“หนี้ชาวนา” ปัญหาคาราคาซังของสันหลังของชาติที่ต้องเร่งแก้

479
0
Share:

“หนี้ชาวนา” ปัญหาคาราคาซังของสันหลังของชาติที่ต้องเร่งแก้

‘ปัญหาหนี้’ เป็นปัญหาที่เราพูดถึงกันมาตั้งแต่รุ่นพ่อแม่ ปู่ ย่า ตายาย ซึ่งปัจจุบันไทยเองก็กำลังเผชิญกับปัญหาหนี้สินหนักขึ้น เคราะห์ซ้ำกรรมซัดจากวิกฤตหลายด้าน โดยเฉพาะจากโรคโควิด-19 แต่จะโทษโควิดซะทีเดียวก็คงไม่ถูก เพราะคนไทยเป็นหนี้กันมายาวนาน ยิ่งมาเจอช่วงที่เงินเฟ้อพุ่ง ข้าวของแพงหูฉี่ ยิ่งเสี่ยงให้ลูกหนี้ผิดนัดชำระหนี้ ดีไม่ดีกลายเป็นหนี้เสียในระบบอีก

ซึ่งมันยิ่งตอกย้ำว่าประเทศเราหนีไม่พ้นกับดักหนี้ จากหนี้สะสมที่ไม่ว่ารัฐบาลกี่ยุคกี่สมัยต่างก็พยายามแก้ แต่ก็ยังแก้ไม่ตก ปัญหาส่วนหนึ่งมาจากหนี้นอกระบบที่รัฐก็ควบคุมไม่ได้ ที่ผ่านมาจึงมีการส่งเสริมให้หันมากู้หนี้ยืมสินจากธนาคาร จูงใจด้วยดอกเบี้ยต่ำ กู้ง่าย อนุมัติไว หวังลดหนี้นอกระบบให้มาเป็นหนี้ในระบบแทน จะได้บริหารจัดการได้ง่ายขึ้น

แต่ถ้าจะเจาะจงกลุ่มประชาชนที่เป็นหนี้ก็คงหนีไม่พ้นผู้มีรายได้ปานกลาง ลงไปยังรากหญ้า ซึ่งชาวนาก็เป็นหนึ่งในกลุ่มอาชีพที่ยอมเป็นหนี้ เพื่อนำเงินทุนมาปลูกข้าวทำการเกษตร และเป็นหนึ่งในกลุ่มคนที่มีหนี้สินล้นพ้นตัว หนี้ในระบบนอกระบบน่าจะครบสูตร “ยืมมาหมุน”

ข้อมูลจากศูนย์วิจัยกสิกรไทย รายงานว่า ครัวเรือนเกือบทุกกลุ่มมีภาระหนี้สินอยู่ในระดับที่สูงกว่า 1 ใน 3 ของรายได้ต่อเดือน โดยค่าเฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 33.9% ส่วนแนวโน้มในปี 2565 ศูนย์วิจัยกสิกรไทยปรับลดสัดส่วนหนี้ที่กรอบ 85-87% โดยในช่วงไตรมาส 2 ของปี หนี้ครัวเรือนชะลอลงมาที่ 88.2% ต่อจีดีพี

แม้ในเชิงสถิติตัวเลขดูเหมือนจะลดลงบ้าง แต่ด้วยสถานการณ์ค่าครองชีพที่สูงตอนนี้ ถ้าในความเป็นจริงคนก็ยังต้องใช้เงินมากแลกกับของที่กลับมาน้อยลง ความเดือดร้อนเรื่องเงินที่ไม่สามารถหาทางออกได้ เป็นเหตุผลที่ทำให้ผู้คนบางกลุ่มออกมาเรียกร้องทวงถามการแก้ไขและช่วยเหลือ

อย่างกรณีของกลุ่มม็อบชาวนาที่ได้ออกมาเรียกร้องบริเวณหน้ากระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ถนนราชดำเนินกลาง เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายนที่ผ่านมา เป็นกลุ่มชาวนาที่ใช้ชื่อว่า “เครือข่ายหนี้สินชาวนาแห่งประเทศไทย” เดินทางมาจากกว่า 40 จังหวัด รวมกันประมาณ 4,000 คน นัดรวมตัวกันและปักหลักชุมนุมเพื่อเรียกร้องเเก้ปัญหาหนี้สินทางการเกษตร กองทุนฟื้นฟู ลูกหนี้ธนาคารรัฐ 4 แห่ง เพราะก่อนหน้านี้ ที่ประชุม ครม. ได้อนุมัติให้มีการแก้ไข เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2565 ที่ผ่านมา แต่กลับพบว่าไม่มีความคืบหน้าที่เป็นรูปธรรมใดๆ

