เพื่อนบ้านโค่นแชมป์ ข้าวคู่แข่งเจาะพื้นที่เพาะปลูกในไทย บทเรียนใหม่ข้าวไทยที่ต้องเริ่มต้นแก้จากตรงไหน?

439
0
Share:

เพื่อนบ้าน โค่นแชมป์ ข้าว คู่แข่งเจาะพื้นที่เพาะปลูกในไทย บทเรียนใหม่ ข้าวไทย ที่ต้องเริ่มต้นแก้จากตรงไหน?

ในช่วงปลายเดือนที่ผ่านมา ข่าวคราวที่ “ข้าวหอมมะลิ 105” เสียแชมป์ให้กับ “ข้าวหอมผกาลำดวน” จากกัมพูชาไปในปีนี้ ก็ยังเป็นที่จดจำของใครหลายคน บางคนอาจจะยังไม่เชื่อหูตัวเอง เพราะข้าวหอมมะลิมีชื่อเสียงที่สุดในบรรดาข้าวไทย รวมทั้งยังมีความนุ่ม ความหอมที่เป็นเอกลักษณ์ ซึ่งเป็นเสน่ห์เฉพาะตัว แม้มีพันธุ์ข้าวหอมใหม่ๆ พัฒนาขึ้นมาบ้าง แต่ก็คงแทนที่กันไม่ได้ แม้ท้ายที่สุดข้าวหอมมะลิไทยจะถูกข้าวหอมผกาลำดวนของกัมพูชาโค่นแชมป์ไปแบบฉิวเฉียดเพียง 1 คะแนน… ซึ่งคะแนนที่ไทยแพ้ให้ก็คือเรื่อง “กลิ่นหลังหุง”

แต่นี่ก็ไม่ใช่ครั้งแรกที่ข้าวไทยเสียแชมป์บนเวทีนี้ จากประวัติศาสตร์การประกวดข้าวของเวทีนี้ที่เริ่มจัดประกวดในปี 2552 พบว่า ในปี 2552 กับ 2553 ไทยได้แชมป์ติดต่อกัน 2 ปีซ้อน ก่อนที่ปี 2554 จะเสียแชมป์ให้ข้าวเมียนมา ต่อมาปี 2555 ก็เป็นกัมพูชาที่ได้แชมป์ และปี 2556 กัมพูชาครองแชมป์ร่วมกับสหรัฐ จากนั้นปี 2557 ไทยก็กลับมาคว้าแชมป์ได้อีกครั้ง แต่ก็ครองแชมป์ร่วมกับข้าวของสหรัฐ ส่วนปี 2558 เป็นสหรัฐที่ได้แชมป์กลับไป ก่อนที่ปี 2559 และ 2560 ไทยจะกลับมาทวงตำแหน่งแชมป์ข้าวคืน แล้วก็เสียตำแหน่งให้กัมพูชาในปี 2561 และเสียแชมป์ต่อเนื่องให้เวียดนามในปี 2562 กระทั่งสามารถทวงบัลลังก์แชมป์คืนได้ในปี 2563 และ 2564 ก่อนจะมาแพ้กัมพูชาอีกครั้งในปีนี้ 2565

ซ้ำยังมีประเด็นเกี่ยวกับชาวนาไทยที่ได้เริ่มนำเข้าพันธุ์ข้าวจากประเทศเวียดนามเข้ามาปลูก โดยเป็นการเปิดเผยจากคุณเจริญ เหล่าธรรมทัศน์ นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย ที่บอกว่าในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาเกษตรกรในบ้านเราได้นำพันธุ์ข้าวจากเวียดนามมาปลูก โดยเฉพาะ “ข้าวหอมพวง” ที่นิยมนำมาปลูกกันมาก ซึ่งคาดว่าชาวนาจะเพิ่มการปลูกข้าวหอมพวงจากเดิมหลักแสนไร่มาเป็นหลักล้านไร่เลยทีเดียว สาเหตุที่ทำให้ข้าวหอมพวงมีความฮอตก็เนื่องมาจากความได้เปรียบในเรื่องของผลผลิตต่อไร่ ที่สูงกว่าข้าวไทยถึง 1.2 ตัน ขณะที่ข้าวพันธุ์ไทยให้ผลผลิตได้เพียง 350-400 กิโลกรัม/ไร่ บวกกับระยะเวลาเก็บเกี่ยวก็สั้นกว่า ใช้เพียง 90 วัน ที่สำคัญราคาขายที่สูงกว่าข้าวไทยถึงกว่า 10% ก็ยิ่งสร้างแรงจูงใจให้ชาวนาขึ้นไปอีก

