เตรียมพร้อมยื่นภาษี 2565 อยากลดค่าใช้จ่าย หักลดหย่อนอะไรได้บ้าง

756
0
Share:

เตรียมพร้อม ยื่นภาษี 2565 อยากลดค่าใช้จ่าย หักลดหย่อนอะไรได้บ้าง - ลดหย่อนภาษี 2565

ใกล้สิ้นปีก็ใกล้จะถึงกำหนดยื่นภาษีประจำปีเงินได้บุคคลธรรมดา ซึ่งในปีภาษีนี้กรมสรรพากรได้เปิดให้ยื่นตั้งแต่วันที่ 1 มกราคมจนถึง 31 มีนาคม 2566 แต่ถ้ายื่นออนไลน์ จะได้ถึง 8 เมษายน 2566 แล้วแต่ว่าใครสะดวกช่องทางไหน ซึ่งตามกฎหมายแล้วคนไทยทุกคนที่มีเงินได้เกิน 120,000 บาทต่อปีขึ้นไป จะต้องมีหน้าที่ยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา แต่จะเสียภาษีหรือไม่ ก็ขึ้นอยู่กับเงินได้สุทธิของแต่ละคน

โดยจะคิดจากการนำเงินได้ทั้งปี หักค่าใช้จ่าย และหักลดหย่อนภาษีที่มีทั้งหมด โดยเงินได้ทั่วไป (เงินเดือน โบนัส หรือค่าจ้าง) สามารถหักค่าใช้จ่ายได้ 50% แต่ไม่เกิน 100,000 บาท หากรายได้สุทธิไม่เกิน 150,000 บาท ก็จะได้รับการยกเว้นภาษี แต่ถ้าเกินกว่านั้น ก็จะเสียภาษีในอัตราเริ่มต้น 5% และจะสูงขึ้นตามอัตราภาษีแบบขั้นบันได แต่รายการลดหย่อนภาษีจะช่วยทำให้รายได้สุทธิให้ลดลง จึงเสียภาษีน้อยกว่าคนที่ไม่มีรายการลดหย่อนภาษีเลย

อัตราภาษีแบบขั้นบันไดที่กรมสรรพากรกำหนดไว้ เช็กได้จากลิงก์นี้ http://bit.ly/3g0afW7

การยื่นภาษีมีด้วยกัน 2 แบบ คือ แบบ ภ.ง.ด.90 และ ภ.ง.ด.91 ถ้าจะให้มองเห็นภาพง่ายๆเลย ก็คือ คนมีเงินเดือน โบนัส ค่าครองชีพก็ให้ยื่นแบบ ภ.ง.ด.91 หรือคนที่มีรายได้เป็นเงินเดือนเพียงอย่างเดียว โดยไม่มีรายได้ทางอื่น ส่วนคนที่มีรายได้อื่นๆ หรือมีทั้งเงินเดือนและรายได้อื่นๆ เช่น ค้าขายแบบบุคคลธรรมดา เงินปันผล หรืออื่นๆ ก็ให้ยื่นแบบ ภ.ง.ด.90 ซึ่งการคิดอัตราภาษีนั้นก็ขึ้นอยู่กับเงินได้สุทธิหรือรายได้ของผู้เสียภาษีแต่ละคน

ที่นี้เมื่อเราพอจะรู้แล้วว่าจะต้องเสียภาษีในอัตราเท่าไหร่ ก็มาดูกันว่ารายการลดหย่อนมีอะไรบ้าง

