สมรภูมิเดลิเวอรี่ปี 66 ลดความร้อนแรง หลังผู้บริโภคปรับพฤติกรรม โควิดคลาย กูรูคาดตลาดส่อวืด อาจหดตัว 0.8-6.5%

557
0
Share:

สมรภูมิ ฟู้ดเดลิเวอรี่ ปี 66 ลดความร้อนแรง หลังผู้บริโภคปรับพฤติกรรม โควิดคลาย กูรูคาดตลาดส่อวืด อาจหดตัว 0.8-6.5%

สมรภูมิเดลิเวอรี่ปี 66 ลดความร้อนแรง หลังผู้บริโภคปรับพฤติกรรมเคยชินบริการสนองความขี้เกียจ โควิดคลี่คลาย กูรูคาดตลาดส่อวืด อาจหดตัว 0.8-6.5% ทรุด 81,000 ล้าน จากที่เคยพุ่งกว่า 1 แสนล้านบาท

ปัจจุบันแพลตฟอร์มฟู้ดเดลิเวอรี่มีคู่แข่งที่มาจากหลากหลายวงการ ไม่ว่าใครก็กระโดดเข้ามาในสมรภูมินี้ เช่น แอร์เอเชีย ธุรกิจสายการบินที่เข้าซื้อกิจการของ Gojek ในไทย, โรบินฮู้ด ก็มาจากกลุ่มธนาคารไทยพาณิชย์ หรือแม้แต่ช้อปปี้ แพลตฟอร์มอีมาร์เก็ตเพลสก็หันมาเล่นธุรกิจฟู้ดเดลิเวอรี่ด้วย สาเหตุที่ตลาดนี้ร้อนแรงก็อาจเพราะปัจจุบันฟู้ดเดลิเวอรี่เองก็ได้กลายมาเป็นผู้ช่วยหลักเวลาหิว โดยเฉพาะคนเมืองที่ฟู้ดเดลิเวอรี่ให้บริการอย่างทั่วถึง แถมสะดวกสบาย ขี้เกียจออกจากบ้านก็แค่กดแอปฯ ไม่นานก็มีพี่ไรด์เดอร์เอาอาหารมาส่งถึงหน้าบ้าน

ซึ่งจากพฤติกรรมผู้บริโภค และตลาดที่เปลี่ยนไป ผู้เล่นใหม่ๆ ต่างก็มองว่าตลาดนี้ถ้าเอาดี โตแน่…

ถ้าเราย้อนกลับไปในช่วงก่อนสถานการณ์โควิด-19 จะเข้ามาแพร่ระบาดในบ้านเรา ธุรกิจฟู้ดเดลิเวอรี่ก็ดูจะยังเป็นช่วงแห่งการเริ่มต้นบุกเบิก ผู้คนอาจจะยังไม่ชินกับการสั่งเดลิเวอรี่ แต่ตัวเลขมูลค่าตลาดค่อยๆ เพิ่มขึ้นมาเรื่อยๆ

โดยข้อมูล มูลค่าตลาดเดลิเวอรี่ จากศูนย์วิจัย EIC ธนาคารไทยพาณิชย์ พบว่า
– ปี 2562 มีมูลค่ากว่า 23,000 ล้านบาท เติบโต 254% (เทียบกับปี 2561 ที่ 7,000 ล้านบาท)
– ปี 2563 มีมูลค่ากว่า 65,000 ล้านบาท เติบโต 179%
– ปี 2564 มีมูลค่ากว่า 105,000 ล้านบาท เติบโต 62%

จะเห็นได้ว่าช่วงเกิดวิกฤตโควิด-19 ฟู้ดเดลิเวอรี่โตขึ้นแบบก้าวกระโดด โดยข้อมูลผู้ให้บริการแพลตฟอร์มออนไลน์ พบว่า บรรดาร้านค้าผู้ประกอบการรายเล็ก-กลาง ต่างพากันสมัครเข้าร่วมแพลตฟอร์มเดลิเวอรี่กันไม่ต่ำกว่า 20,000 ร้านค้าต่อสัปดาห์ ส่งผลไปถึงยอดสั่งอาหารแบบเดลิเวอรี่โตขึ้นถึง 150%

