สิทธิเด็กคืออะไร… ทำไมคนไทยบางคนแทบไม่รู้จัก

1001
0
Share:

สิทธิเด็ก คืออะไร... ทำไมคนไทยบางคนแทบไม่รู้จัก
ถึงแม้จะเป็นความเชื่อโบราณที่ถูกถ่ายทอดต่อกันมาว่าพ่อแม่คือผู้ให้กำเนิด และลูกทุกคนต้องทดแทนบุญคุณ แต่ใช่ว่าพ่อแม่จะเป็นเจ้าของชีวิตของลูก และต้องไม่ลืมว่าเด็กทุกคนที่ลืมตาเกิดมาบนโลกใบนี้ย่อมมีสิทธิในตัวเอง

ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมาเรียกได้ว่ามีประเด็นที่เกี่ยวข้องกับสิทธิเด็กหลายกรณีที่สร้างความสะเทือนใจให้สังคมไทยเป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นกรณีของโปรดิวเซอร์มือทองอย่าง หนึ่ง-จักรวาล ที่มีการแชร์คลิปวีดิโอหยอกล้อเล่นกับลูกสาวอย่างสนิทสนม แต่คนทั่วไปอาจมองว่าพฤติกรรมดังกล่าวเป็นการใกล้ชิดเกินความเหมาะสม เนื่องจากมีการถูกเนื้อต้องตัวมากเกินควร ทำเอาชาวเน็ตเกิดความไม่สบายใจจนพากันแสดงความคิดเห็นในหลากหลายมุมมองอย่างต่อเนื่อง ดันเอา #หนึ่งจักรวาล ขึ้นเทรนด์ทวิตเตอร์อันดับหนึ่งข้ามวันข้ามคืน โดยจากกรณีดังกล่าวเกิดเป็นเสียงสะท้อนค่อนไปทางไม่เห็นด้วย ซึ่งในแง่กฎหมายอาจจะยังไม่เข้าข่ายกระทำความผิด แต่ในมุมของศีลธรรมก็อาจจะดูไม่เหมาะสมเท่าไรนัก

ยังไม่ทันที่กระแสนี้จะซาลง ก็มีการแชร์คลิปแม่ใช้ไม้ตีลูกจนไม้หักคามือลงว่อนโลกออนไลน์ กระพือให้เกิดการวิจารณ์อย่างหนักอีกครั้งจนติดเทรนด์ทวิตเตอร์ตามมาเช่นเดียวกัน ซึ่งเนื้อหาที่สะท้อนออกมาสร้างความหดหู่ใจให้กับผู้ที่ได้รับชม เพราะในคลิปถ่ายทอดให้เห็นว่ามีเด็กผู้หญิงกำลังยกมือร้องไห้อ้อนวอนคนเป็นแม่ด้วยน้ำเสียงสั่นเครือ แสดงถึงความเจ็บปวด แต่คนเป็นแม่ก็ไม่ได้สนใจและใช้ไม้ตีจนหัก ก่อนเดินจากไป แต่หลังจากที่มีพลเมืองดีแจ้งเจ้าหน้าที่ให้เข้ามาดู ฝ่ายคนเป็นแม่กลับกล่าวว่าที่ตนลงมือตีลูกก็เพราะรัก และด้วยประโยคนี้ทำให้เกิดประเด็นถกเถียงกันอย่างมากในโลกโซเชียลว่าเหตุใดคนที่เรียกตัวเองว่าเป็นผู้ให้กำเนิดถึงได้กระทำเช่นนี้กับเด็กที่เรียกว่าลูก ขณะเดียวกันประเทศไทยก็มีข่าวการละเมิดสิทธิมนุษยชนของเด็กเช่นเดียวกับกรณีนี้ไม่เว้นแต่ละวัน นั่นอาจเป็นเพราะเด็กยังคงต้องพึ่งพาผู้ใหญ่ และด้วยการที่ยังเป็นเด็ก ทำให้สามารถโดนคุกคาม หรือละเมิดสิทธิได้ง่าย แต่ในทางกลับกันผู้ใหญ่สมควรทำกับเด็กแบบนั้นหรือ ?