<สิทธิลดหย่อนแบบคนไม่โสด ส่วนตัวและครอบครัว>
• ค่าลดหย่อนส่วนตัว ลดหย่อนได้ 60,000 บาท ค่าใช้จ่ายส่วนนี้ทุกคนสามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้ทันที โดยไม่มีเงื่อนไข
• ค่าลดหย่อนคู่สมรส ลดหย่อนได้ 60,000 บาท ส่วนนี้จะเฉพาะคู่สมรสที่จดทะเบียนสมรสถูกต้องตามกฎหมาย และคู่สมรสจะต้องไม่มีรายได้ในปีภาษีนั้น
• ค่าลดหย่อนฝากครรภ์และคลอดบุตร ที่จ่ายให้กับสถานพยาบาลของรัฐหรือเอกชน ลดหย่อนได้ไม่เกิน 60,000 บาท สามีสามารถลดหย่อนภาษีในกรณีที่ภรรยาไม่มีเงินได้ โดยเอกสารที่ใช้สำหรับการลดหย่อนภาษีคือ ใบเสร็จรับเงินและใบรับรองแพทย์จากสถานพยาบาล
• ค่าลดหย่อนภาษีบุตร ลดหย่อนได้คนละ 30,000 บาท ซึ่งต้องเป็นบุตรตามกฎหมายหรือบุตรบุญธรรม และบุตรมีอายุไม่เกิน 20 ปี หรืออายุ 20–25 ปี แต่กำลังศึกษาอยู่ หรือในกรณีที่บุตรอายุเกิน 25 ปี ขึ้นไป แต่มีสถานะเป็นบุคคลไร้ความสามารถ หรือเสมือนไร้ความสามารถ ก็สามารถลดหย่อนภาษีได้ ส่วนในกรณีบุตรคนที่ 2 ขึ้นไป เกิดตั้งแต่ปี พ.ศ. 2561 เป็นต้นไป สามารถลดหย่อนได้คนละ 60,000 บาท
• กรณีมีเฉพาะบุตรตามกฎหมาย: ลดหย่อนบุตรกี่คนก็ได้ตามจำนวนบุตรจริง
• กรณีมีเฉพาะบุตรบุญธรรม: ลดหย่อนบุตรได้คนละ 30,000 บาท สูงสุด 3 คน
• กรณีมีทั้งบุตรตามกฎหมายและบุตรบุญธรรม: ใช้สิทธิบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายก่อน และหากบุตรบุญธรรมเป็นคนที่ 4 จะไม่สามารถใช้สิทธิได้ แต่ถ้าบุตรบุญธรรมอยู่ในคนที่ 1–3 สามารถใช้สิทธิบุตรบุญธรรมได้
• ค่าลดหย่อนสำหรับเลี้ยงดูบิดามารดาของตนเองและของคู่สมรส
• กรณีเลี้ยงดูบิดามารดาของตนเอง: ลดหย่อนได้คนละ 30,000 บาท ไม่เกิน 2 คน และจะต้องไม่ใช่พ่อแม่บุญธรรม โดยบิดามารดาจะต้องมีอายุมากกว่า 60 ปีในปีภาษีนั้น และมีรายได้ต่อปีไม่เกิน 30,000 บาท ซึ่งไม่สามารถใช้สิทธิลดหย่อนซ้ำระหว่างพี่น้องได้ หากจะใช้สิทธิลดหย่อนเลี้ยงดูแม่เพียงคนเดียว ต้องตกลงกับพี่น้องว่าใครจะใช้สิทธินี้
• กรณีเลี้ยงดูบิดามารดาของคู่สมรส: ลดหย่อนได้คนละ 30,000 บาท ไม่เกิน 2 คน จะต้องไม่ใช่พ่อแม่บุญธรรมของคู่สมรส และคู่สมรสไม่มีรายได้เลยตลอดปีภาษีนั้น
• ค่าลดหย่อนภาษีกรณีอุปการะผู้พิการหรือบุคคลทุพพลภาพ ลดหย่อนได้คนละ 60,000 บาท ผู้พิการจะต้องมีรายได้ไม่เกิน 30,000 บาทในปีภาษีนั้น มีบัตรประจำตัวผู้พิการ และหนังสือรับรองการเป็นผู้อุปการะ (ในกรณีที่ผู้พิการหรือทุพพลภาพเป็นบิดามารดา–บุตร–คู่สมรสของตนเอง สามารถใช้สิทธิลดหย่อนได้ทั้งสองประเภท)

<สิทธิลดหย่อนจากเงินบริจาค>
• เงินบริจาคทั่วไป ลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริง สูงสุดไม่เกิน 10% ของเงินได้หลังหักค่าลดหย่อนภาษี
• เงินบริจาคเพื่อการศึกษา กีฬา พัฒนาสังคม ประโยชน์สาธารณะและสถานพยาบาลของรัฐ ลดหย่อนได้ 2 เท่าของเงินบริจาคจริง สูงสุดไม่เกิน 10% ของเงินได้หลังหักค่าลดหย่อนภาษี
• เงินบริจาคพรรคการเมือง ลดหย่อนได้สูงสุดไม่เกิน 10,000 บาท

