คนไทยไม่มีงานทำ ไม่มีนามบัตรให้ เยอะสุดๆ ใน 11 ปีผ่านมา ปีวัว 64 ปริญญาป้ายแดงรอรุ่นพี่ได้งานก่อน

1658
0
Share:

วิกฤต ‘คน ว่างงาน’ เจ็บหนักสุดในรอบ 11 ปี
เมื่อธุรกิจไปต่อไม่ไหว กำลังซื้อหาย รายได้ไม่เข้า จึงจำเป็นต้องปิดกิจการ บางที่พอไหวก็ใช้มาตรการลดต้นทุน ด้วยการเลิกจ้างพนักงาน หรือหยุดจ่ายเงินเดือนชั่วคราว พร้อมทั้งชะลอการรับพนักงานเพิ่ม เดินหน้าใช้กำลังพลเท่าที่มี แต่เพิ่มฟังก์ชันการทำงานในส่วนอื่นเข้าไปให้แต่ละบุคคลร่วมรับผิดชอบ

ปีที่ผ่านมาถือว่าเป็นปีที่หนักหน่วงอีกปีหนึ่งของทุกวงการก็ว่าได้ เริ่มตั้งแต่ไตรมาสแรกที่มีข่าวการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่า หรือโควิด-19 ในประเทศจีน ก่อนจะค่อยๆ ขยายวงลามออกไปยังประเทศอื่น กระทั่งวนเข้ามาเยือนประเทศไทย ส่งให้เกิดผลกระทบเชิงลบในภาคเศรษฐกิจ และภาคธุรกิจ บางธุรกิจที่พอมีเงินเย็นสำรองก็สามารถตั้งรับและพอเอาตัวรอดได้ แต่บางธุรกิจที่โดนล็อกดาวน์กระทันหันก็เข้าขั้นสาหัส หนักสุดคือยอมยกธงขาวปิดกิจการไปเลยก็มี ซึ่งส่วนนี้ยังส่งผลกระทบรุนแรงไปถึงบรรดาลูกจ้าง ทั้งโดนพักงาน ลดเวลาการทำงาน บางแห่งไปต่อไม่ไหวก็จำเป็นต้องปลดพนักงาน ตกงานกันแบบไม่ทันตั้งตัว เรียกได้ว่าทั้งนายจ้างและลูกจ้างต่างก็ได้รับศึกหนักจนสาหัสไม่ต่างกัน

จากข้อมูลของศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจธนาคารไทยพาณิชย์ ที่ระบุว่าในช่วงไตรมาส 2 ของปี 2563 มีคนตกงานสูงถึง 7.5 แสนคน คิดเป็นอัตราการว่างงาน 1.95% ต่อกำลังแรงงานรวม ซึ่งเป็นอัตราสูงที่สุดในรอบ 11 ปี มีแรงงานที่ต้องหยุดงานชั่วคราวถึง 2.5 ล้านคน นับเป็นตัวเลขการว่างงานที่สูงสุดเป็นประวัติการณ์ และในปี 2564 ตลาดแรงงานก็ยังมีสัญญาณที่น่าเป็นห่วง แม้ว่าจะเศรษฐกิจจะเริ่มส่งสัญญาณการฟื้นตัวขึ้นมาบ้างจากอัตราการว่างงานที่ลดลงในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2563 แต่สถานการณ์โดยรวมก็ยังน่ากังวล อันจะเห็นได้จากสัญญาณความอ่อนล้าที่เกิดขึ้น 4 อย่าง ได้แก่

1. อัตราการว่างงานของแรงงานในระบบประกันสังคมยังคงเพิ่มสูงขึ้น
2. กลุ่มแรงงานอายุน้อย (ช่วงอายุ 15-24 ปี) มีปัญหาการว่างงานอยู่ในระดับสูง
3. จำนวนแรงงานที่ต้องหยุดงานชั่วคราวเพิ่มสูงกว่าในอดีต
4. สัดส่วนการทำงานต่ำระดับ หรือการว่างงานแฝงยังคงมีคงเพิ่มขึ้น

อีกความน่ากังวลคือการที่แรงงานอายุน้อยมีอัตราการว่างงานที่สูงกว่ากลุ่มอื่นๆ แถมยิ่งเจอพิษโควิด-19 ที่ทวีความรุนแรงอย่างต่อเนื่อง ยิ่งส่งผลให้มีแนวโน้มที่จะว่างงานเพิ่มมากขึ้นอีกเท่าทวีคูณ อิงจากข้อมูลอัตราการว่างงานตามระดับการศึกษาพบว่า ผู้จบการศึกษาในระดับอุดมศึกษามีอัตราการว่างงานสูงสุดร้อยละ 3.15 ซึ่งสูงสุดมาตั้งแต่ปี 2554 รองลงมาเป็นระดับ ปวช. และ ปวส. อยู่ที่ร้อยละ 2.79 และ 2.73 ตามลำดับ ขณะเดียวกันแรงงานที่มีอายุระหว่าง 15-19 ปี และ 20-24 ปี มีอัตราการว่างงานสูงขึ้นอยู่ที่ร้อยละ 9.4 และ 7.9 ตามลำดับ โดยสาเหตุที่แรงงานกลุ่มนี้เสี่ยงต่อการตกงาน เพราะส่วนใหญ่ยังขาดทักษะและประสบการณ์ เกิดเป็นข้อเสียเปรียบในเรื่องการหางาน เมื่อเทียบกับกลุ่มแรงงานที่มีอายุมากกว่า ซึ่งมีประสบการณ์การทำงานสะสมมากกว่า แถมบางรายอาจยอมลดค่าจ้างเพื่อให้ได้งานเร็วขึ้นอีกด้วย

