‘สะพานลอย’ ความปลอดภัยที่แฝงไว้ด้วยสารพัดความเสี่ยง

1223
0
Share:

‘สะพานลอย’ ความปลอดภัยที่แฝงไว้ด้วยสารพัดความเสี่ยง
สมัยยังเป็นเด็กเชื่อว่าหลายคนมักจะได้ยินคำสอนที่ว่าถ้าอยากข้ามฝั่งต้องขึ้นสะพานลอยเท่านั้น! กลับกันในมุมของผู้ขับขี่ก็อาจจะหงุดหงิดใจไม่น้อย เมื่อต้องพบเห็นคนข้ามถนนใต้สะพานลอย เพราะอาจจะทำให้เกิดเหตุไม่คาดฝัน ลามยาวเป็นปัญหาให้ทั้งผู้ข้ามและผู้ขับขี่ แต่ถ้ามองย้อนไปถึงกลุ่มผู้สูงอายุ และผู้พิการก็เกิดคำถามอีกว่าพวกเขาจะขึ้นสะพานลอยได้อย่างไร ในเมื่อแรงที่จะเดินยังแทบไม่มี… จึงเกิดปมในใจว่าการสร้างสะพานลอยเป็นการแก้ปัญหาที่ดีที่สุดแล้วจริงหรือ? แท้จริงแล้วสะพานลอยถูกสร้างมาให้เอื้อกับคนทุกกลุ่มจริงหรือเปล่า?

เจออะไร เจออะไร เจออะไรที่สะพานลอย?
ข้อมูลจากการทางพิเศษแห่งประเทศไทย ระบุว่าในกรุงเทพมหานครมีสะพานลอยทั้งหมดประมาณ 900 แห่ง แต่ทำไมคนเดินเท้ามักจะชอบข้ามถนนมากกว่าขึ้นสะพานลอย สาเหตุหนึ่งอาจมาจากความเบื่อหน่ายกับปัญหาสะพานลอยที่ไม่ได้มาตรฐาน แถมยังพ่วงมาด้วยความเสี่ยงรอบด้าน ไม่ว่าจะเป็นด้านอาชญากรรม ปัญหาสุขภาพที่มีต้นตอมาจากการชำรุดของพื้นผิว หรือแม้กระทั่งความเสี่ยงว่าจะโดนไฟดูด เนื่องจากมีสายไฟพาดระโยงระยางเต็มไปหมด แต่ทำไมสิ่งก่อสร้างอย่างสะพานลอยที่ดูแล้วน่าจะมีประโยชน์ช่วยทำให้ผู้คนปลอดภัยจากอุบัติเหตุบนท้องถนน ถึงกลายเป็นจุดที่ทำให้เกิดอาชญากรรมมากมาย หรือเพราะการซ่อมบำรุงสะพานลอยถูกปล่อยปละละเลย ทำให้ไฟก็ไม่มี ต่อให้มีก็ไม่สมบูรณ์ อีกทั้งกล้องวงจรปิดบางจุดก็ใช้งานไม่ได้ และในบางครั้งผู้สูงอายุ ผู้พิการ หรือผู้ที่มีปัญหาข้อเข่าเสื่อมก็ไม่สามารถทนเดินขึ้นบันไดที่มีหลายขั้นได้ รวมถึงราวจับยังเป็นจุดกระจายเชื้อโรคชั้นดี ยิ่งมาเจอกับการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ยิ่งน่าเป็นห่วงหนักขึ้นไปอีก สุดท้ายก็แอบคิดไม่ได้ว่าสะพานลอยกว่า 900 แห่งนั้นจำเป็นต่อการใช้งานจริงหรือไม่?

‘สะพานลอย’ เครื่องอำนวยความสะดวกที่ปลอดภัย หรือแท้จริงแล้วคือแหล่งรวมความเสี่ยง…
ถึงแม้สะพานลอยจะถูกสร้างมาเพื่อลดการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนและทำให้ผู้คนรู้สึกปลอดภัย แต่ก็ยังต้องแลกมากับปัญหาด้านสุขภาพ และปัญหาด้านเชื้อโรคต่างๆ ที่สำคัญในประเทศไทยสะพานลอยไทยยังไม่สามารถเข้าถึงคนบางกลุ่มได้ เนื่องจากไม่มีทางขึ้นเฉพาะสำหรับผู้พิการ หากเทียบกับสะพานลอยในต่างประเทศบางประเทศจะเห็นว่ามีทางลาดตรงกลางที่ไม่สูงเกินไปเอื้อให้ผู้พิการสามารถใช้งานได้อย่างสะดวก หรือแม้แต่การมีลิฟท์สำหรับผู้พิการในพื้นที่ที่มีการใช้งานเป็นจำนวนมาก ซึ่งสะพานลอยในประเทศไทยยังไม่มีการก่อสร้างช่องทางอำนวยความสะดวกเหล่านี้ขึ้นมา แต่ก็แอบหวังไว้ว่าหากมีการปรับปรุงเกิดขึ้นในอนาคต นอกจากจะซ่อมแซมในจุดที่ชำรุดแล้ว ก็อยากให้มีการเพิ่มการก่อสร้างในส่วนนี้เข้าไป เพื่อทำให้ผู้พิการ ผู้สูงอายุ หรือผู้ที่มีปัญหาด้านสุขภาพสามารถใช้งานได้ โดยไม่ต้องเสี่ยงเดินข้ามถนนเพื่อลดการเกิดอุบัติเหตุ และทำให้สะพานลอยมีประสิทธิภาพการใช้งานครบทุกด้านตามเจตนารมณ์แรกของการเกิดขึ้น

แต่ถึงอย่างไรข้อดีของสะพานลอยก็ยังมีอยู่พอสมควร และทีมงาน BTimes ก็เชื่อว่าหลายคนยังแฮปปี้กับการมีสะพานลอย แต่สำหรับใครที่ไม่สามารถเดินขึ้นสะพานลอยได้ ก็อยากให้เลือกใช้การข้ามถนนในบริเวณที่ถูกกำหนดไว้อย่างตรงทางม้าลาย เพื่อทำให้ถูกกติกา และลดความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ พร้อมหวังว่าในอนาคตจะมีการปรับปรุงสะพานลอยให้ดีขึ้น เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับประชาชนทุกกลุ่มสามารถใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพและมีความปลอดภัยต่อชีวิต รวมถึงทรัพย์สินค่ะ

BTimes