สงครามรัสเซีย-ยูเครน ไม่เพียงแต่กระทบเศรษฐกิจโลก แต่ยังส่งผลสะเทือนถึงเศรษฐกิจไทย

951
0
Share:

สงคราม รัสเซีย - ยูเครน ไม่เพียงแต่กระทบเศรษฐกิจโลก แต่ยังส่งผลสะเทือนถึง เศรษฐกิจ ไทย
ที่สุดโลกก็เจอกับเหตุการณ์สุดสะเทือน ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2565 ประธานาธิบดีรัสเซีย นายวลาดิเมียร์ ปูติน แถลงการณ์ผ่านโทรทัศน์ทั่วประเทศรัสเซียว่า รัฐบาลรัสเซียได้ส่งกองกำลังทหารเข้าควบคุมพื้นที่ของกลุ่มแบ่งแยกดินแดนในประเทศยูเครน และลงนามในคำสั่งกฎหมายประธานาธิบดีรัสเซียด้วยการรับรองการประกาศเอกราชของ 2 แคว้นฝั่งตะวันออกของยูเครน ได้แก่ ลูฮันสก์ และโดเนตสก์

โดยวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2565 รัสเซียก็ได้เริ่มปฏิบัติการทางทหารต่อยูเครนด้วยการเข้าโจมตี ยกระดับความขัดแย้งระหว่างยูเครนกับรัสเซียไปสู่สถานการณ์สงครามที่มีแนวโน้มจะยืดเยื้อ ซึ่งเสียงระเบิดและสงครามนั้นมิได้ทำลายเพียงประเทศยูเครนและทรัพย์สินของประชาชนเพียงเท่านั้น แต่ยังกระทบต่อเศรษฐกิจโลกลามมาถึงเศรษฐกิจไทย ที่ต้องบอกว่าไทยนั้นรับไปแบบเต็มๆ และจากการประกาศคำสั่งดังกล่าวของรัสเซียทำให้หลายประเทศทางชาติตะวันตกประกาศมาตรการการคว่ำบาตรที่รุนแรงที่สุดเท่าที่เคยมีมา

ผลกระทบทางเศรษฐกิจหลังเกิดสงคราม ดันให้ราคาน้ำมันดิบพุ่งสูงอีกครั้ง หลังบริษัทพลังงานหลายรายถอนการลงทุนในรัสเซีย ต่อเนื่องด้วยราคาบิตคอยน์ในวันที่ 4 มีนาคม 2565 ดิ่งทะลุ 42,000 ดอลลาร์ ยิ่งหลังจากที่รัสเซียยิงถล่มโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ของยูเครน ตลาดหุ้นก็กลับมาแดงเถือกทั้งกระดาน ปรับตัวลงต่ำสุดในรอบ 1 เดือน เท่านั้นยังไม่พอ ทองคำก็ดันมีราคาพุ่งสูงสุดในรอบ 2 ปี

สงครามรัสเซีย-ยูเครนในครั้งนี้ หากถามว่าประเทศไหนได้รับแรงกระแทกมากที่สุด 1 ในนั้นมีประเทศไทยอย่างแน่นอน เรียกได้ว่าพระศุกร์เข้าพระเสาร์แทรก เมื่อเศรษฐกิจก็ยังไม่ฟื้นตัวจากโรคระบาด แต่ต้องมาเจอภาวะสงคราม ลามถึงวิกฤตเงินเฟ้อ น้ำมันก็ขึ้นเอาๆ จนไปแตะที่ลิตรละเกือบ 40-50 บาท กระทบความเป็นอยู่ของประชาชนที่แย่อยู่แล้วให้แย่ขึ้นไปอีก ซึ่งนี่อาจจะเป็นยุคข้าวยากหมากแพงของประเทศไทยอีกครั้งหนึ่งก็เป็นได้

สำหรับเศรษฐกิจไทย ก็มีหลายสำนักได้ออกมาวิเคราะห์เกี่ยวกับสถานการณ์นี้ เริ่มต้นที่ราคาน้ำมัน ที่มาเจอกับสถานการณ์ความตึงเครียด ยิ่งส่งผลต่อต้นทุนพลังงาน ต้นทุนธุรกิจ ราคาสินค้า และอัตราเงินเฟ้อ ซึ่งเป็นด้านที่กระทบต่อเศรษฐกิจไทยมากที่สุด ขณะที่ตลาดทุนของไทยก็มีความผันผวนสูงขึ้น ทำให้นักลงทุนอาจย้ายไปสู่สินทรัพย์ที่มีความปลอดภัยสูงแทน ส่วนในเรื่องของการส่งออกการค้าระหว่างไทย รัสเซีย ยูเครน ก็จะมีอุปสรรคต่อการทำธุรกรรมทางการเงินมากยิ่งขึ้น

วกมาในเรื่องของภาพรวมของเศรษฐกิจโลก จะส่งผลลบต่อเศรษฐกิจและตลาดเงินของรัสเซีย เนื่องจากช่วงที่ประชาชนรัสเซียเผชิญภาวะสงครามก็ระแวงจนต้องต่อแถวกดเงินสดออกมาพกติดตัว ส่งผลกระทบต่อสถาบันการเงินและธุรกิจของยุโรปที่เกี่ยวข้องกับรัสเซีย อีกทั้งความเชื่อมั่นในค่าเงินรูเบิลก็ดันมาร่วงกว่า 30% จนรัฐบาลต้องปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้นมาเป็น 20% เพื่อชะลอการถอนเงินเอาไว้ นอกจากนี้ ดัชนีตลาดหุ้นรัสเซียยังร่วงลงไปกว่า 45% จนต้องปิดการซื้อขาย แถมหุ้นธนาคารที่ใหญ่ที่สุดในรัสเซียก็ยังร่วงลงมากว่า 70% ทั้งหมดนี้ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางด้านพลังงานในยุโรป และยังส่งผลกระทบต่อประเทศไทยในขณะนี้เช่นเดียวกัน

ประเด็นที่ต้องจับตาหลังจากนี้คือสงครามนี้จะจบลงเมื่อไร และการเจรจาระหว่างสองประเทศจะสำเร็จผลหรือไม่ หากสงครามยืดเยื้อไทยจะต้องรับมือกับผลกระทบอะไรอีกบ้าง และการคว่ำบาตรครั้งใหญ่ที่สุดเป็นประวัติการณ์ของรัสเซียครั้งนี้จะสามารถกดดันให้รัสเซียหยุดได้หรือไม่ โดยล่าสุดเมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2565 นายโวโลดีมีร์ เซเลนสกี ประธานาธิบดียูเครน ก็เรียกร้องให้ประธานาธิบดีรัสเซีย ร่วมเจรจาแบบตัวต่อตัว เพื่อยุติสงคราม ก็คงต้องติดตามกันต่อไปว่าบทสรุปของสงครามจะเป็นเช่นไร สุดท้ายเราก็ได้แต่หวังว่าสงครามครั้งนี้จะจบลงโดยเร็วไว เพราะไม่มีใครอยากเห็นความสูญเสีย

BTimes