“วิทยุทรานซิสเตอร์ “ อุปกรณ์วินเทจ แต่ยังอินเทรนด์ จำเป็นแค่ไหนในวิกฤตภัยพิบัติ

407
0
Share:

“วิทยุทรานซิสเตอร์ “ อุปกรณ์วินเทจ แต่ยังอินเทรนด์ จำเป็นแค่ไหนในวิกฤต ภัยพิบัติ

ช่วงหนี้ข่าวสถานการณ์น้ำท่วมมีให้เห็นกันทุกวัน ไม่ว่าจะต่างจังหวัดหรือในเมืองกรุงก็เสี่ยงท่วมพอๆ กัน เพราะในกรุงฝนตกหนักไม่นานก็ท่วมขังกลายร่างรถเป็นเรือได้ในวันเดียว ที่หนักหนาสาหัสน้ำท่วมมิดคอ บ้านเรือน ไร่ นา เสียหายก็มีอยู่หลายพื้นที่ซึ่งตอนนี้ก็ยังน่าเป็นห่วง

แต่ที่กลายเป็นประเด็นดราม่ากันอยู่หลายวันก็เห็นจะเป็นเรื่องที่ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหมของชาวไทย ที่ท่านได้แสดงความเป็นห่วงสถานการณ์น้ำท่วมและได้มีการหารือนโยบาย เพื่อรับมือดูแลประชาชน แต่ดันมีบางช่วงบางตอนที่บอกว่าให้ประชาชนใช้ “วิทยุทรานซิสเตอร์” รับฟังข่าวสารน้ำท่วมเมื่อเกิดไฟฟ้าดับหมด ซึ่งท่านได้ระบุถึงการใช้บริการไฟฟ้า ประปา และโทรศัพท์ ต้องให้ใช้ได้นานที่สุด ถ้าระบบมันล่มไปทั้งหมด การสื่อสารแจ้งข้อมูลจะทำได้ลำบาก อาจจะต้องไปใช้ “วิทยุทรานซิสเตอร์” ในการออกอากาศแจ้งเตือนประชาชนได้อีกทาง ซึ่งเคยใช้กันเมื่อปี 2554 เพราะตอนนั้นไฟฟ้าดับหมด ดังนั้นเราต้องเตรียมแผนตรงนี้ไว้ด้วยในกรณีที่อาจจะเกิดปัญหา

แน่นอนว่ากลายเป็นกระฮิตติดเทรนอยู่ช่วงหนึ่ง และความเห็นก็ไปในทำนองว่าล้าสมัย อ้างข้อมูลจากเพจ “Drama-addict” ได้ออกมาโพสต์ข้อความเกี่ยวกับประเด็นดังกล่าว โดยได้ระบุว่า “ชาวบ้านในพื้นที่ต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ไม่ได้ฟังข่าวสารผ่านวิทยุมานานกว่า 10 ปีแล้ว เพราะหันมาใช้โทรศัพท์มือถือ ในการอ่านหรือติดตามข่าว และเหตุการณ์ต่างๆ ส่วนลำโพงบลูทูธที่มีฟังก์ชันวิทยุมาให้ ก็จะใช้งานเสียบแฟลชไดรฟ์ ฟังเพลงเสียส่วนใหญ่ ไม่เคยเข้าไปเปิดโปรแกรมฟังวิทยุ FM หรือ AM เลยสักครั้งเดียว เพราะโลกปัจจุบันวิทยาการสมัยใหม่ได้เปลี่ยนพฤติกรรมของชาวบ้านไปแล้ว การที่เอาแนวคิดใช้วิทยุทรานซิสเตอร์มาปัดฝุ่น จึงถูกมองว่าตกยุคและถอยหลังลงคลอง” ซึ่งจากโพสต์ดังกล่าวต่างก็มีผู้คนมาร่วมแสดงความคิดเห็นต่างๆ นานา

