โซเชียลแผลงฤทธิ์ ไทยเจอเทรนด์ประหลาดในหมู่วัยรุ่นที่แห่อวดลิ้นฟ้าสุดเท่ แต่สุดท้ายกลับไม่ได้เท่

845
0
Share:

โซเชียลแผลงฤทธิ์ ไทยเจอเทรนด์ประหลาดในหมู่วัยรุ่นที่แห่อวดลิ้นฟ้าสุดเท่ แต่สุดท้ายกลับไม่ได้เท่ - วัยรุ่นลิ้นฟ้า ยาลิ้นฟ้า

‘โซเชียลมีเดีย’ แพลตฟอร์มทรงพลังที่เชื่อมผู้คนทั่วโลกเข้าไว้ด้วยกัน ทั้งยังเป็นคอมมูนิตี้ที่เปิดกว้างสำหรับการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ แต่หลายๆ ครั้งโซเชียลมีเดียก็เปรียบเสมือนดาบสองคมที่สร้างกระแสแปลกประหลาดมากมายทั้งมีความสร้างสรรค์ และมีความอันตราย

ล่าสุดก็เกิดเทรนด์ร้อนแฝงอันตรายมาอีกระลอกกับแฮชแท็ก #วัยรุ่นลิ้นฟ้า ที่กำลังได้รับความนิยมอย่างมากในหมู่วัยรุ่นไทยสายปาร์ตี้ โดยสาเหตุที่ลิ้นเปลี่ยนเป็นสีฟ้ามาจากการรับประทานโรฮิบนอล (Rohypnol) อ้างอิงข้อมูลจากเว็บไซต์กองควบคุมวัตถุเสพติด สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ระบุว่า ยาโรฮิบนอล มีชื่อทางเคมีคือ Flunitrazepam เป็นวัตถุออกฤทธิ์ในประเภทที่ 2 ตามพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ.2559 มีฤทธิ์บรรเทาอาการวิตกกังวล สงบประสาท ทำให้นอนหลับง่าย คลายกล้ามเนื้อ และต้านการชัก แต่ก็มีผลข้างเคียงคือผู้ที่ได้รับยาชนิดนี้อาจสูญเสียความทรงจำชั่วขณะ กดระบบการหายใจ ง่วงซึม เดินเซ ปวดศีรษะ สำหรับผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการสั่น

ในทางการแพทย์ยาชนิดนี้ใช้เป็นยานอนหลับ ยานำสลบ และสงบประสาทก่อนทำการผ่าตัด ออกฤทธิ์เร็ว หากรับประทานหรือฉีดเข้ากล้ามเนื้อจะทำให้นอนหลับภายในเวลาประมาณ 20-30 นาที ออกฤทธิ์นานประมาณ 8-12 ชั่วโมง โดยยาตัวนี้ถูกจัดให้เป็นยาควบคุม ไม่มีการจำหน่ายในร้านขายยาทั่วไป และต้องสั่งจ่ายโดยแพทย์เท่านั้น

แต่ปัจจุบันกลับพบว่ายาตัวนี้ถูกนำไปใช้ในทางที่ผิดด้วยการผสมกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ทั้งยังมีการลักลอบขายผ่านช่องทางออนไลน์เป็นจำนวนมาก ร้อนถึง นพ.มานัส โพธาภรณ์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ ต้องออกมาเตือนถึงอันตรายที่อาจเกิดจากการเสพที่ไม่ได้ทำให้แค่เกิดเหตุ เสียทรัพย์ หรือถูกล่วงละเมิดทางเพศ แต่อาจส่งผลรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้อีกด้วย

อีกทั้งการลักลอบจำหน่ายผ่านช่องทางออนไลน์ยังมีความผิดตามกฎหมาย คือผู้ที่ผลิต ขาย นำเข้า ส่งออก ยกเว้นกระทรวงสาธารณสุข หรือผู้ได้รับมอบหมายจากกระทรวงสาธารณสุขเท่านั้น หากฝ่าฝืนมีโทษจำคุก 5-20 ปี และปรับตั้งแต่ 100,000-400,000 บาท และในกรณัสำหรับการมีไว้เพื่อใช้ประโยชน์ทางการแพทย์จะต้องขอรับ “ใบอนุญาตให้มีไว้ในครอบครองหรือใช้ประโยชน์ซึ่งวัตถุออกฤทธิ์” ด้วย หากฝ่าฝืนมีโทษจำคุก 1-5 ปี และปรับตั้งแต่ 20,000-100,000 บาท

นอกจากนี้เฟซบุ๊กแฟนเพจ ‘ตำรวจสอบสวนกลาง’ ยังได้ระบุความผิดทางกฎหมายสำหรับผู้ใช้ยาและผู้จำหน่ายยาชนิดนี้ไว้เพิ่มเติมว่า
1. ความผิดฐานจำหน่าย: จำคุกไม่เกิน 7 ปี และปรับไม่เกิน 700,000 บาท
2. ความผิดฐานโฆษณา: จำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
3. ความผิดฐานเสพ: จำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
4. ความผิดฐานใช้ให้ผู้อื่นเสพ: จำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 500,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ในยุคที่อินเทอร์เน็ตเข้าถึงคนทุกเพศวัย อาจทำให้การกรองสารก่อนรับรู้เป็นไปได้ยาก ดังนั้น BTimes ก็อยากให้ลูกเพจทุกท่านเสพสื่อออนไลน์อย่างมีสติและมีวิจารณญาณ เพราะถึงแม้เทรนด์จะทำให้คุณทันโลก แต่บางเทรนด์ก็แฝงไว้ด้วยความอันตรายมากมายเช่นเดียวกัน

BTimes