<สิทธิลดหย่อนจากการออมและลงทุน>
• กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF : Retirement Mutual Fund) ลดหย่อนภาษีได้ 30% ของเงินได้ที่ต้องเสียภาษี แต่เมื่อรวมกับสิทธิลดหย่อนเพื่อการเกษียณอายุอื่นๆ ** แล้วต้องไม่เกิน 500,000 บาท
• สิทธิลดหย่อนเพื่อการเกษียณอายุ ได้แก่ กองทุน RMF กองทุน SSF กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ กองทุนสงเคราะห์ตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชน กองทุนการออมแห่งชาติ และเบี้ยประกันภัยสำหรับการประกันชีวิตแบบบำนาญ
• กองทุนรวมเพื่อการออม (SSF : Super Saving Funds) ลดหย่อนภาษีได้ 30% ของเงินได้ที่ต้องเสียภาษี ตามที่จ่ายจริงสูงสุดไม่เกิน 200,000 บาท แต่เมื่อรวมกับสิทธิลดหย่อนเพื่อการเกษียณอายุอื่นๆ แล้วต้องไม่เกิน 500,000 บาท โดยได้สิทธิประโยชน์สำหรับลดหย่อนภาษี 5 ปี
• กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (PVD) / กองทุนบำเหน็จบำนาญราชการ (กบข.) / กองทุนสงเคราะห์ครูโรงเรียนเอกชน ลดหย่อนภาษีได้ 15% ของเงินได้ที่ต้องเสียภาษี แต่เมื่อรวมกับสิทธิลดหย่อนเพื่อการเกษียณอายุอื่นๆ แล้วต้องไม่เกิน 500,000 บาท
• กองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) ลดหย่อนภาษีได้ตามที่จ่ายจริงสูงสุดไม่เกิน 13,200 บาท แต่เมื่อรวมกับสิทธิลดหย่อนเพื่อการเกษียณอายุอื่นๆ แล้วต้องไม่เกิน 500,000 บาท
• เงินลงทุนธุรกิจ Social Enterprise (วิสาหกิจเพื่อสังคม) ลดหย่อนภาษีได้ตามที่จ่ายจริงสูงสุดไม่เกิน 100,000 บาท

<สิทธิลดหย่อนจากเบี้ยประกัน>
• เงินประกันสังคม ลดหย่อนภาษีได้ตามที่จ่ายจริง สูงสุดไม่เกิน 9,000 บาท (แต่ปี พ.ศ. 2565 มีการปรับลดอัตราเงินสะสมประกันสังคม จึงจะลดหย่อนได้สูงสุดไม่เกิน 7,200 บาท หรือตามจำนวนเงินสมทบจริง)
• เบี้ยประกันชีวิต เงินฝากแบบมีประกันชีวิตและประกันแบบสะสมทรัพย์ ลดหย่อนภาษีได้ ตามที่จ่ายจริงสูงสุดไม่เกิน 100,000 บาท ในกรณีที่คู่สมรสไม่มีรายได้ ลดหย่อนค่าเบี้ยประกันของคู่สมรสได้สูงสุด 10,000 บาท โดยเงื่อนไขของค่าลดหย่อนประกันชีวิตคือ ต้องมีระยะเวลาคุ้มครอง 10 ปีขึ้นไป ต้องทำประกันกับบริษัทประกันชีวิตในประเทศไทย และถ้าหากมีการเวนคืนกรมธรรม์ก่อนครบ 10 ปี จะถือว่าเป็นการผิดเงื่อนไข ไม่สามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้
• เบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญ ลดหย่อนภาษีได้ 15% ของเงินได้ ตามที่จ่ายจริงสูงสุดไม่เกิน 200,000 บาท แต่เมื่อรวมกับสิทธิลดหย่อนเพื่อการเกษียณอายุอื่นๆ แล้วต้องไม่เกิน 500,000 บาท โดยเงื่อนไขเช่นเดียวกับประกันชีวิตทั่วไป
• เบี้ยประกันสุขภาพ และเบี้ยประกันอุบัติเหตุที่คุ้มครองสุขภาพ ลดหย่อนภาษีได้ตามที่จ่ายจริงสูงสุดไม่เกิน 25,000 บาท และเมื่อรวมกับประกันชีวิตและประกันแบบสะสมทรัพย์ ต้องไม่เกิน 100,000 บาท
• เบี้ยประกันสุขภาพของบิดามารดา ลดหย่อนภาษีได้ตามที่จ่ายจริงสูงสุดไม่เกิน 15,000 บาท (บิดามารดามีรายได้ไม่เกิน 30,000 บาทต่อปี แต่ไม่จำเป็นต้องมีอายุ 60 ปีขึ้นไป)