หากย้อนกลับไป “วิทยุ” ถือกำเนิดขึ้นในปี 2497 คิดค้นโดย “เบลแล็ป” นวัตกรรมที่เปรียบเสมือนวาล์วควบคุมกระแสไฟฟ้าเข้าออก และเปิด-ปิด และมีการพัฒนาจนมีขนาดเล็กนำไปบรรจุลงในวิทยุได้ และสามารถพกพาไปฟังได้ทุกที่ ที่สุดมีการตั้งชื่อวิทยุรุ่นนี้ว่า “วิทยุทรานซิสเตอร์” แต่ภายหลังเรียกไปเรียกมา ตัดทอนลงมาเหลือแค่ “ทรานซิสเตอร์”

ในบ้านเราปัจจุบันก็ยังมีคนฟังวิทยุอยู่นะเออ โดยตัวเลขผลสำรวจพฤติกรรมการรับฟังรายการวิทยุทั่วประเทศ ในช่วงปี 2565 จากจำนวนผู้ฟัง 3,655 คน อ้างอิงจากสำนักนโยบายและวิชาการกระจายเสียงและโทรทัศน์ สำนักงาน กสทช. และสถาบันอาณาบริเวณศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พบว่า อุปกรณ์หลักในการรับฟังวิทยุ จากการสำรวจพบว่าร้อยละ 68.9 ของกลุ่มผู้ฟังวิทยุยังนิยมรับฟังจากเครื่องรับวิทยุ ทั้งจากวิทยุในบ้าน วิทยุพกพา หรือวิทยุในรถยนต์ รองลงมาร้อยละ 19.3 รับฟังจากโทรศัพท์เคลื่อนที่ผ่านเครือข่ายโทรศัพท์มือถือ ทั้ง 3G 4G และ wifi ตามมาด้วย ร้อยละ 7.8 เป็นการรับฟังจากวิทยุที่อยู่ในโทรศัพท์เคลื่อนที่ และแท็บเล็ต และน้อยที่สุด ร้อยละ 0.3 เป็นการรับฟังผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ตจากคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะ โน๊ตบุ๊ก แล็ปท็อป และคอมพิวเตอร์พกพา

และรู้หรือไม่ว่าวิธีรับมือภัยพิบัติของอเมริกาหรือ ญี่ปุ่น ไม่ว่าจะพายุ น้ำท่วม แผ่นดินไหว ยังต้องพึ่ง “วิทยุทรานซิสเตอร์” สำหรับใช้สื่อสารในพื้นที่ประสบภัยเช่นกัน โดยในชุดอุปกรณ์ช่วยชีวิต ยังมี “วิทยุทรานซิสเตอร์” พร้อมถ่าน ปรากฏในรายการด้วย หรือแม้แต่ในช่วงน้ำท่วมปี 54 สมัยรัฐบาล “ยิ่งลักษณ์” ที่ “บิ๊กตู่” อ้างถึงก็ใช้สื่อสารให้ประชาชนรับข่าวสารจากวิทยุเช่นกัน

และจากการที่ยังพอมีคนฟังวิทยุอยู่ ก็เลยไม่แปลกที่บนแพลตฟอร์มขายของออนไลน์ก็ยังมีวิทยุขายอยู่ แถมราคาก็อยู่ในหลักร้อย ยกตัวอย่างเช่นวิทยุยี่ห้อ “ธานินทร์” แบรนด์สุดอมตะในบ้านเรา ถูกสุดราคาก็แค่ 205 บาท ถ้ารุ่นแอดวานซ์ต่อบลูทูธ เสียบยูเอสบีได้ ก็อยู๋ที่ 500 กว่าบาท (อ้างอิงข้อมูลจาก https://ipricethailand.com/tanin/) ถือเป็นการพัฒนาให้เข้ากับยุคสมัย สะดวกสบายยิ่งขึ้น บางรุ่นคือ 2in1 มีทั้งปลั๊กและใส่ถ่านให้เลือกใช้ด้วย

ในแนวคิดและจินตนาการว่าถ้าเกิดไฟฟ้าดับ อินเทอร์เน็ตล่ม โทรศัพท์มือถือที่เคยพึ่งพามันตลอด 24 ชั่วโมง พอแบตฯ หมด ก็อาจจะไม่มีประโยชน์ วิทยุนี่แหละคือทางออก จะเป็นพระเอกขี่ม้าขาวมาช่วยในยามฉุกเฉิน แต่ไม่รู้หรือคะๆๆๆๆ ว่าเขามีเทคโนโลยี ‘Cell Broadcasting’ แจ้งเตือนภัยพิบัติผ่านมือถือ

