เหตุไฉนทำไมนายกฯ ถึงชวนสวดมนต์ไล่น้ำท่วม แล้วการสวดมนต์สามารถไล่น้ำท่วมได้จริงหรือ ?

1220
0
Share:

เหตุไฉนทำไมนายกฯ ถึงชวน สวดมนต์ไล่น้ำท่วม แล้วการสวดมนต์สามารถไล่น้ำท่วมได้จริงหรือ ?

จากการลงพื้นที่สำรวจสถานการณ์น้ำท่วมในปี 2564 ของพล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ได้เดินทางไปยังจังหวัดสุโขทัย พร้อมขอให้ประชาชนร่วมกันสวดมนต์เพื่อไล่พายุ ขอไม่ให้พายุเข้ามาอีก แค่ลูกเดียวก็เพียงพอแล้ว ซึ่งภายหลังจากเรื่องนี้เผยแพร่ออกไป ส่งผลให้ประชาชนต่างออกมาวิจารณ์เหตุการณ์ดังกล่าวกระฉ่อนโลกโซเชียล โดยหลายคนให้เหตุผลว่าประชาชนที่ได้รับผลกระทบน่าจะอยากได้แผนงานป้องกันน้ำท่วมที่เป็นรูปธรรมมากกว่าการสวดมนต์ แล้วสำหรับคุณหละ เชื่อหรือไม่ว่าการสวดมนต์สามารถไล่น้ำท่วมไปได้จริงๆ ?

สาเหตุหลักของการเกิดน้ำท่วมในครั้งนี้ เป็นผลมาจากพายุโซนร้อนที่มีชื่อว่า “เตี้ยนหมู่” จากประเทศเวียดนามที่พัดเข้ามายังประเทศไทย ทำให้เกิดเหตุน้ำท่วมในหลายจังหวัดแบบฉับพลัน โดยล่าสุดวันที่ 1 ตุลาคม 2564 กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ได้รายงานจังหวัดที่เกิดอุทกภัยในช่วงวันที่ 23-30 กันยายน 2564 รวมทั้งหมด 31 จังหวัด 193 อำเภอ 981 ตำบล 6,827 หมู่บ้าน 1 เขตเทศบาล และมีบ้านเรือนที่ถูกน้ำท่วมได้รับผลกระทบทั้งสิ้น 220,220 ครัวเรือน นอกจากนี้ยังมีการแจ้งเตือนให้หลายจังหวัดเฝ้าระวังน้ำท่วมแบบฉับพลันร่วมด้วย

แม้ในปัจจุบันพายุเตี้ยนหมู่จะได้อ่อนกำลังลงแล้ว เหลือแค่เพียงฝนตก แต่สิ่งที่น่ากังวลต่อมาคือจังหวัดที่มีลักษณะเป็นพื้นที่ต่ำ เนื่องจากฝนที่ตกสะสมมาทางภาคเหนือตอนบนจะส่งผลให้มวลน้ำไหลลงมารวมกันที่แม่น้ำน่าน จังหวัดพิษณุโลก หลังจากนั้นจะมารวมที่แม่น้ำเจ้าพระยา จังหวัดนครสวรรค์ โดยจังหวัดที่ต้องระวังและควรตั้งรับต่อมาก็คือ กรุงเทพฯ ปทุมธานี อยุธยา ชัยนาท สิงห์บุรี สุพรรณบุรี อ่างทอง ลพบุรี สมุทรสาคร ฉะเชิงเทรา สมุทรสงคราม สมุทรปราการ โดยน้ำจะไหลลงสู่อ่าวไทยในจังหวัดสมุทรปราการ

ส่วนทางภาคอีสานน้ำจะไหลออกทางแม่น้ำโขง โดยจังหวัดที่ได้รับผลกระทบจากการที่มีน้ำท่วมขัง ได้แก่ โคราชและชัยภูมิ เพราะไม่มีทางระบายไปลงแม่น้ำ และถ้าสมมุติประเทศจีนปล่อยน้ำจากเขื่อนมาสมทบอีก เห็นทีทุกข์นี้ก็คงยากที่คลายลง

10 ปีผ่านไป 2554 ถึง 2564 น้ำจะท่วมซ้ำรอยเดิมหรือไม่ ?