นายชรินทร์ ดวงดารา ที่ปรึกษาและแกนนำเครือข่ายหนี้สินชาวนาแห่งประเทศไทย (คนท.) กล่าวว่าข้อเรียกร้องหลักๆ อยู่ที่กองทุนฟื้นฟู และ ธ.ก.ส. ส่วนอีก 3 ธนาคารที่เหลือ คือ ธนาคารออมสิน ธนาคารอาคารสงเคราะห์ และธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย ไม่ติดใจอะไรทั้งสิ้น ซึ่งถ้า ธ.ก.ส. ทำเสร็จจบก็ร่างสัญญาได้เลย ซึ่งมติ ครม. ให้เวลา 3 ปี สำหรับโครงการนี้ แต่เมื่อเทียบยอดผู้ประสบปัญหาทั้งหมด แตะไปที่ 52,000 ราย เฉพาะล็อตแรก แต่ตามโครงการนี้กำหนดไว้ 320,000 ราย และตอนนี้ระยะเวลาล่วงเลยมาถึงเกือบเดือนที่ 8 แล้ว กลับยังไม่มีอะไรคืบหน้า

ชาวนาบางรายกู้ยืมเงินมาเป็นต้นทุนทำนา และนำโฉนดที่ดินไปค้ำประกันตามเงื่อนไขธนาคาร เมื่อหลายปัญหาชักหน้าไม่ถึงหลัง ไม่มีเงินทำนา เงินต้นก็ต้องคืน ก็ทำให้เสี่ยงที่จะถูกยึดที่ดินไปอีกต่างหาก

แต่ด้วยสถานการณ์ช่วงนี้ที่ประเทศไทยกำลังมีการประชุมเอเปค ฝ่ายรัฐบาลจึงได้เจรจาต่อรองให้บรรดาผู้ชุมนุมถอยร่นออกจากบริเวณถนนราชดำเนิน เพื่อไม่ให้เสียบรรยากาศการประชุมเอเปค โดยมีข้อแลกเปลี่ยนที่ชาวนาพอใจ

นายชรินทร์ ดวงดารา ที่ปรึกษาและแกนนำเครือข่ายหนี้สินชาวนาแห่งประเทศไทย (คนท.) บอกว่าจากการประชุมพิจารณาโครงสร้างหนี้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่สำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร ที่ประชุมตกลงว่าจะไม่เก็บในส่วนของดอกเบี้ยใหม่ที่เหลือจากเงินต้นครึ่งหนึ่งตามที่เครือข่ายฯ เสนอทุกอย่างแล้ว ซึ่งกลุ่มชาวนาก็พอใจ โดยข้อสรุปของคณะกรรมการ ธกส. ได้แก่

1. สัญญาปรับโครงสร้างหนี้ที่ทำกับเกษตรกรไม่มีดอกเบี้ยในส่วนที่เกษตรกรต้องรับภาระหนี้ (ครึ่งหนึ่งของเงินต้นเดิม)
2. เงินต้นอีกครึ่งหนึ่งที่ลดให้ ดอกเบี้ยเดิมที่ค้างชำระ และดอกเบี้ยใหม่ที่เกิดขึ้น ธกส. และ กฟก. จะร่วมกันขอชดเชยจากรัฐต่อไป
ทั้งนี้ ให้เริ่มดำเนินการปรับโครงสร้างหนี้ภายในเดือนธันวาคม 2565

อย่างไรก็ตามกลุ่มชาวนาได้ย้ายมาปักหลักที่กระทรวงการคลัง เพื่อหลีกเลี่ยงเส้นทางสัญจรของแขกบ้านแขกเมืองที่มาประชุมเอเปค โดยจะยังอยู่ต่อเพื่อกดดันให้ บอร์ด ธ.ก.ส. เซ็นต์สัญญา MOU ให้ชัดเจนภายในสัปดาห์หน้า

สิ่งที่สะท้อนจากการชุมนุมประท้วงของชาวนานั่นคือความช่วยเหลือในการแก้หนี้ พวกเขาเพียงแค่อยากให้หน่วยงานภายใต้รัฐบาลยื่นมือเข้ามาช่วย ไม่ให้โดนยึดบ้านยึดที่ดินทำมาหากินไป รวมทั้งได้ใช้หนี้แบบไม่ลำบาก เพราะแน่นอนว่า “เป็นหนี้ก็ต้องใช้” และถ้าหากไม่ออกมาเดินขบวนเรียกร้องมาตรการต่างๆ ที่ควรจะเดินหน้าอาจจะ “ถูกดอง” ไม่ได้ถูกนำไปใช้กับผู้คนรากหญ้าอย่างพวกเขาหรือเปล่า?

เชื่อว่ายังมีอีกหลายกลุ่มในบรรดาอาชีพเกษตรกร ซึ่งถือเป็นหน่วยหลักในการผลิตอาหารป้อนคนในประเทศและยังเป็นอาชีพสำคัญอันดับต้นๆ ของประเทศไทย แต่น่าเศร้าใจที่คนสำคัญกลุ่มนี้ยังไม่สามารถลืมตาอ้าปากได้ และที่แย่ไปกว่านั้นคือพวกเขายังติดกับดักหนี้ที่ถูกปูทางจากนายทุนมาหลายยุคหลายสมัย

แนวทางการแก้หนี้ นอกเหนือจากภาครัฐที่จะต้องนำทางแล้ว “ลูกหนี้เองเท่านั้นที่จะแก้หนี้ตัวเองได้” ถ้ารักษาวินัยการก่อหนี้ หนี้ก้อนนั้นถึงจะเป็นหนี้คุณภาพ ปลดหนี้ได้โดยอาจไม่ต้องพึ่งมาตรการรัฐก็ได้…

BTimes