หมดบัญชี! เมื่อคนไทยโดนแฮกเกอร์เล่นงานจนเงินหาย…ภัยร้ายบนโลกไซเบอร์

909
0
Share:

แฮกเงิน หมดบัญชี! เมื่อคนไทยโดนแฮกเกอร์เล่นงานจนเงินหาย...ภัยร้ายบนโลกไซเบอร์
ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมาเชื่อว่าไม่มีประเด็นไหนทำให้คนไทยเดือดเนื้อร้อนใจได้เท่ากับเหตุการณ์โดนแฮกเงินในบัญชีสูญไปหลายบาท ซึ่งในขณะนี้มีผู้เสียหายออกมาแชร์เรื่องราวรวมๆ แล้วเกือบ 8 หมื่นราย เรียกได้ว่าเป็นการโจรกรรมทางออนไลน์ที่สั่นสะเทือนกันทั้งประเทศเลยทีเดียว

เกิดเป็นคนไทยมีเรื่องให้ต้องปวดหัวไม่เว้นแต่ละวัน ล่าสุดกับกรณีมีผู้เสียหายจำนวนมากออกมาแชร์ประสบการณ์โดนหักเงินจากบัญชีโดยไม่รู้ตัว บางรายโดนไปถึง 639 ครั้ง แม้การถูกหักไปแต่ละครั้งจะเป็นเงินจำนวนไม่มาก แต่รวมแล้วก็ทำให้สูญไปหลายหมื่นบาท หรือบางรายโดนดูดหายไปถึงหลักแสนเลยก็มี ซึ่งจากกรณีดังกล่าวสร้างความวิตกกังวลและความรู้สึกไม่มั่นคงทางการเงินให้กับประชาชนคนไทย ผู้ที่ใช้บริการบัตรเดบิตและบัตรเครดิตเป็นอย่างมาก ภายหลังจากที่มีคนที่ได้รับผลกระทบจากเรื่องนี้ออกมาแชร์ประสบการณ์ที่คล้ายคลึงกันเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทำให้ผู้คนที่รับรู้ข่าวต่างอยู่ไม่สุข หวาดระแวง จนต้องรีบคว้าโทรศัพท์มือถือกดเข้าแอปพลิเคชันธนาคาร เพื่อเช็คยอดเงินในบัญชีกันแทบไม่ทัน เพราะกลัวตัวเองจะเป็นหนึ่งในผู้เสียหายและสูญเสียทรัพย์สินที่อุตส่าห์หามาด้วยน้ำพักน้ำแรง

แม้แต่เงินที่อยู่ในธนาคารยังหายได้ แล้วเราจะหาความปลอดภัยได้จากที่ไหน หรือว่าจะต้องขุดดินฝังไหเหมือนในอดีต

เชื่อว่าคงเป็นสิ่งที่ค้างคาใจของหลายคน และเกิดเป็นคำถามมากมายถึงความปลอดภัยของทรัพย์สินที่หามาด้วยหยาดเหงื่อแรงกาย แต่วันหนึ่งกลับต้องถูกขโมยไปจากใครบางคนที่ไม่รู้จักและไม่หวังดี โดยที่เจ้าของบัญชีก็ไม่ได้ยินยอม ถึงแม้ว่าจะฝากไว้ในที่ที่คิดว่าปลอดภัยที่สุด แต่ก็ยังไม่ได้ทำให้อุ่นใจและปลอดภัยเท่าที่ควร

โดยปัญหาที่เกิดขึ้นทางธนาคารแห่งประเทศไทยและสมาคมธนาคารไทยได้ตรวจสอบพบว่า ไม่ได้เกิดจากการรั่วไหลของข้อมูลจากธนาคาร แต่เกิดจากการทำธุรกรรมซื้อสินค้าและบริการกับร้านค้าออนไลน์ที่จดทะเบียนในต่างประเทศเป็นส่วนใหญ่ และไม่ใช่แอปพลิเคชันดูดเงินตามที่เป็นข่าว ซึ่งในปัจจุบันคนไทยมีการใช้จ่ายผ่านช่องทางออนไลน์และผ่านระบบดิจิทัลเป็นจำนวนมากทั้งในแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ และโซเชียลคอมเมิร์ซ สอดคล้องกับข้อมูลของสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือ Electronic Transactions Development Agency (ETDA) ที่ระบุว่าแม้ในปี 2563 มูลค่าตลาดอีคอมเมิร์ซในประเทศไทยจะลดลงจากปี 2562 คือจาก 4.05 ล้านล้านบาทมาอยู่ที่ 3.78 ล้านล้านบาท แต่ในปี 2564 ก็มีแนวโน้มการเติบโตอย่างต่อเนื่องภายหลังจากการฟื้นตัวจากสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 เป็น 4.01 ล้านล้านบาท

ซึ่งทางธนาคารแห่งประเทศไทยแจ้งเพิ่มเติมว่า ภายหลังจากการตรวจสอบกรณีการถูกโจรกรรมเงินในบัญชีพบว่าตั้งแต่วันที่ 1-17 ตุลาคม มีบัตรที่โดนโจรกรรมทั้งสิ้น 10,700 บัตร และ 80-90% มาจากการดูดเงินผ่านธุรกรรมบัตรเดบิตผ่านเครื่อง EDC และไม่มีการแจ้งเตือนผ่าน SMS เนื่องจากการทำรายการในแต่ละครั้งเป็นจำนวนเงินที่ไม่มากนัก แต่เป็นการหักเงินหลายๆ ครั้งติดต่อกัน และส่วนใหญ่เป็นการทำรายการจากร้านค้าในต่างประเทศ โดยมีวงเงินความเสียหายแบ่งเป็นจากบัตรเดบิต 30 ล้านบาท และจากบัตรเครดิต 100 ล้านบาท

ทั้งนี้ การใช้จ่ายผ่านช่องทางออนไลน์จากการผูกบัญชีนั้น อาจเป็นสาเหตุที่ทำให้มิจฉาชีพมองเห็นโอกาสในการนำข้อมูลของลูกค้าไปขายได้ ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นจริงเราจะยังสามารถใช้จ่าย หรือซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ได้อย่างปลอดภัยอยู่หรือไม่? หรือต้องย้อนกลับไปอย่างเช่นในอดีตที่ต้องไปซื้อของที่หน้าร้านและทำธุรกรรมทางการเงินจากที่ธนาคารเท่านั้น?

ในระหว่างที่เจ้าหน้าที่และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำลังพยายามอย่างเต็มความสามารถในการดำเนินการสืบสวนและติดตามข้อเท็จจริงของปัญหานี้ เพื่อตัดวงจรมิจฉาชีพและสร้างความเชื่อมั่นให้ประชาชนคนไทยในการใช้จ่ายบนระบบออนไลน์และมั่นใจในความปลอดภัยของธนาคาร ทีมงาน BTimes ก็ขอฝากให้ลูกเพจทุกคนคอยตรวจสอบบัญชีธนาคารต่างๆ ทุกช่องทางเป็นระยะ เพื่อป้องกันการตกเป็นเหยื่อ หากพบเห็นความผิดปกติ ให้รีบติดต่อธนาคารเจ้าของบัญชีหรือบัตรเหล่านั้นทันที

BTimes