จากสถานการณ์น้ำท่วมที่นิคมอุตสาหกรรมบางปู จังหวัดสมุทรปราการ จนถึงพายุโซนร้อนเตี้ยนหมู่ที่มาเยือนติดๆ กัน ทำให้คนไทยวิตกกังวลเกี่ยวกับเรื่องน้ำท่วมเป็นอย่างมาก หากย้อนกลับไปเมื่อ 10 ปีที่แล้ว ประเทศไทยเคยเกิดเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ที่สุด จนถูกขนานนามว่าเป็น “มหาอุทกภัยแห่งทศวรรษ” แต่จะเป็นไปได้หรือไม่ว่าอาจเกิดเหตุการณ์ซ้ำรอยน้ำท่วมใหญ่อีกครั้งในปี 2564 ?

หลังจากที่คำถามดังกล่าวของประชาชนได้ถูกส่งออกไป ทางฟากรัฐบาล ฝ่ายค้าน และนักวิชาการต่างออกมาบอกว่า น้ำระลอกนี้ไม่น่าท่วมหนักเท่าปี 2554 แน่นอน อีกทั้ง ดร.ปลอดประสพ สุรัสวดี อดีตรองนายกรัฐมนตรีสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ก็ได้ออกมาโพสต์เฟซบุ๊กยืนยันปีนี้น้ำไม่ท่วมใหญ่เหมือนปี 2554 แน่ โดยท่านได้วิเคราะห์ไว้ว่า

“ปีนี้น้ำไม่ท่วมใหญ่แน่นอน มีคนถามมามากว่าช่วยวิจารณ์หน่อย ปีนี้น้ำจะท่วมใหญ่เหมือนปี 2554 หรือไม่ จึงขออธิบายแบบเอาปี 2554 เป็นตัวหลัก แล้วเอาสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นไปเทียบเคียง

1. ปี 2554 ฝนมาเร็วกว่าปกติ (มีนาคม) และปริมาณฝนทั้งปีมากถึง 2,257 มม. ซึ่งถือว่ามากที่สุดในรอบ 70 ปี มากกว่าปีปัจจุบันถึง 35% ซึ่งมีฝนเพียง 1,300 มม. เท่านั้น

2. ปี 2554 มีพายุถึง 5 ลูก ขณะที่ปีนี้มีพายุเล็กๆ ลูกเดียว

3. ปี 2554 มีร่องมรสุม (ร่องฝน) ยาว 6 เดือนตั้งแต่เดือนพฤษภาคมจนถึงตุลาคม แต่ปีนี้ร่องฝนเกิดสั้นๆ และก็หายไปแล้ว (แต่ก็อาจเกิดใหม่ได้)

4. ปี 2554 อ่างเก็บน้ำเกือบทุกอ่างมีน้ำมากกว่า 90% มาตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2553 ส่วนขณะนี้มีน้ำต่ำกว่า 50% เป็นส่วนใหญ่ (แปลว่าหากมีฝนมาอีกยังสามารถเก็บกักหรือชะลอไว้ได้)

5. ปี 2554 น้ำท่วมมากถึง 65 จังหวัด โดยเฉพาะแม่น้ำยมมีน้ำมากถึง 6,000 ล้านลูกบาศก์เมตร (มากที่สุดเท่าที่เคยมี) แต่ในปัจจุบันเป็นการท่วมเฉพาะจุด (Localized)

6. ปี 2554 น้ำจำนวนมากกว่าความจุของเขื่อนภูมิพล 8-10 เท่า ไหลทั้งตามลำน้ำและแผ่เข้าที่ราบลุ่ม แล้วหลากผ่านภาคกลาง และกรุงเทพฯ เพื่อลงทะเลในช่วงน้ำทะเลขึ้นสูงสุด ในขณะที่ปัจจุบันน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยายังต่ำกว่าตลิ่งอยู่มาก

7. ปี 2554 น้ำที่ไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยามีมากมหาศาลถึง 3,000-4,000 ลูกบาศก์เมตร/วินาที แต่วันนี้มีน้ำไหลระหว่าง 1,500-2,000 ลูกบาศก์เมตร/วินาที เท่านั้น (เกือบปกติ)

