ความน่ากลัวมาเยือน เมื่อประเทศไทยมีเชื้อโควิด-19 ครบทุกสายพันธุ์

1173
0
Share:

ความน่ากลัวมาเยือน เมื่อประเทศไทยมีเชื้อโควิด-19 ครบทุกสายพันธุ์

ในช่วงต้นของการระบาด สายพันธุ์อู่ฮั่นคือเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์แรกที่พบในประเทศไทย โดยมีต้นตอมาจากการที่คนไทยเดินทางกลับมาจากเมืองอู่ฮั่น ต่อมาก็มีการค้นพบสายพันธุ์อังกฤษที่มาจากคลัสเตอร์สถานบันเทิงย่านทองหล่อ ถัดมาไม่นานก็พบกับสายพันธุ์บราซิลมาจากผู้ที่กักตัวใน State quarantine จากนั้นสายพันธุ์อินเดียก็เจาะทะลุไทยสำเร็จจากการพบคลัสเตอร์แคมป์คนงานก่อสร้าง และล่าสุดสายพันธุ์ที่ไทยตั้งรับกันมานานก็ได้มาเยือน ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคมที่ผ่านมา กลุ่มพันธมิตร COVID-19 Network Investigations (CONI) ได้รายงานการตรวจพบเชื้อไวรัสโควิด-19 กลายพันธุ์สายพันธุ์แอฟริกาใต้เป็นครั้งแรกในไทยที่อำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส โดยเป็นการติดเชื้อจากผู้ที่ลักลอบเข้าเมืองอย่างผิดกฎหมายมาจากต่างประเทศ

สายพันธุ์แอฟริกาใต้รุนแรงยังไง มาทำความรู้จักไปพร้อมกัน

เชื้อโควิด-19 กลายพันธุ์สายพันธุ์แอฟริกาใต้ มีชื่อเรียกอีกอย่างว่า B.1.351 หรือ 20H/501Y.V2 พบครั้งแรกในเดือนตุลาคม 2563 บริเวณอ่าวเนลสันแมนเดลา เขตปริมณฑลของจังหวัดอีสเทิร์นเคปของแอฟริกาใต้ จากการวิเคราะห์รหัสพันธุกรรมชี้ให้เห็นว่าไวรัสกลายพันธุ์ดังกล่าวเกิดขึ้นในบริเวณอ่าวเนลสันแมนเดลามาตั้งแต่เดือนกรกฎาคม หรือสิงหาคม 2563

ความน่ากลัวของสายพันธุ์นี้คือมีการกลายพันธุ์ในตำแหน่งที่คาดว่ามีผลกระทบต่อการตอบสนองของระบบภูมิคุ้มกันของมนุษย์ต่อไวรัส และลดประสิทธิภาพการทำงานของวัคซีน ซึ่งจากการพบการระบาดของเชื้อโควิด-19 ที่แถบแอฟริกาใต้ พบว่ามีอัตราการแพร่กระจายที่มากกว่าเชื้อเดิมถึง 50%

แล้วเชื้อโควิด-19 กลายพันธุ์สายพันธุ์แอฟริกาใต้เข้ามาในประเทศไทยได้อย่างไร?

จากการสอบสวนโรคพบว่า ผู้ป่วยคนแรกที่ติดเชื้อกลายพันธุ์สายพันธุ์นี้ มีประวัติสัมผัสกับญาติที่ลักลอบมาจากประเทศมาเลเซีย และมาเลเซียคือประเทศเพื่อนบ้านที่ตรวจพบผู้ป่วยรายแรกจากเชื้อกลายพันธุ์สายพันธุ์แอฟริกาใต้ไปเมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม โดยคลัสเตอร์ที่รัฐเประและรัฐกลันตันมาเลเซียนั้น มีเขตพรมแดนติดต่อกับจังหวัดนราธิวาส ภายหลังจากการพบกรณีการติดเชื้อดังกล่าวก็ได้มีการปิดพื้นที่ไม่ให้มีการเข้าออก และสอบสวนโรคจนพบการระบาดเป็นกลุ่มก้อน ซึ่งขณะนี้ผู้ติดเชื้อทุกรายได้รับการกักกันตัว รวมถึงใช้มาตรการต่างๆ ทั้งมาตรการการเฝ้าระวัง ค้นหาติดตามผู้สัมผัสเสี่ยงสูงในครอบครัว และค้นหาเชิงรุกในชุมชน เพื่อสกัดกั้นไม่ให้เชื้อลุกลามไปมากกว่านี้

แล้ววัคซีนโควิด-19 ตัวไหนสามารถต้านไวรัสกลายพันธุ์แอฟริกาใต้ได้ดี?

ศ.นพ.มานพ พิทักษ์ภากร หัวหน้าศูนย์วิจัยเป็นเลิศด้านการแพทย์แม่นยำ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล (SiCORE-PM-Siriraj Center of Research Excellence in Precision Medicine) ระบุว่า จากข้อมูลล่าสุด (22 พฤษภาคม 2564) พบว่าวัคซีนที่มีประสิทธิภาพใช้ได้ผลกับเชื้อโควิด-19 กลายพันธุ์สายพันธุ์แอฟริกาใต้คือ วัคซีนไฟเซอร์ และอาจรวมถึงวัคซีนโมเดอร์นาด้วย โดยมีประสิทธิภาพในการป้องกันถึง 75% รองลงมาคือวัคซีนจอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน สามารถป้องกันได้ 64-66% และวัคซีนโนวาแวกซ์ สามารถป้องกันได้ 60.1% (สำหรับ non-HIV) ส่วนวัคซีนแอสตราเซเนกาป้องกันได้แค่ 10.4% และวัคซีนซิโนแวค ถ้าเทียบในระดับแอนติบอดี้ที่ขึ้นหลังฉีดแล้ว คาดว่าคงแทบไม่ได้ผลเช่นกัน จึงได้ให้คำแนะนำเพิ่มเติมว่าอาจถึงเวลาที่ภาครัฐจะต้องเปลี่ยนนโยบาย หันไปเร่งนำเข้าวัคซีนไฟเซอร์, วัคซีนโมเดอร์นา และวัคซีนจอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน มาให้เพียงพอครอบคลุมประชากรให้เร็วและมากยิ่งขึ้น เพื่อช่วยควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 กลายพันธุ์สายพันธุ์แอฟริกาใต้

ลองคิดดูว่าถ้าตอนนี้ประเทศไทยเผชิญกับโควิด-19 กลายพันธุ์สายพันธุ์แอฟริกาใต้ในใจกลางเมือง ประชาชนจะเป็นเช่นไร? ตอนนี้คงได้แต่ภาวนาให้คุมสายพันธุ์นี้อยู่หมัด ไม่ให้มีการระบาดเพิ่มเป็นวงกว้างไปมากกว่านี้ และขอให้ทุกคนป้องกันตัวเองให้พ้นจากโควิด-19 นี้ไปให้ได้ ทีมงาน BTimes ทุกคนขอเป็นกำลังใจให้คนไทยก้าวผ่านความยากลำบากนี้ไปได้นะคะ สู้ๆ ค่ะ

BTimes