แม้หลายสำนักจะคาดการณ์ภาพรวมเศรษฐกิจในปี 2564 ว่าอาจจะฟื้นตัวกว่าปีก่อนแบบค่อยเป็นค่อยไป แต่ตลาดแรงงานในประเทศไทยยังคงมีความเปราะบาง เพราะเศรษฐกิจของไทยส่วนใหญ่ยังคงพึ่งพิงอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว โดยเฉพาะจากชาวต่างชาติที่ยังมองไม่เห็นวี่แววการเดินทางเข้าไทยในช่วงนี้ รวมถึงธุรกิจประเภทค้าปลีก การผลิต โรงแรม และอาหาร ยังถูกจัดให้เป็นอุตสาหกรรมที่เสี่ยงต่อการตกงานสูง อุตสาหกรรมที่มีความเสี่ยงรองลงมาจะอยู่ในประเภทการขนส่ง บันเทิง การเงิน และการก่อสร้าง ส่วนธุรกิจที่มีความเสี่ยงน้อย หรืออาจได้รับผลกระทบไม่มากนัก จะเป็นพวกธุรกิจประเภทเกษตรกรรม สุขภาพ และการศึกษา

นอกจากนี้ยังมี 3 ปัจจัยที่กดการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในปี 2564 ได้แก่

1. แนวโน้มการปิดกิจการที่เพิ่มขึ้นจากระดับ 7.7% เฉพาะอย่างยิ่งในเดือนกันยายน-ตุลาคม 2563 ที่มีอัตราการเพิ่มสูงขึ้นถึง 35% ซึ่งสะท้อนถึงภาพรวมการลงทุนและการจ้างงาน

2. ตลาดแรงงาน โดยตัวเลขการว่างงานอยู่ที่ระดับ 2.1% หรือคิดเป็นสัดส่วนการตกงานราว 7-8 แสนคน สะท้อนให้เห็นว่าตลาดแรงงานยังมีความเปราะบาง และอัตราการว่างงานมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นได้อีกในอนาคต อันมาจากสาเหตุที่แรงงานโดนลดชั่วโมงการทำงานอย่างต่อเนื่อง ซึ่งสะเทือนต่อรายได้ และความเป็นอยู่ของครัวเรือนรอบด้าน

3. สัดส่วนหนี้ครัวเรือนจากข้อมูลของศูนย์วิจัยกสิกร ระบุว่ามีอัตราอยู่ในระดับสูงที่ 83.8% และมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องถึงไตรมาส 1 ในปี 2564 และมีสิทธิ์จะไต่ระดับสูงสุดขึ้นไปอยู่ที่ 88% ในไตรมาส 2 โดยหนี้ครัวเรือนระดับดังกล่าวถือว่าสูงที่สุด เมื่อเทียบกับประเทศที่กำลังพัฒนา และแม้ว่าสถาบันการเงินจะมีมาตรการช่วยเหลือด้วยการปรับโครงสร้างหนี้ แต่กลับพบว่าปัญหาหนี้ครัวเรือนเป็นปัจจัยหลักที่ฉุดรั้งการจับจ่าย ซึ่งสาเหตุที่มูลค่าหนี้ครัวเรือนเพิ่มขึ้น อาจมีผลมาจากการที่เศรษฐกิจมีการหดตัวอย่างรุนแรง โดยเฉพาะกลุ่มแรงงานที่ถูกลดเงินเดือน หรือเลิกจ้าง แต่ยังมีภาระที่ต้องรับผิดชอบสูง ก็จะเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบ และมีความเสี่ยงที่จะเพิ่มมูลค่าหนี้ครัวเรือนได้เช่นกัน

จากทั้งหมดที่กล่าวมา จะเห็นได้ชัดว่าถ้าการฟื้นตัวของตลาดแรงงานเกิดขึ้นช้า ก็อาจส่งผลให้รายได้ต่อครัวเรือนฟื้นตัวช้าตาม และจะกระทบต่อความสามารถในการชำระหนี้อีกด้วย แต่อย่างไรก็ตามทีมงานก็ขอเป็นกำลังใจให้ทุกคนก้าวผ่านช่วงเวลาที่ยากลำบากไปได้ เพราะเชื่อเหลือเกินว่าในวันที่วัคซีนสามารถรักษาประชาชนได้อย่างทั่วถึง และไทยสามารถเปิดประเทศต้อนรับนักลงทุน รวมถึงนักท่องเที่ยวได้ เศรษฐกิจก็จะสามารถฟื้นตัวและตลาดแรงงานก็จะกลับมาคึกคักอีกครั้ง ขอให้ทุกคนเข้มแข็ง และสู้ๆ นะคะ ด้วยความห่วงใยจากใจทีมงาน BTimes ^^

BTimes