เมื่อการศึกษาของเด็กไทยต้องอยู่ในกำมือผู้ใหญ่ อนาคตของประเทศชาติจะเป็นอย่างไร

1133
0
Share:

เมื่อ การศึกษา ของเด็ก ไทย ต้องอยู่ในกำมือผู้ใหญ่ อนาคตของประเทศชาติจะเป็นอย่างไร
ตลอดสัปดาห์ที่ผ่าน มีข่าวที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาของเด็กไทยอยู่หลากหลายประเด็นที่สร้างความสงสัย กลายเป็นความไม่พอใจ จนเกิดการวิจารณ์อย่างดุเดือดในโลกออนไลน์ ไม่ว่าจะเป็นกรณีที่สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ หรือ สวทช. ประกาศงดรับสมัครเด็กและเยาวชนเข้าโครงการพัฒนาอัจฉริยภาพทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสำหรับเด็กและเยาวชน รุ่นที่ 25 ประจำปี พ.ศ.2565 เนื่องจากได้รับงบประมาณจัดสรรที่ไม่เพียงพอ ที่สุดหลังเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนาหู สวทช. ก็ได้รีบออกมาชี้แจงถึงสาเหตุของการไม่รับสมัครในครั้งนี้ว่าเป็นเพียงการชะลอกิจกรรมการเข้าค่ายเท่านั้น

จากกรณีดังกล่าวต่างมีผู้คนเข้ามาแสดงความคิดเห็นกันเป็นจำนวนมาก โดยคนส่วนใหญ่รู้สึกเสียดายโอกาสแทนเด็กๆ เนื่องด้วยโครงการนี้มีเป้าหมายในการค้นหาเด็กและเยาวชนที่มีความรู้ความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนพัฒนาทักษะสู่การก้าวไปเป็นนักวิทยาศาสตร์ นักวิจัยที่มีคุณภาพของประเทศ นอกจากความรู้สึกเสียดายแล้ว ยังมีหลายคนตั้งคำถามว่าเหตุไฉนงบประมาณในส่วนนี้ถึงมีไม่เพียงพอ ขณะที่งบประมาณส่วนอื่นยังคงอยู่หรือเพิ่มมากขึ้นด้วยซ้ำ ทั้งๆ ที่การศึกษาถือเป็นเรื่องสำคัญลำดับต้นๆ ของประเทศชาติ

นอกจากนี้ยังมีกรณีที่ทำให้เด็กนักเรียนรหัสสอบปี 2565 ถึงกับหัวร้อน จนเกิด #แบนทปอ ที่พุ่งขึ้นเทรนด์ทวิตเตอร์ในระยะเวลาอันรวดเร็ว จากดราม่าที่แอดมินเพจที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย หรือ ทปอ. ตอบคอมเมนต์ผู้ที่เข้าไปสอบถาม โดยใช้ถ้อยคำที่ไม่เหมาะสมที่ดูเหมือนไร้การวางแผนรับมือกับการระบาดของโรคโควิด-19 ในช่วงการสอบคัดเลือกเข้ามหาวิทยาลัย ซึ่งเหตุการณ์นี้สร้างความไม่สบายใจให้ทั้งเด็กและผู้ปกครองเป็นอย่างมาก

ในแต่ละปีช่วงคาบเกี่ยวของเด็กมัธยมบนเส้นทางใหม่ เด็กๆ หลายคนจำต้องอยู่ในสภาวะเคร่งเครียดกดดันเป็นอย่างมาก เนื่องจากการเลือกมหาวิทยาลัยและคณะที่ตนเองชอบ บางครั้งมักอยู่บนความคาดหวังจากคนในครอบครัวและสังคม อีกทั้งผู้ใหญ่บางคนยังชอบตีกรอบความคาดหวังให้กับเด็กๆ เหล่านี้ว่าต้องเติบโตไปเป็นกำลังในการพัฒนาประเทศชาติ แต่ในทางกลับกันกลับไม่ให้การสนับสนุนและไม่เห็นถึงความสำคัญของการศึกษาเท่าที่ควร เห็นได้ชัดจากการตัดงบประมาณในส่วนนี้ แล้วเพิ่มงบประมาณในการสนับสนุนด้านอื่นๆ ที่ไม่จำเป็นแทน

ซึ่งสิ่งที่น่ากังวลสำหรับการศึกษาไทยจากการที่เด็กต้องเรียนออนไลน์เป็นระยะเวลากว่า 2 ปี คือ ณ ขณะนี้มีเด็กที่หลุดจากระบบการศึกษาสูงถึง 1.2 ล้านคน ทั้งยังมีงานวิจัยพบว่าในเด็ก 100 คน มีถึง 16 คนที่ไม่ได้เรียนหนังสือ อีกทั้งในรายงานของยูนิเซฟยังพบว่าเด็กไทยมีแนวโน้มการอ่านออกเขียนได้ลดลงถึง 30% และยิ่งมาเจอกับพิษเศรษฐกิจพ่วงโรคระบาด ซ้ำยังมาเจอภาวะเงินเฟ้อ ยิ่งทำให้หลายครอบครัวที่หาเช้ากินค่ำ หรือประสบปัญหาตกงาน จำใจต้องให้บุตรหลานลาออก เพื่อลดภาระค่าใช้จ่าย ส่งผลให้ในอนาคตตัวเลขเด็กไทยที่หลุดจากระบบการศึกษาอาจเพิ่มสูงขึ้นจนน่าตกใจ…

นี่ถือเป็นปัญหาระดับชาติที่ควรได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน การออกนโยบายเรียนฟรีควรฟรีจริง ไม่ใช่ฟรีทิพย์ เด็กอีกหลายล้านชีวิตที่ขาดทุนทรัพย์ควรได้รับสวัสดิการด้านการศึกษาจากภาครัฐอย่างแท้จริง

สำหรับแฟนเพจที่มีลูกอยู่ในวัยเรียน ทางทีมงาน BTimes ก็ขอส่งกำลังใจให้น้องๆ และผู้ปกครองสู้ๆ นะคะ มารอวันที่เราทุกคนจะได้ออกไปใช้ชีวิตอย่างปกติไปด้วยกันค่ะ

BTimes