เมื่อ “เงินดิจิทัล” ถูกโยงเข้ากับ “การเมือง” แข่งชูนโยบายประชานิยมหวังกระตุ้นเศรษฐกิจพ้นหลุมดำ หรือจะแค่ขายฝัน ได้ไม่คุ้มเสีย?

631
0
Share:

เมื่อ “เงินดิจิทัล” ถูกโยงเข้ากับ “การเมือง” แข่งชูนโยบายประชานิยมหวังกระตุ้นเศรษฐกิจพ้นหลุมดำ หรือจะแค่ขายฝัน ได้ไม่คุ้มเสีย?

คริปโทเคอร์เรนซี (Cryptocurrency) หรือเรียกกันง่ายๆ คือ “เงินดิจิทัล” เป็นที่รู้จักในแวดวงการลงทุน คือเป็นสกุลเงินเข้ารหัส และเป็นสินทรัพย์ที่ไม่สามารถจับต้องได้ หรือบางคนอาจจะมองว่าเป็น “เงินทิพย์” “เงินลอย” หรือไม่มีอยู่จริง แตกต่างจากเงินของแต่ละประเทศที่เป็นธนบัตร หรือเหรียญที่สามารถจับต้องได้ สามารถนำไปซื้อของจับจ่ายใช้สอยได้ตามกฎหมาย น่าเชื่อถือแน่นอน

แต่ปัจจุบัน “เงินดิจิทัล” เป็นที่รู้จักแพร่หลายกันมากขึ้นกว่าแต่ก่อนมาก โดยเฉพาะในกลุ่มนักลงทุนเจนเนอเรชั่นใหม่ คริปโทฯหรือ “เงินดิจิทัล” ที่โด่งดังเป็นที่รู้จักทั่วโลกก็เห็นจะเป็น “Bitcoin” ที่ราคาพุ่งแซงทุกเหรียญไม่มีใครโค่นได้ง่ายๆ แม้ว่าตอนนี้จะยังอยู่ในช่วงขาลง หรือภาษานักวิเคราะห์กูรูก็จะบอกว่า “พักฐาน” ต่างจากหลายปีก่อนที่กระแสแรงราคาพุ่งทะลุเพดานกันเป็นว่าเล่น ช่วงนั้นใครโกยได้ทันก็อู้ฟู่ ทุกวันนี้ตลาดค่อนข้างจะเงียบเหงาแถมราคาก็สวิง นักลงทุนหลายคนจึงโยกไปลงทุนในสินทรัพย์อื่นซะมากกว่า

ล่าสุดในสนามเลือกตั้ง มีพรรคการเมืองบางพรรคที่ได้ดึงเอา “เงินดิจิทัล” เข้ามาเป็นหนึ่งในกลยุทธ์หาเสียง แน่นอนว่าต้องการเน้นเจาะฐานเสียงที่เป็นวัยรุ่น หรือกลุ่มเจนเนอเรชั่นใหม่ที่สนใจการเมือง

โดยพรรคเพื่อไทยที่ชูนโยบาย เติมเงินกระเป๋าดิจิทัล 1 หมื่นบาท หรือ “แจกเงินดิจิทัล” ให้คนไทยที่มีอายุ 16 ปีขึ้นไป สามารถใช้ได้ในรัศมี 4 กิโลเมตร จากที่อยู่ตามบัตรประชาชน และต้องใช้ให้หมดภายใน 6 เดือน เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ แน่นอนว่าต้องการเรียกเรตติ้งจากประชาชนน้องๆ หนุ่มสาวเลือดใหม่ ต่างจากพรรคอื่นๆ ที่เสนอเป็นนโยบายเบี้ยยังชีพ เบี้ยผู้สูงอายุ บัตรสวัสดิการรัฐต่างๆ ที่ท็อปอัพขึ้นจากเดิมในตอนนี้ บางพรรคก็อาจจะชูแก้กฎหมาย เป็นต้น ซึ่งก็อาจจะไม่ว้าว หรือสร้างกระแสให้คนได้ถกเถียงเท่าไร

เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (7 เม.ย. 66) นายเศรษฐา ทวีสิน แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี พรรคเพื่อไทย (พท.) ได้ตั้งโต๊ะชี้แจงประเด็นร้อนนโยบาย “แจกเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ต ตั้งแต่อายุ 16 ปีได้ฟรีทุกคน” แล้ว ว่าสาเหตุที่ต้องเป็นดิจิทัลวอลเล็ต เพราะเทคโนโลยีสมัยใหม่ สามารถกำหนดเงื่อนไข ข้อจำกัดวิธีการใช้งานได้ และสามารถกำหนดหลักเกณฑ์ได้ว่าใช้จ่ายอะไรได้บ้าง แต่ถ้าให้เงินสดอาจนำไปใช้ในทางอื่นที่อาจไม่เหมาะสม ซึ่งอาจเชื่อมโยงธุรกิจสีเทา เช่น การพนัน ยาเสพติด หรือหนี้นอกระบบตามมาได้ ซึ่งขณะนี้พรรคฯ อยู่ระหว่างการศึกษาว่าหากเป็นหนี้สถาบันการเงินจะสามารถใช้ได้หรือไม่

สำหรับการกำหนดให้ใช้ได้ภายในกรอบเวลา 6 เดือน นับจากที่เงินเข้าสู่กระเป๋า เพราะต้องการให้เกิดการกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอยอย่างรวดเร็วตามห้างร้านต่างๆ หรือ SMEs จะได้เร่งผลิตสินค้าออกมาเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ส่วนรัศมีในการใช้ ตามที่อยู่ในบัตรประชาชนรัศมีประมาณ 4 กิโลเมตร ประชาชนที่ไม่มีร้านค้าในระยะ 4 กิโลเมตร อาจขยายระยะทางเพื่อสามารถไปใช้ได้ ซึ่งจะสามารถใช้จ่ายเงินตามบัตรประชาชนเท่านั้น เพราะอยากให้กลับไปใช้เงินที่บ้าน เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจชุมชน กระจายความเจริญไปสู่ภูมิภาค โดยวงเงินดิจิทัลสามารถนำไปใช้จ่ายเป็นค่าน้ำประปา ค่าไฟฟ้า เติมน้ำมัน ยกเว้นไปซื้อบุหรี่ สุรา เครื่องดื่มแอลกอฮอร์ หรือใช้หนี้นอกระบบ รวมถึงสามารถใช้จ่ายในร้านสะดวกซื้อต่างๆ ได้

ขณะเดียวกันต้องการสร้างระบบการเงินยุคใหม่ที่ไร้ตัวกลางด้วยการใช้เทคโนโลยีบล็อกเชน ที่ต่อจากนี้คนไทยอายุ 16 ปี ขึ้นไป จะมี 2 บัญชี คือบัญชีออมทรัพย์ทั่วไป และบัญชีดิจิทัล วอลเล็ต ที่จะผูกบัตรประชาชนโดยอัตโนมัติ โดยจะมีกุญแจดิจิทัล ให้กับประชาชนเข้าถึงบัญชีนี้ ดึงดูดผู้ใช้ด้วยการใส่เงินก้นถุง 10,000 บาทให้กับประชาชนทุกคน เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ และการสร้างแรงจูงใจระบบการเงินยุคใหม่นี้ คาดว่าจะมีผู้ได้รับประโยชน์ประมาณ 50 ล้านคน ซึ่งจะใช้งบประมาณประมาณคร่าวๆ ไม่น้อยกว่า 5 แสนล้านบาท โดยหวังว่าหากได้จัดตั้งรัฐบาลจะสามารถขับเคลื่อนโครงการนี้ได้ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 67 ทันที และยังคาดหวังว่าโครงการนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจภายใน 4 ปี โดยจะโตเฉลี่ย 5% ต่อปี ส่วนเม็ดเงินที่จะนำมาใช้ในโครงการนี้ นายเศรษฐา บอกว่าจะมาจากการจัดสรรงบประมาณจากปี 2567 ซึ่งอาจมีการปรับลดงบประมาณจากกระทรวงต่างๆ ลง

นอกจากนี้ พรรคเพื่อไทยยังบอกด้วยว่ามีเป้าหมายที่จะก้าวสู่ระบบการเงินยุคใหม่ด้วย (CBDC) หรือ Central bank digital currency ซึ่งสามารถใช้ในระบบการจัดจ้าง การใช้จ่ายปกติทั่วไป ทั้งหมดจะทำให้ประเทศไทยกลายเป็นประเทศอันดับหนึ่งในภูมิภาคที่ใช้เงินดิจิทัล กลายเป็นประเทศอันดับ 2 ในซีกโลกตะวันออกรองจากจีนให้ได้