เนื่องจากคนไทยมักถูกปลูกฝังและสร้างความเชื่อที่ว่าพ่อแม่คือเจ้าชีวิต มีสิทธิ์ทุกอย่างในตัวลูก แต่ในความเป็นจริงแล้วเด็กที่เกิดมานั้นย่อมมีสิทธิในตัวเอง ซึ่งการศึกษาไทยไม่ได้ให้ความสำคัญและมีบทเรียนที่สอนเรื่องนี้อย่างจริงจังว่าสิทธิในตัวเองของเด็กนั้นมีอะไรบ้าง แล้วคนอื่นมีสิทธิอะไรในตัวเราบ้าง ทำให้ความเชื่อนี้เป็นเพียงสิ่งที่ถ่ายทอดมาจากรุ่นสู่รุ่น แต่ไม่ได้สร้างความตระหนักและเข้าใจในความหมายที่แท้จริง แม้ว่าจะมีกฎหมายที่ใช้คุ้มครองสิทธิเด็กก็ตาม

กลับกันในต่างประเทศได้ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้เป็นอย่างมาก ยกตัวอย่างเช่น ประเทศสวีเดนมีการบรรจุบทเรียนเรื่องสิทธิของเด็กในวิชาสังคมศึกษา ซึ่งจะได้เรียนรู้ถึงสิทธิที่ควรมีในแต่ละช่วงวัย ตั้งแต่แรกเกิดจนถึงอายุ 18 ปี ส่วนในสวิตเซอร์แลนด์เริ่มสอนบทเรียนนี้ตั้งแต่ระดับประถมศึกษา เพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่เด็ก และให้เรียนรู้ว่าอะไรถูกอะไรผิดตามบรรทัดฐานของสังคมและกฎหมาย

แม้ว่าความรักของพ่อแม่ยิ่งใหญ่เกินกว่าอะไรจะเทียบได้ แต่ในบางครั้งการแสดงความรักก็ควรอยู่ในขอบเขตที่ไม่มากเกินไปและต้องไม่สร้างความอึดอัดใจให้กับลูก ดังนั้นจงอย่าลืมคิดไตร่ตรองก่อนโพสต์อะไรลงโซเชียลมีเดีย อย่าเอาแต่ความพึงพอใจของพ่อแม่เป็นที่ตั้ง แต่ให้คำนึงถึงผลกระทบที่จะตามมากับลูกในอนาคต เพราะข้อมูลเหล่านั้นจะคงอยู่ตลอดไป ถ้าเป็นไปได้พ่อแม่เองก็ควรขออนุญาตลูกก่อนที่จะลงรูปหรือคลิปวีดิโอทุกครั้ง เพื่อเป็นการสอนให้เด็กรู้ถึงสิทธิของตัวเอง ต่อให้คนที่ลงนั้นจะเป็นคนในครอบครัว หรือคนอื่นๆ ก็ตาม

เชื่อว่าปัจจุบันโซเชียลมีเดียกลายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตของทุกคนไปแล้ว โดยเฉพาะพ่อแม่ยุคใหม่ต่างก็ใช้ช่องทางเหล่านี้เป็นสื่อในการแบ่งปันความน่ารักของลูกให้ผู้อื่นได้ชื่นชม แต่ได้โปรดอย่าหลงลืมถึงเรื่องการละเมิดหรือคุกคามสิทธิของลูกโดยไม่รู้ตัว พร้อมหวังให้หลายกรณีที่กล่าวมาข้างต้นส่งผลให้ครอบครัวหรือคนรอบข้างของเด็กๆ ตระหนักถึงเรื่องนี้กันมากขึ้น เพราะเด็กคืออนาคตของชาติ อย่าลืมให้ความสำคัญและมอบความรักอย่างพอเหมาะพอดี เพื่อให้เขาเติบโตเป็นพลเมืองที่ดีและมีคุณภาพต่อไป

BTimes