<สิทธิลดหย่อนจากรัฐบาล>
• โครงการช้อปดีมีคืน 2565 สามารถลดหย่อนได้ไม่เกิน 30,000 บาท สำหรับค่าซื้อสินค้าและบริการในประเทศ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม–15 กุมภาพันธ์ 2565 ตามที่จ่ายจริง โดยสินค้าและบริการที่สามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้ ได้แก่ สินค้าและบริการที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) สินค้า OTOP และสินค้าหมวดหนังสือ (รวมถึง E-Book)
• ดอกเบี้ยกู้ยืมเพื่อซื้อหรือสร้างที่อยู่อาศัย เช่น บ้านเดี่ยว คอนโด ห้องชุด และอาคาร เป็นต้น สามารถลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริง สูงสุดไม่เกิน 100,000 บาท

<วิธีคำนวณภาษีคร่าว>
กรณีมีรายได้ประเภทที่ 1 (เงินเดือน) และประเภทที่ 2 (ค่าจ้างทั่วไป–ฟรีแลนซ์) จะสามารถหักค่าใช้จ่ายได้ 50% ของเงินได้ แต่ไม่เกิน 100,000 บาท ดังนั้น จากตารางด้านบนนี้แสดงว่า หากมีรายได้ตลอดทั้งปีไม่เกิน 310,000 บาท เมื่อหักค่าใช้จ่ายและลดหย่อนส่วนตัวรวม 160,000 บาทแล้ว จะเหลือเงินได้สุทธิ 150,000 บาท ซึ่งได้รับการยกเว้นภาษี
แต่ถ้ามีรายได้สุทธิมากกว่า 310,000 บาท แสดงว่าจะต้องยื่นภาษี แต่จะเสียภาษีมาก-น้อยแค่ไหนนั้น ให้วิธีคำนวณภาษี ด้วยการ นำ รายได้ – ค่าใช้จ่าย – ค่าลดหย่อน x อัตราภาษี

–ตัวอย่าง 1–

– ขั้นตอนที่ 1 นำรายได้ตลอดทั้งปีมาหักค่าใช้จ่าย แยกตามประเภทของรายได้ และหักลดหย่อนตามรายการต่างๆ เพื่อหารายได้สุทธิ ในการ ยื่นภาษี
A มีรายได้ทั้งปี 600,000 บาท จะต้องหักค่าใช้จ่ายเบื้องต้นดังนี้
– หักค่าใช้จ่าย 50% ของเงินได้ (แต่ไม่เกิน 100,000 บาท) = 100,000 บาท
จะเหลือรายได้สุทธิ 500,000 บาท

– ขั้นตอนที่ 2 นำรายได้ที่เหลือมาหักค่าลดหย่อน โดยให้ลองสำรวจดูว่ามีค่าลดหย่อนอะไรบ้าง แล้วนำค่าลดหย่อนนั้นมาลบออกจาก 500,000 บาท เช่น หากปีนี้ A ซึ่งแต่งงานจดทะเบียนกับภรรยา มีรายได้ไม่ถึง 30,000 บาท แต่ไม่มีบุตร, มีพ่ออายุ 60 ปีขึ้นไป ที่ต้องเลี้ยงดู 1 คน, ซื้อ SSF ไป 50,000 บาท, ซื้อประกันสุขภาพ 9,000 บาท ก็สามารถนำค่าใช้จ่ายลดหย่อนทั้งหมดมาหักออกจาก 500,000 บาท ดังนี้
– หักค่าลดหย่อนส่วนตัว 60,000 บาท
– หักค่าลดหย่อนคู่สมรส 60,000 บาท
– หักค่าลดหย่อนเลี้ยงดูบิดา 1 คน จำนวน 30,000 บาท
– หักค่าซื้อ SSF ไป 50,000 บาท
– หักค่าประกันสุขภาพ 9,000 บาท
รวมหักไปทั้งสิ้น 209,000 บาท
ทำให้ A จะเหลือรายได้สุทธิ 291,000 บาท