สิ่งที่นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทยกังวลก็คือปัจจุบันประเทศไทยไม่มีข้าวพันธุ์ใหม่ๆ ออกมาให้ชาวนาปลูก สาเหตุสำคัญอย่างหนึ่งคือไทยพัฒนาพันธุ์ข้าวล่าช้ามาก ต้นตอคือมาจากการที่กฎหมายไทยเก่าแก่ และถูกใช้มาตั้งแต่สมัยดึกดำบรรพ์อย่างในปี 2400 หรือผ่านมา 165 ปีแล้ว อีกทั้งยังมีข้อจำกัดในการนำเข้าเมล็ดพันธุ์จากต่างประเทศมาพัฒนาร่วมด้วย

“หากนำเมล็ดพันธุ์เข้ามาเพื่อพัฒนา ต้องใช้เวลาติดอยู่เป็นปีกว่าจะเอาเมล็ดพันธุ์มาได้ พอนำออกมาได้ก็หมดอายุไปแล้ว” คุณเจริญกล่าว

ข้อมูลจาก ผศ.ดร.พรชัย หาระโคตร นักวิชาการ สาขาวิชาเทคโนโลยีการเกษตร คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ระบุว่า “ข้าวหอมมะลิ” ถูกพัฒนาและรับรองพันธุ์มานานกว่า 60 ปีแล้ว ส่วน “ข้าวหอมผกาลำดวน” ของ “กัมพูชา” นั้น เพิ่งจะถูกพัฒนามาแค่ประมาณ 20 ปี ขณะที่ “เวียดนาม” ที่ส่งข้าวประกวด “ข้าวพันธุ์ ST25” ก็เพิ่งจะได้รับการพัฒนาสายพันธุ์เมื่อไม่กี่ปีก่อน

แน่นอนว่าถ้าจะเสียแชมป์ข้าวไปก็ไม่น่าแปลกใจ เพราะคู่แข่งมีการพัฒนาสายพันธุ์ข้าวใหม่ๆ มาแข่งขันอยู่เรื่อยๆ หากชาวนาเอาแต่ปลูกข้าวสายพันธุ์เดิมๆ ในขณะที่สภาวะโลกเปลี่ยนไป ผลผลิตที่ได้อาจจะไม่เหมือนเดิม แถมคุณภาพอาจด้อยลงไปอีก ยิ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้ข้าวถูกกดราคาจากบรรดาโรงสี

ที่ผ่านมาชาวนาต้องเผชิญกับปัญหาราคาข้าวตกต่ำ และตกต่ำมาเรื่อยๆ จนกลายเป็นปัญหาเรื้อรัง ไม่ว่ากี่รัฐบาลจะออกแบบนโยบายมาแก้ก็ยังไม่สามารถแก้ปัญหาได้จริงสักครั้ง เพราะก็ยังวนลูปกลับมาที่เดิม ไม่ว่าจะเข็น “ประกันรายได้ หรือ “จำนำข้าว” มาแก้ ก็ยังแก้ไม่ขาดอยู่ดี

