม้กระทั่งบางสิ่งบางอย่างที่ประชาชนไม่ได้มีความต้องการที่ไม่เกี่ยวข้องกับปากท้องและความเป็นอยู่ เช่น เรือดำน้ำ อาวุธยุทโธปกรณ์ต่างๆ ที่ทางการสั่งซื้อ แต่สุดท้ายก็เข้าใจในเหตุผลที่ว่าซื้อเพื่อความมั่นคงของประเทศ กลับกันก็แอบเกิดคำถามคันยุบยิบในใจว่าในขณะที่ถนนบางสายในหลายพื้นที่ยังคงมีความขรุขระเหมือนผิวดาวอังคาร แต่ทำไมงบประมาณในการปรับปรุงซ่อมแซมถึงยังคงเข้าไม่ถึงสักที…

แต่ถึงอย่างไรแล้วการเสียภาษีก็ถือเป็นหน้าที่ของพลเมืองที่ดี และการหนีภาษีถือเป็นเรื่องผิดกฎหมายที่ไม่ควรกระทำ เพราะอย่างน้อยเราก็ได้ทำหน้าที่ทุกอย่างถูกต้องตามกฎหมายตามแนวทางของการเป็นพลเมืองที่ดีในประเทศแล้ว

และสุดท้ายแฟนๆ BTimes ที่ยังไม่ได้ยื่นเรื่องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา สามารถยื่นแบบออนไลน์ได้แล้วตั้งแต่วันนี้ จนถึง 30 มิถุนายน 2564 อย่าลืมเสียภาษีให้ถูกต้องกันนะคะ ^^

BTimes