สำหรับแผนเปิดประเทศตุลาคมนี้… ไทยพร้อมรับแรงปะทะมากน้อยแล้วหรือยัง?

1123
0
Share:

สำหรับแผน เปิดประเทศ ตุลาคมนี้... ไทยพร้อมรับแรงปะทะมากน้อยแล้วหรือยัง?
จากเป้าหมายแรกที่รัฐบาลวางแผนเปิดประเทศ 120 วัน ตอนนี้เรียกได้ว่ากำลังเดินทางมาถึงโค้งสุดท้ายกับการนับเวลาถอยหลังที่เหลืออีกไม่ถึง 30 วัน และดูเหมือนว่าประเทศไทยกำลังจะมีแสงสว่างแห่งความหวังเล็กๆ เกิดขึ้น เนื่องจากในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมายอดผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตจากเชื้อโควิด-19 ลดลงอย่างต่อเนื่อง รวมถึงยังมีการประกาศคลายล็อกดาวน์ระยะแรกสำหรับ 29 จังหวัดสีแดงอีกด้วย หรือนี่จะเป็นสัญญาณการเตรียมพร้อมสำหรับการเปิดประเทศต้อนรับชาวต่างชาติในช่วงไฮซีซั่นของประเทศไทย เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้สามารถเดินหน้าต่อไป

โดยหลังจากที่มีการประกาศคลายล็อกดาวน์ หลายธุรกิจที่เคยถูกล็อกไว้มาเป็นเวลานาน ก็ได้เวลาปลดล็อกฟื้นคืนอีกครั้ง แต่ยังคงต้องอยู่ภายใต้มาตรการป้องกันโรคส่วนบุคคล เพื่อป้องกันการติดเชื้อแบบครอบจักรวาล (Universal Prevention) ซึ่งหมายถึงการป้องกันตัวเองขั้นสูงสุดตลอดเวลาเสมือนว่าทุกคนรวมทั้งตัวเองเป็นผู้ติดเชื้อ ทำให้ประชาชนผู้ที่มีความอัดอั้นจากการอยู่บ้านเป็นเวลานานต่างออกมาใช้ชีวิตกันอย่างคึกคัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งสาวกร้านชาบู-หมูกระทะ ร้านบุฟเฟต์ ร้านนวด หรือห้างสรรพสินค้าต่างๆ ก็มีผู้คนตบเท้าเข้าใช้บริการอย่างเนืองแน่น แต่เนื่องจากผู้คนออกมาใช้ชีวิตร่วมกันเป็นจำนวนมาก มีการพบปะพูดคุย และทำกิจกรรมร่วมกัน ทำให้มีประชาชนบางส่วนเริ่มเกิดความกังวล ทั้งในแง่ของตัวเลขผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตที่ถึงแม้จะลดลง แต่ยังเป็นตัวเลขที่สูงเกินกว่าจะออกมาใช้ชีวิตกันอย่างปกติได้ และจุดนี้อาจเป็นสาเหตุให้เกิดการระบาดของเชื้อโควิด-19 ระลอกใหม่ก็เป็นได้

ถึงอย่างนั้นรัฐบาลก็ยังคงเดินหน้าอย่างหนักแน่นเข้าสู่แผนเปิดพื้นที่รับนักท่องเที่ยวต่างชาติ ที่ประกาศดีเดย์ว่าเป็นวันที่ 1 ตุลาคมนี้แน่นอน โดยในแผนระยะที่ 2 อีก 5 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร ชลบุรี เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ และเชียงใหม่ จากเดิม 4 จังหวัดที่อยู่ในรูปแบบแซนด์บ็อกซ์ ได้แก่ ภูเก็ต พังงา กระบี่ และสุราษฎร์ธานี ซึ่งแต่ละจังหวัดก็ได้มีการเตรียมความพร้อมเร่งฉีดวัคซีนให้คนในพื้นที่ และจัดแคมเปญพ่วงโปรโมชั่น เพื่อรองรับนักท่องเที่ยว เช่น กรุงเทพฯ แซนด์บ็อกซ์, หัวหิน รีชาร์จ และชาร์มมิง เชียงใหม่ เป็นต้น