โดยสรุปก็คือพายุหรือฝนปีนี้ถือว่าธรรมดามาก เปรียบเทียบไม่ได้เลยกับสิ่งที่เกิดขึ้นในปี 2554 แต่ที่ท่วมตอนนี้มีลักษณะเป็นจุดๆ ไม่ได้แผ่ไปในพื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศ ดังนั้นจึงขอพูดด้วยความมั่นใจว่าปีนี้น้ำไม่ท่วมใหญ่โดยเฉพาะกรุงเทพฯ แน่”

เมื่อวันที่ 30 กันยายนที่ผ่านมา นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) กล่าวว่า รัฐบาลยังได้มุ่งเน้นการแก้ปัญหาในเชิงบริหารจัดการควบคู่เชิงโครงสร้างไปด้วย อาทิ พัฒนารูปแบบการจัดการน้ำโดยใช้พื้นที่ลุ่มต่ำรับน้ำนอง เพื่อบรรเทาความเสียหาย โดยพื้นที่ลุ่มต่ำลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง 12 ทุ่ง จำนวน 1.15 ล้านไร่ สามารถหน่วงน้ำได้ 1,500 ล้านลูกบาศก์เมตร

การสร้างความเข้มแข็งขององค์กรด้านน้ำ ตั้งแต่ระดับพื้นที่ถึงระดับนโยบาย ยกระดับการมีส่วนร่วมด้านน้ำ ได้แก่ องค์กรผู้ใช้น้ำ อนุกรรมการทรัพยากรน้ำจังหวัด คณะกรรมการลุ่มน้ำ คณะกรรมการทรัพยากรน้ำ การจัดตั้งกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ซึ่งเป็นการพัฒนากลไกการกำกับดูแล อำนวยการ สั่งการจัดการน้ำทั้งในภาวะปกติ และภาวะวิกฤต ไปจนถึงการพัฒนาเครื่องมือการบริหารจัดการน้ำ ได้แก่ ผังน้ำ คลังข้อมูลน้ำในรูปแบบวันแมป ผ่านเว็บไซต์และแอปพลิเคชัน National Thai Water ส่งเสริมการพัฒนาพื้นที่เกษตรน้ำฝนในทุกรูปแบบอย่างเต็มศักยภาพ โดยทำงานร่วมกับแบบบูรณาการระหว่างหน่วยงาน รวมถึงกำหนดมาตรการจัดการน้ำทั้งในเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพ โดยเฉพาะแผนการจัดการคุณภาพน้ำระดับลุ่มน้ำ และการจัดสรรน้ำ เพื่อรักษาระบบนิเวศ

แน่นอนว่าเราห้ามน้ำมาไม่ได้ แต่เราเรียนรู้อะไรจากบทเรียนของเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่เมื่อ 10 ปีก่อน และเรียนรู้อะไรจากปัญหาสำคัญมากที่สุด ทำไมในเมื่อภาครัฐต่างก็บอกว่าได้ดำเนินโครงการแก้ปัญหาน้ำท่วมแล้ว แต่ปัญหาน้ำท่วมไม่เคยหมดไปจากประเทศไทยสักที การแก้ผังเมืองจะเป็นทางออกหรือไม่ และจะมีรัฐบาลไหนไหมที่คิดจะเข้ามาแก้ไขปัญหาน้ำท่วมอย่างจริงจังจริงๆ สุดท้ายประชาชนคงต้องจับตารอดู และหวังว่าจะมีโครงการที่เรียนรู้จากปัญหาที่เคยเกิดขึ้น แล้วทำให้มีประสิทธิภาพ โดยที่ประชาชนเดือดร้อนน้อยที่สุด หรือไม่เช่นนั้นเราต้องแก้ปัญหาน้ำท่วมด้วยการสวดมนต์ตามที่นายกฯ บอกจริงหรือ ?

ท้ายนี้ทีมงาน BTimes ขอเป็นกำลังใจให้กับประชาชนคนไทยที่กำลังเผชิญเหตุการณ์น้ำท่วมในตอนนี้ สู้ๆ นะคะ ขอให้ทุกคนปลอดภัยค่ะ

BTimes