เหตุไฉนความพึงพอใจในการเลือกสิ่งที่ดีที่สุดส่วนบุคคล จึงกลายเป็นการด้อยค่า…

810
0
Share:

เหตุไฉนความพึงพอใจในการเลือกสิ่งที่ดีที่สุดส่วนบุคคล จึงกลายเป็นการ ด้อยค่า...
ความต้องการและความพึงพอใจของผู้บริโภคคือจุดสูงสุดของวัฏจักรการตลาด ผู้บริโภคมีสิทธิในการตัดสินใจและให้ค่าแก่ผลิตภัณฑ์ทุกประเภท หากผู้ผลิตมีความมั่นใจในคุณภาพสินค้าของตัวเองก็ต้องยอมรับ พร้อมนำคำติชมกลับไปพัฒนา หรือปรับปรุงผลิตภัณฑ์ให้ดีขึ้น และไม่ควรโยนความผิดว่าผู้บริโภคที่ไม่อวยหรือเชิดชูนั้นกำลังด้อยค่าผลิตภัณฑ์ของตนเอง

‘ผู้บริโภคคือพระเจ้า’ เป็นประโยคที่ได้ยินกันมานมนาน โดยมีความหมายเพื่อแสดงให้เห็นถึงความสำคัญของผู้บริโภค และมักเป็นถ้อยคำย้ำเตือนที่หลายคนท่องจำจนขึ้นใจ เพราะการที่ผู้ประกอบการธุรกิจจะสามารถดำรงอยู่ได้ต้องอาศัยผู้บริโภคเป็นหลัก หากไม่มีคนซื้อก็ย่อมไม่มีรายได้ ธุรกิจก็ขับเคลื่อนต่อไปไม่ได้ แต่ดูเหมือนว่าผู้บริโภคมักจะถูกเอารัดเอาเปรียบด้วยวิธีการต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากการใช้กลยุทธ์ทางการตลาดที่ขาดคุณธรรมและไร้ซึ่งความรับผิดชอบ ดังนั้นจึงได้มีพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.2552 โดยได้บัญญัติสิทธิผู้บริโภคที่จะได้รับการคุ้มครอง 5 ประการ ได้แก่

1. สิทธิที่จะได้รับข่าวสารรวมทั้งคำพรรณนาคุณภาพที่ถูกต้องและเพียงพอเกี่ยวกับสินค้าหรือบริการ

2. สิทธิที่จะมีอิสระในการเลือกหาสินค้าหรือบริการ

3. สิทธิที่จะได้รับความปลอดภัยจากการใช้สินค้าหรือบริการ

4. สิทธิที่จะได้รับความเป็นธรรมในการทำสัญญา

5. สิทธิที่จะได้รับการพิจารณาและชดเชยความเสียหาย

ในอดีตคนไทยอาจไม่ค่อยเห็นถึงความสำคัญในเรื่องสิทธิของผู้บริโภคเท่าที่ควร จึงเป็นที่มาของการถูกเอารัดเอาเปรียบทั้งในด้านคุณภาพและราคา ตลอดจนขาดข้อมูลประกอบการตัดสินใจในการเลือกซื้อสินค้าและบริการ ซึ่งแตกต่างจากปัจจุบันที่ผู้บริโภคมีช่องทางในการศึกษาหาข้อมูลและแสดงความคิดเห็น รวมถึงมีการรีวิวสินค้าจากประสบการณ์การใช้งานจริง นั่นจึงเป็นสิ่งที่ชี้ให้เห็นว่าผู้บริโภคยุคใหม่สามารถสื่อถึงกันได้ นอกจากนั้นยังมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็น และวิพากษ์วิจารณ์ เกิดเป็นพลังในการกระจายข่าวสารผ่านการบอกแบบปากต่อปาก (Word of Mouth) ซึ่งเป็นการสื่อความที่ดีที่สุดและมีประสิทธิภาพที่สุด โดยเฉพาะในยุคที่ผู้บริโภคมีอำนาจในการต่อรองสื่อสารด้วยระบบอินเตอร์เน็ตและสื่อโซเชียลมีเดีย ยิ่งเป็นการจี้ให้หลายแบรนด์ต้องเร่งปรับตัว เพื่อให้อยู่รอดและยังคงครองใจผู้บริโภคได้

ยกตัวอย่างเช่น ทำไมบางคนไปทานอาหารที่ร้านอาหารที่ได้มิชลินสตาร์แล้วรู้สึกว่าไม่อร่อยทั้งที่ได้รับการรับรอง นั่นก็มีสาเหตุมาจากความพึงพอใจส่วนบุคคล เพราะอาหารราคาแพงก็ใช่ว่าจะอร่อยเสมอไป แต่ก็ใช่ว่าจะไม่อร่อยสำหรับบางคน เพียงแค่อาจมีบางร้านที่มีอาหารคล้ายคลึงกัน ถูกปากกว่า หรือราคาถูกกว่า ผู้บริโภคก็อาจจะเลือกร้านเหล่านั้นแทน ฉะนั้นแล้วเหตุใดในฐานะผู้บริโภคถึงไม่มีสิทธิ์ในการเลือกฉีดวัคซีนในยี่ห้อที่รู้สึกพึงพอใจ ในเมื่อทุกคนต่างก็เข้าถึงข้อมูลจากการใช้งานจริงที่มีให้เห็นอยู่แพร่หลายบนโลกออนไลน์ ซ้ำคนเห็นต่างยังถูกโจมตีว่ากำลังด้อยค่าวัคซีน เพราะตามหลักแล้วผู้บริโภคมีสิทธิในการเลือก วิจารณ์ และแสดงความคิดเห็นได้เช่นเดียวกัน

สุดท้ายแฟนๆ เพจ BTimes มีความคิดเห็นอย่างไรเกี่ยวกับการให้ค่าในสิ่งที่เราเสียเงินจ่ายไป เราสามารถแสดงความคิดเห็นต่อสินค้าที่มีคุณภาพน้อยกว่าสินค้าตัวอื่นได้หรือไม่ ลองแชร์ประสบการณ์ในการเลือกซื้อ หรือแบ่งปันความคิดเห็นร่วมกันดูนะคะ

BTimes