แต่ที่น่าสังเกตคือตั้งแต่ปี 2563 การเติบโตค่อยๆ ชะลอลง ซึ่งข้อมูลของศูนย์วิจัยกสิกรไทยพบว่า ราคาหรือยอดสั่งอาหารต่อครั้งจะเพิ่มขึ้น แต่ในอัตราที่จำกัด ด้วยการแข่งขันที่รุนแรงและกำลังซื้อที่ลดลงของผู้บริโภค ท่ามกลางสถานการณ์ค่าครองชีพที่สูงขึ้น

ส่วนในปี 2565 ตลาดที่เคยแข่งขันกันดุเดือด ดูเหมือนจะลดความร้อนแรงลง มูลค่าตลาดฟู้ดเดลิเวอรี่ในปี 2565 มีมูลค่าประมาณ 79,000 ล้านบาท หรือขยายตัว 4.5% ชะลอลงจากฐานที่เร่งตัวสูงในปี 2564 ที่ผ่านมา และในปี 2566 ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่าตลาดฟู้ดเดลิเวอรี่น่าจะมีมูลค่าอยู่ที่ประมาณ 81,000–86,000 ล้านบาท หดตัว 0.8%–6.5% (จากฐานที่สูงในปี 2565) ซึ่งเหตุผลหลักก็มาจากการสั่งอาหารผ่านแอปฯ ลดลงจากเมื่อก่อน เฉลี่ยประมาณ 5 ครั้งต่อเดือน เทียบจากช่วงโควิด-19 อยู่ที่ 7 ครั้ง รวมทั้งเรื่องราคาที่แพงขึ้นจากต้นทุนวัตถุดิบ ราคาน้ำมัน ค่าไฟฟ้า ต่างๆ ใดๆ ร่วมด้วย

แม้ว่ามูลค่าตลาดฟู้ดเดลิเวอรี่ในปี 2566 จะมีแนวโน้มหดตัว แต่ก็ยังคงสูงกว่าค่าเฉลี่ยในช่วงก่อนเกิดการแพร่ระบาดโควิด-19 อย่างมาก ส่วนหนึ่งเป็นผลจากความคุ้นชินการสั่งอาหารผ่านแอปพลิเคชันของผู้บริโภค การทำตลาดของผู้ให้บริการแพลตฟอร์มจัดส่งอาหาร และแนวโน้มราคาต่อออร์เดอร์ที่เพิ่มขึ้น หลายๆ แอปฯ ก็ได้ขยายบริการไปยังต่างจังหวัดมากขึ้นด้วย รวมถึงการเพิ่มกลยุทธ์ เช่น จัดแคมเปญเรียกลูกค้า หรือเพิ่มบริการเสริม ให้รางวัลการันตีร้าน หรือคะแนนรีวิว ก็ทำให้แอปฯ มีความน่าสนใจมากขึ้น

LINE MAN Wongnai ที่เป็นการจอยกันของสองแพลตฟอร์ม มีความได้เปรียบเรื่องของการรีวิวจากผู้ใช้จริง ซึ่งเชื่อว่าการ “รีวิว” จากผู้ใช้จริงเป็นส่วนสำคัญของการตัดสินใจจากผู้บริโภครายใหม่ในเบื้องต้น แต่ทุกวันนี้บนแอปฯ ฟู้ดเดลิเวอรี่มีการรีวิวเพียง 10% จากผู้ใช้ 25 ล้านคน จุดนี้จึงเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ LINE MAN Wongnai จัดอันดับรางวัลร้าน LINE MAN Wongnai Users’ Choice เพื่อต่อยอด การรีวิวจากผู้ใช้งานจริงกว่า 25 ล้านคนบนแอปฯ LINE MAN และ Wongnai ด้วยสโลแกน “อร่อยตัวจริง คัดจากนักกินทั่วไทย” ซึ่งปีนี้ได้ดำเนินกิจกรรมมาครบ 10 ปีแล้ว