อ้างอิงจากเพจ “พรรคก้าวไกล – Move Forward Party” ระบุว่า ในหลายๆ ประเทศทั่วโลกนำมาใช้ เช่น ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ แคนาดา ฝรั่งเศส ฯลฯ ด้วยเทคโนโลยีการส่งข้อมูลที่เรียกว่า Cell Broadcasting ที่เป็นระบบส่งข้อมูลโดยตรงจากเสาสัญญาณไปสู่โทรศัพท์มือถือทุกเครื่องในพื้นที่ให้บริการพร้อมกันในรวดเดียว ซึ่งจะมีข้อดีคือหน่วยงานรัฐสามารถส่งข้อมูลตรงได้เลยถึงโทรศัพท์มือถือของประชาชนโดยไม่ต้องผ่านผู้ให้บริการเครือข่ายมือถือ (บริษัท AIS, Dtac, True) แบบที่ กสทช. ทำ

ด้วยการส่งข้อความจากเสาสัญญาณไปถึงโทรศัพท์ทุกเครื่องในรวดเดียวโดยไม่ต้องระบุเบอร์มือถือ ทำให้สะดวก รวดเร็ว และเจาะจงพื้นที่ได้ (ความเร็วระดับส่งได้หลายสิบล้านเครื่องในเวลาไม่ถึง 10 วินาที) และยังไม่กระทบกับการสื่อสารปกติ เพราะใช้คนละช่องสัญญาณกับโทรศัพท์มือถือและอินเทอร์เน็ต ประชาชนไม่ต้องดาวน์โหลดแอปพลิเคชั่นเพิ่มเติม รองรับการให้บริการครบทั้งคลื่นความถี่ 2G, 3G, 4G, 5G สามารถรับประกันได้ว่าข้อความสามารถไปถึงทุกคนไม่ว่าโทรศัพท์จะรุ่นเก่าหรือใหม่ โดยเทคโนโลยีนี้ก็ไม่ใช่เทคโนโลยีใหม่ล้ำสมัยอะไร เพราะมีมานานแล้วด้วย

อุปกรณ์หรือเทคโนโลยีทุกอย่างบนโลกต่างก็มีทั้งข้อดีและข้อเสียแตกต่างกันออกไป ไม่เว้นแม้แต่สมาร์ทโฟน ที่ถ้าแบตหมดไม่มีไฟฟ้า หรือแบตเตอรี่ก็คงไม่ต่างอะไรจากที่ทับกระดาษง่อยๆ อันนึงล่ะ

เอาเป็นว่า “วิทยุทรานซิสเตอร์” ไม่ได้เป็นอุปกรณ์ที่ตกยุคหรือล้าสมัยใดๆ เดี๋ยวนี้อะไรๆ ที่วินเทจก็ยังไม่ตกเทรนด์ ในแง่การใช้ประโยชน์ในยามฉุกเฉินก็ตอบโจทย์ ถ้าไม่มีอุปกรณ์สื่อสารอื่นๆ แต่ถ้าคิดง่ายๆ ในยุคนี้ หากเกิดช่วงเวลาคับขัน น้ำเข้าบ้าน ไฟไหม้หรือใดๆ ก็ตามแต่ เชื่อว่าสิ่งที่คนเราจะหยิบติดมือมาคงหนีไม่พ้น เงินทองกับโทรศัพท์ อาจจะมีน้อยคนที่รีบคว้าวิทยุหนีตาย เชื่อว่าสิ่งที่ประชาชนต้องการน่าจะเป็นนโยบายที่ป้องกันและลดความเสียหายของชีวิตและทรัพย์สิน มากกว่าการให้ประชาชนนั่งฟังข่าวจากวิทยุบนหลังคาบ้าน รอความหวังว่าจะมีคนมาช่วยทีหลังหรือเปล่า??

BTimes