รศ.สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์ นักเศรษฐศาสตร์ กลับมองว่านโยบายแจกเงินดิจิทัลดังกล่าว เป็นนโยบายประชานิยมสุดขั้ว ซึ่งน่าจะกระตุ้นเศรษฐกิจได้ แต่อาจเป็นภาระงบประมาณที่ต้องกู้เงินหรือตัดงบฯ หน่วยงานอื่นเพื่อนโยบายนี้ ซึ่งสร้างตามมา โดยหากได้ทำจริง มีข้อเสียคือการเพิ่มภาระงบประมาณ และซ้ำเติมหนี้สิน ส่วนข้อดีคือการกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่เชื่อว่าปีนี้เศรษฐกิจจะขยายตัวอยู่แล้ว และยังมีเงินจากช่วงเลือกตั้งกว่า 96,000 ล้านบาท ที่ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจอยู่ด้วย ดังนั้นนโยบายนี้จึงเป็นเรื่องหาเสียงมากกว่า

ด้าน ดร.อิมรอน โสะสัน อาจารย์ประจำสาขาสังคมศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.) มองว่านโยบายเพื่อไทยที่จะ “แจกเงินดิจิทัล” นับเป็นกระบวนการหาเสียงอย่างหนึ่งของเพื่อไทย ที่ใช้ความหวือหวาสร้างการถกเถียงกันในสังคม ซึ่งแน่นอนต้องมีทั้งคนเห็นด้วยและเห็นต่าง ไม่ว่านโยบายนี้จะสามารถผลักดันสำเร็จหรือไม่ก็ตาม แต่มองว่ายังไงซะ เพื่อไทยได้ทั้งขึ้นทั้งล่อง ได้แรกคือได้ใจประชาชน มีใครบ้างไม่ชอบแจกเงิน 10,000 หมื่นบาทต่อคน เพราะทุกวันนี้ประชาชนเดือดร้อนต้องการเงินทั้งนั้น ได้ที่สองคือได้ฐานคะแนนเพิ่มแน่นอน บวกกับกระแสเพื่อไทยตอนนี้ ประชาชนเชื่อว่าทำได้ ตามสโลแกน คิดใหญ่ ทำเป็น เพื่อไทยทุกคน

สมมุติว่านโยบายแจกเงิน 1 หมื่นบาทต่อคน ไม่สามารถผลัดดันให้สำเร็จได้ เพราะมีคนออกมาคัดค้าน เพื่อไทยก็มีข้ออ้าง และอธิบายให้ประชาชนได้ว่าพรรคเพื่อไทยพยายามผลักดันแล้ว แต่มีบางพรรคบางกลุ่มไม่เห็นด้วย จึงทำให้ไม่สำเร็จ ซึ่งเพื่อไทยน่าจะประเมินแล้ว และมั่นใจว่าจะได้คะแนนเสียงมาจากนโยบายนี้พอสมควร ส่วนจะผลักดันต่อไปถึงขึ้นสำเร็จหรือไม่นั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง และหากผลักดันจริงๆ ก็อาจจะไม่เห็นผลในระยะเวลา 5 เดือน 10 เดือน ต้องใช้เวลาพอสมควร เพราะการนำเงินงบประมาณแผ่นดินมาให้ประชาชนต้องผ่านหลายขั้นตอนและให้รัฐสภาอนุมัติเห็นชอบ

ขณะที่นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย กล่าวถึงกรณีนโยบายของพรรคเพื่อไทยว่า การประกาศแจกเงินดิจิทัลทำให้ถูกมองว่าอาจผิดกฎหมายเลือกตั้ง และอยู่ในความสนใจของสังคมค่อนข้างมากวิจารณ์ทั้งแง่บวกและลบ จึงคิดว่าควรจะมีข้อยุติเรื่องนี้ ขณะเดียวกัน “เงินดิจิทัล” นั้น ธนาคารแห่งประเทศไทยยังไม่ได้รับรอง ดังนั้นในวันจันทร์ที่ 10 เม.ย. เวลา 10.00 น. ตนจะไปยื่นเรื่องให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ตรวจสอบและวินิจฉัยเพื่อให้ได้ข้อยุติว่าเข้าข่ายความผิดตามมาตรา 73 อนุมาตรา 1 ของพรบ.เลือกตั้ง ส.ส. หรือไม่

แน่นอนว่า ไม่ว่าจะพรรคไหนๆ ต่างก็ต้องการงัดไม้เด็ดมาประชันกันอยู่แล้ว แต่นโยบายที่ชอบจะกลายเป็นนโยบายที่ใช่หรือไม่ ขึ้นอยู่กับเราคนไทยผู้มีสิทธิลงคะแนนเสียงที่ต้องช่วยกันเลือก และที่สำคัญต้องออกไปใช้สิทธิเลือกตั้งกันอย่างแข็งขัน จะได้พูดได้เต็มปากสักทีว่า “ประเทศไทยเรานี้มีระบอบประชาธิปไตย”…

BTimes