คุณเอกลักษณ์ วิริยะโกวิทยา ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฎิบัติการ Lifestyle & Solution Services จาก LINE MAN Wongnai บอกว่า ในปีนี้มีร้านที่ได้รับรางวัล Users’ Choice 2023 ทั้งหมด 555 ร้าน จากการคัดเลือกกว่า 1.3 ล้านร้านอาหารทั่วประเทศ คิดเป็นสัดส่วนแค่ 0.04% ของร้านทั้งหมด ซึ่งรางวัลนี้จะช่วยให้ผู้บริโภคมีความมั่นใจในการเลือกร้านอาหารที่มีคุณภาพดีโดยมั่นใจได้ว่ารีวิวมาจากผู้บริโภคตัวจริง 100% เพราะจะต้องมีการยืนยันตัวตนจากฐานข้อมูลในแอปฯ

คุณเอกลักษณ์ บอกด้วยว่าสถานการณ์การใช้บริการหลังจากช่วงสถานการณ์โควิด-19 เริ่มคลี่คลาย ไม่พบว่าการใช้บริการสั่งอาหารออนไลน์ลดลง เนื่องจากผู้บริโภคปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและเคยชินกับการสั่งอาหารออนไลน์มากขึ้น ขณะที่ร้านค้าเองก็หันมาใช้ช่องทางออนไลน์เป็นเครื่องมือในการจำหน่ายอาหารให้ผู้บริโภคมากขึ้น และในทุกๆ ปีพบว่าจะมีผู้ประกอบการรายใหม่ๆ เข้ามาร่วมเป็นพาร์ทเนอร์กับ LINE MAN Wongnai กว่า 2 แสนราย ซึ่งในปีนี้จะมีการเพิ่มร้านค้าใหม่เข้ามาในแพลตฟอร์มมากขึ้น โดยเฉพาะร้านในกลุ่มที่เป็นกระแสในสื่อโซเชียล ซึ่งจะเป็นกลุ่มที่ดึงดูดให้มีผู้เข้ามาใช้บริการในทั้งสองแอปฯ ได้เพิ่มมากขึ้นอีกด้วย

อย่างไรก็ตาม หลายๆ แพลตฟอร์มยังแข่งขันผ่านบริการอื่นๆ เพื่อสร้างการเติบโตด้านรายได้ ผลกำไร และกลุ่มลูกค้าที่อาจจะกลายเป็นลูกค้าประจำได้ เพราะบริการอื่นๆ เป็นบริการที่มีมูลค่าการสั่งซื้อสูงกว่าอาหาร 2-3 เท่า ส่วนใหญ่จะเน้นไปที่บริการซื้อสินค้าจากร้านสะดวกซื้อ ซูเปอร์มาร์เก็ตเป็นหลัก

รวมถึงมีหลายแพลตฟอร์มที่นำจุดเด่นของตัวเองมาให้บริการ หรือขยายไปยังบริการอื่นๆ เพิ่มขึ้นมา อาจจะเรียกว่าอัปเกรดเป็น Super App หรือ Everyday App ของแพลตฟอร์มรายใหญ่ๆ ก็ได้ ซึ่งก็ยังเป็นการแข่งขันที่ทำให้ตลาดจะยังคงคึกคัก แต่ถึงอย่างไรส่วนหนึ่งก็จะเป็นผลดีต่อผู้บริโภคอย่างเราๆ ที่จะมีทางเลือกหลากหลายให้ได้เทียบราคา ความคุ้มค่า โปรโมชันแต่ละช่วง สลับกันใช้ไปหลายๆ แอปฯ ก็ถือเป็นการกระจายรายได้ให้กับร้านค้าผู้บริการอีกด้วย…

BTimes