– ขั้นตอนที่ 3 นำรายได้สุทธิที่ได้ มาเทียบอัตราภาษี ซึ่งปัจจุบันใช้วิธีเสียภาษีแบบขั้นบันได ซึ่งอัตราภาษี ในปี 2565 ที่ A ต้องเสีย กรณีของ A คือมีรายได้สุทธิอยู่ที่ 291,000 บาท เท่ากับต้องเสียภาษีในอัตราสูงสุดที่ 5% แต่ในจำนวนนี้ 150,000 บาทแรก ได้รับการยกเว้นภาษี จึงคงเหลือส่วนที่ต้องเสียภาษีอยู่ที่ (291,000-150,000) = 141,000 บาท ที่อัตรา 5% คิดเป็นเงินภาษี 7,050 บาท

— ตัวอย่าง 2 —
B ทำงานมีรายได้รวมทั้งปี 800,000 บาท เลี้ยงดูบุตรอายุ 6 ขวบ และ 5 ขวบ ส่งเงินสมทบประกันสังคม 5,100 บาท ซื้อประกันชีวิตไว้ 50,000 บาท เลี้ยงดูพ่อ-แม่ 2 คน คำนวณภาษีได้ด้วยการ
– หักค่าใช้จ่าย 50% ของเงินได้ (แต่ไม่เกิน 100,000 บาท) = 100,000 บาท
– หักค่าประกันสังคม 5,100 บาท
– หักค่าซื้อประกันชีวิต 50,000 บาท
– หักค่าลดหย่อนส่วนตัว 60,000 บาท
– หักค่าลดหย่อนบุตร 2 คน รวม 60,000 บาท
– หักค่าเลี้ยงดูบิดา-มารดา 2 คน รวม 60,000 บาท
รวมหักค่าลดหย่อนไป 335,100 บาท ดังนั้น B จะเหลือรายได้สุทธิ 800,000-335,100 = 464,900 บาท จึงต้องเสียภาษีที่ขั้น 10% ซึ่งคำนวณแต่ละขั้น
– 150,000 บาทแรก ไม่เสียภาษี จึงเหลือเงินที่ต้องไปคำนวณ (464,900-150,000) = 314,900 บาท
– ส่วนต่อมาเสียภาษี 5% ซึ่งจำนวนเงินภาษีของฐาน 5% คือ 7,500 บาท B จึงเหลือเงินที่ต้องไปคำนวณต่อที่ฐาน 10% (314,900-150,000) = 164,900 บาท
– เงินส่วนที่เหลือ 164,900 บาท นำมาคิดภาษีที่ฐาน 10% จะเท่ากับ 16,490 บาท
นำเงินภาษีแต่ละขั้นมารวมกัน (7,500+16,490) เท่ากับว่า B ต้อง เสียภาษี 23,990 บาท