นายณัฏฐกิตติ์ ของทิพย์ อธิบดีกรมการข้าว กล่าวว่า ถึงแม้ประเทศไทยจะเป็นประเทศผู้ส่งออกสินค้าข้าวคุณภาพดีเป็นอันดับต้นๆ ของโลก แต่ผลผลิตเฉลี่ยข้าวยังมีผลผลิตต่อไร่อยู่ในเกณฑ์ต่ำ เพียง 353 กิโลกรัมต่อไร่ สาเหตุหนึ่งมาจากการใช้เมล็ดพันธุ์ข้าวที่เกษตรกรเก็บไว้เองหลายรอบ ซึ่งมีคุณภาพต่ำ การที่จะปลูกข้าวให้ได้ผลดีมีปัจจัยหลายอย่าง ทั้งคุณภาพของดิน ปริมาณน้ำ และเทคโนโลยี แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือเมล็ดพันธุ์ดีที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ ซึ่งให้ผลผลิตเฉลี่ยสูง ต้านทานต่อโรคและแมลงศัตรูพืช และได้เมล็ดพันธุ์ข้าวที่มีคุณภาพดีตรงตามความต้องการของตลาด

ล่าสุดกรมการข้าวได้จัดทำโครงการส่งเสริมการเปลี่ยนเมล็ดพันธุ์ข้าวปี 2566 ที่เน้นส่งเสริมให้ชาวนาสามารถเข้าถึง และได้ใช้เมล็ดพันธุ์ข้าวคุณภาพดีจากกรมการข้าวทั่วประเทศ ซึ่งในปีนี้กรมการข้าวมีเป้าหมายที่จะเปลี่ยนเมล็ดพันธุ์ข้าวคุณภาพดี จำนวน 58,700 ตัน อีกทั้งยังเป็นการยกระดับปริมาณและคุณภาพผลผลิตข้าว ให้สามารถแข่งขันกับตลาดโลกได้ และในส่วนของเกษตรกรที่ยังไม่ได้เข้าร่วมโครงการในปีนี้ กรมการข้าวมีแผนการดำเนินงานโครงการนี้ต่อเนื่องอย่างน้อย 3 ปี โดยหวังว่าจะช่วยเกษตรกรได้จริง

อย่างไรก็ตาม เมื่อไม่นานมานี้รัฐบาลยังคงปลื้มอกปลื้มใจกับยอดส่งออกข้าว 10 เดือนของปีนี้ (ม.ค.-ต.ค. 65) ไทยส่งออกข้าว 6,203,270 ตัน เพิ่มขึ้นถึง 33% คิดเป็นมูลค่า 109,260.8 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 32.4% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปี 2564 และแนวโน้มในช่วงที่เหลือของปี สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทยก็ยืนยันว่าจะได้ตามเป้าที่ 7,500,000 ตัน

แต่หากมองย้อนกลับไปนอกจาก “ปริมาณส่งออกมหาศาลที่เชิดหน้าชูตาให้กับประเทศแล้ว” ถ้าจะเอาจริงเอาจังกับการปรับโครงสร้างระบบข้าวไทย เริ่มตั้งแต่การอัดฉีดงบวิจัยเพื่อช่วยให้ข้าวไทยเกิดการพัฒนามากขึ้นกว่าเดิม เพื่อให้ชาวนามีเมล็ดพันธุ์ข้าวดีๆ เก็บเกี่ยวได้เต็มเม็ดเต็มหน่วย เชื่อว่าชาวนาเองก็คงไม่ได้ต้องการอะไรไปมากกว่า “การมีพันธุ์ข้าวที่เก็บเกี่ยวได้เยอะขึ้น แข็งแรงทนทาน ขายได้ราคาดี ไม่ถูกกดราคา” นอกจากภาพลักษณ์ ชื่อเสียงที่ดีของข้าวไทยที่เป็นความภูมิใจของเหล่า “กระดูกสันหลัง” ของประเทศแล้ว การได้ลืมตาอ้าปาก อยู่ดีกินดีตามวิถีของเขา ก็น่าจะเป็นหนทางแก้ที่รัฐควรเดินมาให้ถูกจุดมากกว่าหรือเปล่า…?

BTimes