นับถอยหลัง 1 วันเปิดประเทศเพื่อเศรษฐกิจ เฉิดฉายพร้อมเดลต้าพลัสเยือนประเทศไทย

825
0
Share:

นับถอยหลัง 1 วัน เปิดประเทศ เพื่อเศรษฐกิจ เฉิดฉายพร้อมเดลต้าพลัสเยือนประเทศไทย

นับถอยหลังอีก 1 วันเท่านั้นสำหรับการเปิดประเทศไทยอย่างเป็นทางการ ด้วยการต้อนรับนักท่องเที่ยวเข้าไทยโดยไม่ต้องกักตัว เริ่ม 1 พฤศจิกายนนี้ แต่ในที่สุดก็มีเรื่องเซอร์ไพรส์ เมื่อมีข่าวยืนยันพบผู้ติดเชื้อเดลตาพลัสครั้งแรกเกิดขึ้นในประเทศจนได้…

เดลต้าพลัสเยือนไทย ไขข้อข้องใจว่าเชื้อนี้มีความรุนแรงมากขนาดไหน

เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2564 นพ.เฉวตสรร นามวาท ผู้อำนวยการกองควบคุมโรคและภัยสุขภาพในภาวะฉุกเฉิน เผยว่ามีรายงานพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์เดลต้าพลัส หรือ AY.4.2 จำนวน 1 รายในประเทศไทย เป็นชายอายุ 49 ปี มีประวัติทำงานที่อำเภอบางไทร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งจากการส่งตัวอย่างไปที่สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์การแพทย์ทางทหาร กองทัพบก พบสายพันธุ์ AY.4.2 ตั้งแต่เดือนกันยายน 2564 โดยผู้ป่วยได้รักษาหายแล้ว และมีการสุ่มตรวจรายอื่นๆ แต่ยังไม่พบผู้ติดเชื้อที่เชื่อมโยงกับผู้ป่วยรายนี้ ทั้งนี้ ยังได้สุ่มตรวจเป็นระยะ และยังไม่พบการแพร่ระบาดเพิ่มขึ้น

หลังจากที่ข่าวนี้เผยแพร่ออกไป ส่งผลให้ประชาชนต่างตั้งข้อสอบถามไปยังรัฐบาลว่าตั้งใจปกปิดข่าวหรือไม่ ทำไมถึงมาบอกเอาช่วงนี้ และถ้าหากถามว่าเชื้อเดลต้าพลัสมีความรุนแรงมากน้อยแค่ไหน ทางหมอธีระ หรือ ศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ อาจารย์คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์เฟซบุ๊กเกี่ยวกับความรุนแรงของไวรัสสายพันธุ์เดลต้าพลัสในสหราชอาณาจักรไว้ว่า

“สายพันธุ์เดลต้าพลัส หรือ AY.4.2 สหราชอาณาจักรมีการติดเชื้อสายพันธุ์นี้เพิ่มขึ้นเร็วจนได้รับการยกระดับเป็น variant under investigation ที่ติดกันตอนนี้มีทุกเพศทุกวัย แต่พบมากในเด็กและเยาวชน ซึ่งอาจเป็นเพราะยังได้รับวัคซีนกันไม่มากนัก ความรู้ที่มีตอนนี้เกี่ยวกับเดลต้าพลัส (AY.4.2) กลายพันธุ์ต่อยอดจากสายพันธุ์เดลต้า การป่วยจนต้องนอนโรงพยาบาล และการเสียชีวิตพอๆ กับเดลต้า (B.1.617.2) แต่แพร่ได้ง่ายขึ้นกว่าเดลต้าเดิม 17% อัตราการติดเชื้อภายในครัวเรือนมากขึ้นกว่าเดิม 12% (ช่วงความเชื่อมั่น 8-16%) เราทราบกันจากงานวิจัยหลายชิ้นว่า เดิมอัตราการแพร่ให้คนที่อยู่ในครัวเรือนเดียวกัน เฉลี่ยประมาณ 18-20%

ทั้งนี้ การเพิ่มขึ้นของจำนวนผู้ติดเชื้ออย่างรวดเร็วของสหราชอาณาจักรนั้น คาดว่าไม่น่าจะอธิบายจากความสามารถในการแพร่ของเดลต้าพลัสแต่เพียงอย่างเดียว แต่น่าจะเป็นจากการใช้ชีวิตประจำวันของประชากรที่อาจไม่ได้ป้องกันตัวเคร่งครัด และมีการเปิดกิจการกิจกรรมที่เสี่ยงต่อการแพร่เชื้อติดเชื้อ ทำให้ไวรัสซึ่งมีสมรรถนะแพร่ได้ดีกว่าเดิมระดับหนึ่งไปอยู่ถูกที่ถูกเวลา ซึ่งมีทั้งเรื่องคนจำนวนมากมาแออัดใกล้ชิด ระยะเวลาอยู่ด้วยกันนานก็จะทำให้เกิดการติดเชื้อจำนวนมากอย่างที่เห็นในปัจจุบันได้ ดังนั้นคนไทยเราจึงควรระมัดระวัง หลังเปิดประเทศกิจการกิจกรรมต่างๆ จะมากขึ้น ครบปัจจัยเสี่ยง number, frequency, closeness, duration ที่จะทำให้เชื้อเดลต้าเดิมในประเทศปะทุลามมากขึ้น และหากมีสายพันธุ์กลายพันธุ์อย่างเดลต้าพลัส หรืออื่นๆ เข้ามา ก็จะดำเนินรอยตามการระบาดหนักขึ้นของต่างประเทศได้”

นับถอยหลัง 1 วันสำหรับการเปิดประเทศ แต่ถามกลับว่าคนไทยพร้อมจริงๆ แล้วหรือยัง ?