<ส่วนกรณีมีเงินได้ประเภทอื่น>
นอกจากเงินเดือนด้วย จะมีการหักค่าใช้จ่ายที่ต่างกันไป ซึ่งต้องนำไปคำนวณอีกที ได้แก่
• เงินได้ประเภทที่ 3 (ค่าลิขสิทธิ์) : หัก 50% ของเงินได้ แต่ไม่เกิน 100,000 บาท หรือ หักเฉพาะค่าสิทธิ
• เงินได้ประเภทที่ 4 (ดอกเบี้ย, เงินปันผล) : หักค่าใช้จ่ายไม่ได้
• เงินได้ประเภทที่ 5 (ค่าเช่า) : หักค่าใช้จ่ายได้ 10–30% หรือหักตามจริง
• เงินได้ประเภทที่ 6 (ค่าวิชาชีพอิสระ) : แพทย์ประกอบโรคศิลปะ หักค่าใช้จ่ายได้ 60% หรือตามจริง ส่วนอาชีพนักกฎหมาย, วิศวกร, สถาปนิก, นักบัญชี และช่างประณีตศิลป์ หักค่าใช้จ่ายได้ 30% หรือหักตามจริง
• เงินได้ประเภทที่ 7 (ค่ารับเหมาทั้งค่าแรงและค่าของ) : หักค่าใช้จ่ายได้ 60% หรือหักตามจริง
• เงินได้ประเภทที่ 8 (อื่นๆ) : หักค่าใช้จ่ายได้ 60% (เฉพาะกิจการ 43 ประเภท) หรือหักตามจริง
ซึ่งในกรณีมีเงินได้ประเภทอื่นๆ นอกจากเงินได้ประเภทที่ 1 (เงินเดือน โบนัส ค่าคอมมิชชัน เบี้ยเลี้ยง บำเหน็จ บำนาญ) รวมกันเกิน 1 ล้านบาทต่อปี จะต้องลองใช้วิธีคำนวณภาษีแบบเหมา คือ (เงินได้ทั้งหมด – เงินได้ประเภทที่ 1) x 0.5%
แล้วเปรียบเทียบกันดูว่า วิธีคำนวณภาษีแบบปกติ คือ (รายได้–ค่าใช้จ่าย–ค่าลดหย่อน) x อัตราภาษี กับคำนวณภาษีแบบเหมา คือ (เงินได้ทั้งหมด–เงินได้ประเภทที่ 1) x 0.5% แบบไหนต้องจ่ายภาษีมากกว่าก็ให้ใช้วิธีนั้นในการคำนวณเพื่อเสียภาษี

<ถ้าเป็นคนโสดล่ะ ลดหย่อนแบบไหน>
คนโสดอ่านแล้วอาจจะรู้สึกใจเจ็บไปบ้าง… แต่ตามกฎหมายก็ไม่ได้เลวร้ายขนาดนั้นสำหรับคนที่ยังไม่มีคู่ เพราะในรายการลดหย่อนภาษี ปี 2565 ของคนโสดจะคล้าย ๆ กับของคนมีคู่ แต่คนโสดจะไม่สามารถใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้ 4 รายการ ได้แก่
1. ค่าลดหย่อนคู่สมรส 60,000 บาท
2. ค่าลดหย่อนฝากครรภ์และคลอดบุตร 60,000 บาท
3. ค่าลดหย่อนบุตร คนละ 30,000 บาท
4. ค่าลดหย่อนบุตรคนที่ 2 เป็นต้นไปที่เกิดตั้งแต่ปี 2561 คนละ 60,000 บาท แม้คนโสดจะดูเสียเปรียบคนมีคู่ไปบ้างเพราะพลาดสิทธิลดหย่อนภาษีบางรายการ แต่ถ้าเราวางแผนภาษีกันอย่างรอบคอบก็จะช่วยเราประหยัดภาษีได้อย่างคุ้มค่ามากที่สุด มีเงินเหลือเอาไปใช้ชีวิต กดบัตรคอนเสิร์ต บินเที่ยวญี่ปุ่น หรือทำอย่างอื่นใดๆ ได้อย่างสบายใจ หรืออาจจะต่อยอดลงทุนกองทุนรับผลตอบแทนสไตล์ให้เงินทำงานก็ยังได้

ที่จริงเราควรวางแผนภาษีตั้งแต่เนิ่นๆ หรืออย่างน้อยช่วงกลางปี ถ้าใครที่มีรายได้จำนวนมากๆ ก็ควรที่จะเริ่มซื้อประกัน กองทุนที่สามารถลดหย่อนภาษีได้ไว้ก่อน เผื่อใกล้สิ้นปีก็จะได้ไม่ฉุกละหุก รีบซื้อรีบจ่าย สุดท้ายอาจจะเอามาหักลดหย่อนได้ไม่คุ้มเด้อ…

BTimes