เมื่อช่องโหว่ของกฎหมายลิขสิทธิ์ กลายเป็นใบเบิกทางให้เหล่านักก๊อป

1556
0
Share:

เมื่อช่องโหว่ของกฎหมาย ลิขสิทธิ์ กลายเป็นใบเบิกทางให้เหล่านักก๊อป

‘ก๊อปไม่ก๊อป เหมือนไม่เหมือน’ แล้วรู้หรือไม่ว่ากฎหมายลิขสิทธิ์ทำให้การสร้างสรรค์ผลงานบางประเภทมีเงื่อนไขที่ทำให้ไม่สามารถจดทะเบียนได้ ก่อเป็นสารพัดปมดราม่าหลายต่อหลายครั้งในเรื่องของการก๊อปปี้ผลงาน เอ๊ะหรือนี่จะเป็นช่องโหว่ของกฎหมายฯ ที่ทำให้เจ้าของผลงานตัวจริงต้องบอบช้ำใจ

เมื่อลิขสิทธิ์เกิดช่องโหว่ จนไม่สามารถครอบคลุมได้ทุกอย่าง
หลายคนมักคิดว่าการที่เจ้าของผลงานไม่ได้จดลิขสิทธิ์ ฉันก็สามารถก๊อปปี้งานของเธอได้ และฉันก็ไม่ผิดกฎหมาย ความเข้าใจเหล่านี้มันผิดนะคะ! ต่อให้เจ้าของผลงานต้นฉบับไม่ได้ทำการจดลิขสิทธิ์ แต่เมื่อเกิดการสร้างสรรค์นั่นเท่ากับว่าลิขสิทธิ์ของผลงานนั้นจะเกิดขึ้นทันที โดยไม่ต้องจดทะเบียน และนับว่าผู้สร้างสรรค์คนแรกได้ถือครองเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ ที่สำคัญคือไม่มีใครสามารถนำงานชิ้นนั้นไปทำซ้ำ หรือเผยแพร่ทุกรูปแบบ จนกว่าจะได้รับความยินยอมจากเจ้าของผลงาน

แล้วลิขสิทธิ์ที่เล่ามาคืออะไร งานประเภทไหนถึงจะนับว่าเป็นลิขสิทธิ์
ลิขสิทธิ์จะอยู่ในผลงานประเภทงานเขียน ศิลปะ ภาพยนตร์ เพลง ภาพวาด ภาพถ่าย รายการวิทยุโทรทัศน์ แต่ก็มีผลงานบางประเภทที่กฎหมายลิขสิทธิ์ไม่ให้ความคุ้มครอง เช่น ข่าวประจำวัน ข้อเท็จจริงต่างๆ รัฐธรรมนูญ กฎหมาย ท่าเต้น มุมกล้อง หรือการตัดต่อ เนื่องจากทั้งหมดที่กล่าวมาถูกจัดให้เป็นความคิด ขั้นตอน กรรมวิธีหรือระบบ วิธีใช้หรือทำงาน แนวความคิด หลักการ การค้นพบ หรือทฤษฎีทางวิทยาศาสตร์หรือคณิตศาสตร์ ทำให้ไม่สามารถจดลิขสิทธิ์ได้ ซึ่งข้อมูลนี้หลายคนอาจจะไม่เคยทราบ จึงไม่แปลกที่เรามักจะเห็นกระแสดราม่าเกี่ยวกับการก๊อปปี้ผลงานเกิดขึ้นหลายต่อหลายครั้งทั้งในประเทศไทย และต่างประเทศ ซึ่งบางกรณีไม่สามารถฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายได้ ยกตัวอย่างกรณีของเกม Fortnite ที่ได้นำท่าเต้นของคนดังมาเป็นท่าเต้นของตัวละครในเกม โดยคดีนี้ศาลได้ตัดสินให้ยกฟ้อง เพราะท่าเต้นทั้งหมดที่เกิดขึ้นในเกม ถือเป็นการแสดงออกทางสาธารณะ เพื่อความสนุกสนาน ทุกคนสามารถกระทำได้ และกฎหมายลิขสิทธิ์ไม่ได้คุ้มครองไอเดียของท่าเต้นเหล่านั้น

หากจะยกอีกหนึ่งกรณีที่เป็นกระแสลากยาวถึง 7 วัน 7 คืนในโลกออนไลน์ ได้แก่กรณีที่ศิลปินไทยท่านหนึ่งทำมิวสิควีดีโอคัฟเวอร์เพลง ซึ่งมิวสิควีดีโอดังกล่าวมีความคล้ายคลึงกับเอ็มวีคัฟเวอร์ของศิลปินเกาหลีชื่อดังท่านหนึ่ง ทำให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ และเกิดการนำมาเปรียบเทียบแบบเฟรมต่อเฟรม โดยผู้ใช้งานบางส่วนมีความเห็นว่าผลงานของศิลปินไทยท่านนั้นมีส่วนคล้ายกับมิวสิควิดีโอของศิลปินเกาหลีอยู่มากเกินกว่าจะเรียกว่าเป็นเรื่องบังเอิญ แต่สุดท้ายเรื่องนี้ก็จบไปเป็นที่เรียบร้อย เนื่องจากทางฝั่งของศิลปินไทยท่านนั้นได้ออกมาแถลงข่าวขอโทษและพร้อมยอมถ่ายทำใหม่ แต่ทนายความส่วนตัวกลับชี้แจงว่าทางฝั่งศิลปินไทยท่านนั้นไม่จำเป็นต้องขอโทษ เพราะไม่ได้ลอกเลียนแบบ เกิดเป็นความเคลือบแคลงใจและสงสัยต่อเนื่องว่าแล้วผลงานประเภทไหนถึงจะได้รับการคุ้มครองจากกฎหมายลิขสิทธิ์

เมื่อรู้ตัวว่าผลงานของตัวเองถูกก๊อป ก็ต้องสู้ด้วยกฎหมายเท่านั้น
หากครีเอเตอร์ทั้งหลายรู้ตัวว่าโดนคัดลอกผลงาน โปรดอย่านิ่งเฉย อย่าปล่อยให้ตัวเองรู้สึกดาวน์เพียงคนเดียว อย่าปล่อยให้คำว่า ‘ไม่เป็นไร ปล่อยไปเถอะ’ ทำร้ายตัวเอง และดันให้พวกที่ชอบลอกเลียนผลงานผู้อื่นได้ใจและทำใหม่ซ้ำๆ อยู่เสมอ เจ้าของผลงานต้นฉบับควรเอาจริงเอาจัง ใช้กฎหมายเข้าสู้ เพื่อสร้างบทเรียนให้แก่บรรดานักก๊อปปี้ได้หลาบจำ และไม่กล้าที่จะกระทำการลอกเลียนแบบผลงานของใครอีก

เรื่องราวเหล่านี้จะไม่เป็นปัญหา ถ้าทุกฝ่ายตระหนักถึงเรื่องของกฎหมายลิขสิทธิ์อย่างเพียงพอ หากชื่นชอบผลงานเหล่านั้นจริงๆ ก็ควรชื่นชม และนำมาเป็นแรงบันดาลใจในการค้นหาลายเซ็นของตัวเองแบบที่ไม่ต้องลอกเลียนลายเซ็นใคร

ด้วยความห่วงใยจากใจทีมงาน BTimes

BTimes