อีกไม่กี่ชั่วโมงก็จะเข้าสู่วันที่ 1 พฤศจิกายน ซึ่งเป็นวันเริ่มต้นของการเปิดประเทศอย่างเป็นทางการ คำถามคาใจประชาชนคือไทยพร้อมรับนักท่องเที่ยวจาก 46 ประเทศทั่วโลกได้มากน้อยแค่ไหน ทั้งในปัจจุบันการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ในประเทศก็ยังมีความน่ากังวลอยู่พอสมควร ยกตัวอย่างเช่น จังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดท่องเที่ยวยืนหนึ่งในภาคเหนือ ที่ปัจจุบันพบการแพร่ระบาดอย่างหนัก บุคลากรทางการแพทย์โอดครวญเพราะเตียงเต็มแบบ 100% ไอซียูก็เต็มจนรองรับไม่ไหว เนื่องจากมีจำนวนผู้ป่วยใหม่เพิ่มขึ้น 300-500 คนต่อวัน คล้ายกับกรุงเทพฯ ช่วงที่เกิดการระบาดใหม่ ส่วน 4 จังหวัดภาคใต้ก็ยังคงพบการระบาดอย่างหนัก ซ้ำเดลต้าพลัสที่ระบาดง่ายขึ้นกว่าเดลต้าก็ยังเข้ามาเยือนเมืองไทย ไม่เพียงแต่สถานการณ์การแพร่ระระบาดของโรค แต่อีกหลายจังหวัดก็เผชิญกับปัญหาน้ำท่วมที่ดูแล้วยังคงไม่ทุเลา ทำให้ประชาชนตั้งคำถามต่อรัฐบาลกลับไปอีกว่า แผนการเปิดประเทศนี้มีสิทธิ์จะถูกเลื่อนบ้างไหม เพราะก็ยังมีประชาชนอีกหลายล้านคนที่ยังคงไม่ได้รับการฉีดวัคซีนสักเข็ม เนื่องจากรอวัคซีนโมเดอร์นาในเดือนพฤศจิกายน หรือบางกลุ่มก็เข้าไม่ถึงการกระจายวัคซีน นี่เป็นอีกเรื่องที่น่าขบคิดเหมือนกันว่าหากเปิดประเทศแล้ว ไทยอาจจะมีผู้ติดเชื้อเพิ่มมากขึ้น ประชาชนคงต้องกักตัวอยู่ที่บ้านอีกครั้ง แบบนี้รัฐบาลจะรับความเสี่ยงได้หรือไม่ และจะเยียวยาประชาชนอย่างไร ?

กลับมาที่สถานการณ์ปัจจุบัน ถือว่ายอดติดเชื้อไม่รวม ATK พบน้อยลงกว่าเดิมมาก แต่ก็ยังไม่ได้ดีพอ โดยทางด้านหมอธีระวัฒน์ หรือ ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ได้โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวระบุเกี่ยวกับการเปิดประเทศในวันที่ 1 พฤศจิกายนว่ามีความน่าเป็นห่วงหรือไม่ โดยให้สาเหตุพอสังเขปเกี่ยวกับโรค และการตรวจหาเชื้อในปัจจุบันยังคงมีข้อจำกัด และอาจเกิดการหลุดรอดได้ รวมถึงกังวลในเรื่องของการที่เชื้อไวรัสอาจมีการปรับเปลี่ยนตัวเองให้มีความสามารถในการแพร่กระจายและดื้อวัคซีนได้มากขึ้น นอกจากนี้ยังได้แนะนำว่าควรพิจารณานำสมุนไพรในประเทศมาสกัดเป็นยารักษา เพื่อใช้ในการรักษาร่วมกับยาหลักตัวอื่นด้วย

อย่างไรก็ตามการเปิดประเทศครั้งนี้ก็ถือเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างนึง และนับเป็นโจทย์ที่ท้าทายความสามารถของรัฐบาลในการบริหารจัดการและนำพาประเทศไปสู่แสงสว่าง โดยคนไทยก็ได้แต่หวังว่าการเปิดประเทศครั้งนี้จะไม่มีการแพร่ระบาดเพิ่มเติม และสามารถทำให้ธุรกิจท่องเที่ยวกลับมาฟื้นคืนชีพได้อีกครั้งอย่างเต็มภาคภูมิ

ทีมงาน BTimes ขอเป็นกำลังใจให้กับบุคคลากรทางการแพทย์ ประชาชนทุกคน รวมถึงหน่วยงานภาครัฐบาลที่กำลังต่อสู้กับโควิดอยู่ในขณะนี้ ขอให้ทุกคนสามารถก้าวผ่านฝันร้ายนี้ไปได้อย่างดี สู้ๆ นะคะ เราจะผ่านมันไปด้วยกันค่ะ

BTimes