นอกจากนี้ในช่วงกลางเดือนตุลาคมก็ยังมีแผนเปิดพื้นที่ระยะที่ 3 อีก 21 จังหวัด ส่วนแผนระยะที่ 4 จะเริ่มขึ้นในช่วงเดือนมกราคม 2565 สำหรับการเปิดพื้นที่จังหวัดที่ติดชายแดนเพื่อนบ้านอีก 13 จังหวัด จับคู่ท่องเที่ยวระหว่างกัน (Travel Bubble) ซึ่งทั้ง 4 ระยะนี้ จะเปิดรับนักท่องเที่ยวรวม 43 จังหวัดครอบคลุมทั้งประเทศ แต่ดูเหมือนว่าหลังจากที่ได้มีการประกาศแผนเปิดประเทศในเดือนตุลาคมออกมา ส่งผลให้ความคิดเห็นของประชาชนเริ่มแตกอีกครั้ง เพราะมีบางกลุ่มที่ไม่เห็นด้วย โดยอยากให้รัฐบาลเลื่อนแผนเปิดประเทศต้อนรับนักท่องเที่ยวนี้ออกไปก่อน เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ให้อยู่หมัดกว่านี้ เนื่องจากตอนนี้แม้จำนวนผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตที่มีการายงานจะลดลง แต่ยังคงมีการรายงานคลัสเตอร์ใหม่เพิ่มขึ้นในทุกวัน อีกทั้งยังกังวลในเรื่องของไวรัสสายพันธุ์มิวที่มีการระบาดในต่างประเทศ และกังวลว่านักท่องเที่ยวจะนำเชื้อสายพันธุ์ใหม่นี้เข้ามาระบาดในประเทศร่วมด้วย รวมถึงยังรู้สึกไม่ไว้วางใจในสถานการณ์ และหวาดกลัวว่าจะไม่สามารถควบคุมการระบาดที่อาจจะเกิดขึ้นตามมาได้ อันจะเห็นได้ชัดจากกรณีของโครงการภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ที่ตอนนี้มีผู้ติดเชื้อโควิด-19 เฉลี่ยอยู่ที่วันละ 240-250 คน และเนื่องจากภูเก็ตเป็นเกาะ จึงสามารถจำกัดการระบาดได้ แต่ตัวเลขที่พบรายวันก็มีความน่ากังวล ยิ่งถ้านำโมเดลแซนด์บ็อกซ์มาใช้กับกรุงเทพมหานคร แล้วเกิดการระบาดที่รุนแรง ก็อาจเป็นเรื่องที่ยากเกินการควบคุม ซึ่งไม่เพียงแค่ในกรุงเทพมหานครเท่านั้น ยังรวมถึงหัวเมืองใหญ่ที่มีแผนจะเปิดเมืองเร็วๆ นี้เช่นเดียวกัน

กลับมามองในมุมของผู้ประกอบการก็คงอยากให้มีการเปิดเมืองโดยเร็ว เพื่อต้อนรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ ซึ่งถือเป็นลูกค้าหลัก เพื่อหวังที่จะกระตุ้นให้เศรษฐกิจและธุรกิจสามารถกลับมาขับเคลื่อนต่อไปได้ แต่ถึงอย่างไรรัฐบาลก็ต้องมีแผนการรับมือสำรอง หากมีเหตุฉุกเฉิน ทั้งกรณีที่สามารถเปิดประเทศได้ตามกำหนดการที่วางไว้ หรือกรณีที่มีความจำเป็นต้องเลื่อนออกไป เพื่อไม่ให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อนและได้รับผลกระทบไปมากกว่านี้

จากการรายงานข่าวการระบาดของเชื้อโควิด-19 ทั่วโลก โดยเฉพาะฝั่งยุโรปที่มีกรณีที่พลเมืองของประเทศไม่ปฏิบัติตามมาตรการในการระมัดระวังตัวป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 และไม่ให้ความร่วมมือในการฉีดวัคซีน จนทำให้รัฐบาลต้องทำทุกวิถีทาง รวมถึงหารางวัลสร้างแรงจูงใจ เพื่อให้คนออกมารับการฉัดวัคซีน ซึ่งจากกรณีดังกล่าวจึงมีความเชื่อว่าประชาชนคนไทยพูดง่ายและเชื่อฟังเป็นอันดับต้นๆ ของโลกเลยก็ว่าได้ เพราะไม่ว่ารัฐบาลจะออกมาตรการอะไรมา ประชาชนคนไทยต่างก็พร้อมใจร่วมกันปฏิบัติตาม ดังนั้นประชาชนก็คาดหวังทุกครั้งว่าสักวันหนึ่งจะเห็นผลของความพยายาม และสามารถก้าวข้ามความยากลำบากนี้ไปได้

ทางทีมงาน BTimes ก็หวังว่าแผนการเปิดประเทศในครั้งนี้จะสามารถเยียวยาบาดแผลความเจ็บปวดที่ผ่านมาของคนไทยได้บ้าง และขอเป็นกำลังใจให้ทุกคนสู้ๆ นะคะ เราจะจับมือก้าวผ่านโรคระบาดนี้ไปด้วยกันค่ะ

BTimes