มาตรการเยียวยาเราชนะ สุดท้ายใครชนะ ?

1086
0
Share:

มาตรการเยียวยา เราชนะ สุดท้ายใครชนะ ?
เมื่อความเหลื่อมล้ำกัดกินการดำเนินชีวิต แถมยังถูกโรคระบาดโควิด-19 ระลอกใหม่เล่นงานซ้ำ ส่งผลให้หลายครัวเรือนได้รับความลำบากสะสม ทำให้ภาครัฐต้องเร่งออกมาตรการเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบอย่างเร่งด่วน คลอดออกมาเป็นโครงการเราชนะ แต่ทุกการช่วยเหลือย่อมมีเงื่อนไข ทำให้เกิดข้อถกเถียงมากมายว่าสุดท้ายแล้วโครงการนี้ช่วยเหลือได้ครอบคลุมจริงหรือไม่ และใครกันแน่ที่เป็นผู้ชนะ?

เยียวยาคนไทยทุกระดับกับโครงการเราชนะ
จากกระแสข่าวที่รัฐบาลมีแผนในการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากมาตรการควบคุมพื้นที่การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ในช่วงแรกที่ค่อนข้างทุลักทุเลและสร้างประเด็นฮือฮาได้พอสมควร เนื่องจากประชาชนระดับรากหญ้า หรือแรงงานในหลายพื้นที่ไม่สามารถลงทะเบียนเข้ารับการช่วยเหลือได้ จากสาเหตุการไม่มีสมาร์ทโฟน และสิทธิ์ในการช่วยเหลือมีอย่างจำกัด จนล่าสุดรัฐบาลตัดสินใจเปิดโครงการ ‘เราชนะ’ ให้วงเงินช่วยเหลือค่าครองชีพ 7,000 บาท โดยจะเป็นการเติมเงินเข้าแอปพลิเคชันเป๋าตังแทนเงินสดสัปดาห์ละ 1,000 บาท ติดต่อกันทุกสัปดาห์จนครบ 7,000 บาท ซึ่งหลังจากประกาศโครงการนี้ออกมาก็พบกับเสียงวิพากย์วิจารณ์มากมายว่าทำไมไม่ให้เป็นเงินสด เพราะคนไทยทุกคนไม่ได้มีสมาร์ทโฟนและอินเทอร์เน็ต ยิ่งในยุคโรคระบาดที่ทำให้เกิดความไม่แน่นอนในด้านรายได้ ส่งผลให้หลายครัวเรือนตัดสินใจรัดเข็มขัด ลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น เปลี่ยนทรัพย์สินเป็นเงินสด เพื่อนำไปใช้ประทังชีวิตในแต่ละวัน

เมื่อโครงการเราชนะทำธนาคารแทบแตก
หลังจากพบเจอกับเสียงสะท้อนอย่างหนัก ทำให้รัฐบาลตัดสินใจเปิดการช่วยเหลือ 2 แนวทาง สำหรับผู้มีสมาร์ทโฟน และไม่มีสมาร์ทโฟน ด้วยการให้ประชาชนที่ไม่มีสมาร์ทโฟนสามารถไปลงทะเบียนโครงการเราชนะได้ที่ธนาคารกรุงไทยทุกสาขาและหน่วยบริการเคลื่อนที่ โดยใช้บัตรประจำตัวประชาชนแบบสมาร์ทการ์ดในการยืนยันตัวตน ผลปรากฏว่าในวันแรกที่เปิดให้ลงทะเบียนมีประชาชนเดินทางไปยื่นสิทธิ์เป็นจำนวนมากจนธนาคารแทบแตก ซึ่งผู้ที่ไปส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มผู้สูงอายุที่ออกจากบ้านกันมาตั้งแต่เช้ามืด เพื่อมาเข้าคิวรับการลงทะเบียน เพราะกลัวลงทะเบียนไม่ทันแล้วจะไม่ได้รับเงินเยียวยา จนเกิดกระแสฮือฮาบนโลกออนไลน์อีกครั้ง เมื่อมีผู้ใช้งานหลายท่านร่วมแชร์ภาพการต่อคิวที่ยาวสุดลูกหูสุดตา อีกทั้งยังมีคลิปการสัมภาษณ์ความเห็นจากผู้สูงอายุที่สร้างแง่คิดในใจว่าการแก้ปัญหานี้นั้นตรงจุดแล้วหรือยัง จนล่าสุดกระทรวงการคลังได้ออกประกาศขยายสิทธิ์การลงทะเบียนโครงการเราชนะสำหรับผู้ที่ไม่มีสมาร์ทโฟนออกไปถึงวันที่ 5 มีนาคม 2564 รวมถึงอำนวยความสะดวกด้วยการเพิ่มบริการทำบัตรประชาชนแบบสมาร์ทการ์ดแก่ประชาชนที่มีบัตรประชาชนรูปแบบเก่า หรือบัตรประชาชนชำรุด ให้สามารถลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการฯ ได้

สุดท้ายแม้จะมีมาตรการช่วยเหลือประชาชนจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 แล้ว แต่วิกฤตโรคระบาดครั้งนี้ยังสาหัสยิ่งนัก เพราะเชื้อร้ายได้พ่นพิษทำลายระบบเศรษฐกิจและธุรกิจที่เป็นรายได้หลักของประเทศ ทำให้ต้องใช้ระยะเวลาในการฟื้นทั้งระบบเศรษฐกิจและระบบการจ้างงานให้กลับมาเป็นปกติอีกครั้ง โดยเน้นการบริโภคในประเทศมากขึ้น และไม่ต้องพึ่งพิงรายได้หลักจากภาคการท่องเที่ยวเพียงทางเดียว เพื่อทำให้ประเทศและประชาชนสามารถยืนด้วยขาตัวของตนเองได้อย่างมั่นคง

ใครที่ลงทะเบียนแล้ว อย่าลืมไปตรวจสอบสิทธิ์ของตนเอง หากตกหล่นผิดพลาดจะได้รีบแก้ไขได้ทันท่วงทีค่ะ ทีมงาน BTimes ขอเป็นกำลังใจให้กับทุกคนนะคะ ^^

BTimes