ฟื้นสัมพันธ์ในรอบกว่า 30 ปี ระหว่าง “ไทย” และ “ซาอุดีอาระเบีย”

1246
0
Share:

ฟื้นสัมพันธ์ในรอบกว่า 30 ปี ระหว่าง “ไทย” และ “ซาอุดีอาระเบีย”

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้เดินทางเยือนราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบียอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2565 ตามคำเชิญของเจ้าชายมุฮัมมัด บิน ซัลมาน บิน อับดุลอะซีซ อัลซะอูด มกุฎราชกุมาร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมแห่งราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย โดยการเยือนในครั้งนี้เป็นการเยือนในระดับผู้นำรัฐบาลระหว่างสองประเทศเป็นครั้งแรกในรอบกว่า 30 ปี โอกาสนี้นายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชาได้เข้าเฝ้าฯ เพื่อพบหารือกับมกุฎราชกุมารแห่งราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย และคณะรัฐมนตรีหลายท่าน ซึ่งทั้งสองฝ่ายได้เห็นชอบร่วมกันว่าให้ปรับความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทยกับซาอุดีอาระเบียให้เป็นปกติอย่างสมบูรณ์แล้ว พร้อมที่จะเปิดศักราชใหม่ของความสัมพันธ์ระหว่างกันต่อจากนี้ อันเป็นผลสืบเนื่องจากความพยายามในหลายระดับของทั้งสองฝ่ายในช่วงหลายปีที่ผ่านมา

ประเทศไทยและทั่วโลกต่างจับตามองการเดินทางเยือนในครั้งนี้เป็นอย่างมาก เนื่องจากจะเป็นการหวนคืนความสัมพันธ์จากรอยร้าวมาตลอดกว่า 30 ปี ของระหว่างไทยและซาอุดีอาระเบีย โดยการพบกันในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมและกระชับความสัมพันธ์ทวิภาคีระหว่างกัน ซึ่งภาคเอกชนไทยก็จับตามอง เพราะนี่อาจเป็นการทำให้เศรษฐกิจ และการส่งออกของไทยมีโอกาสเติบโตขึ้นก็เป็นได้

การพบกันในครั้งนี้ของไทยและซาอุฯ วิน-วินอะไรบ้าง

แน่นอนว่าการพบกันในครั้งนี้ต้องมีประเด็นด้านผลประโยชน์หรือการเจรจาทางธุรกิจเข้ามาเกี่ยวข้อง เพราะทางด้านซาอุดิอาระเบีย คือเจ้าชายโมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน บิน อับดุลอาซิซ อัล ซาอูด หรือที่สื่อตะวันตกมักเรียกว่า MBS ภายหลังจากขึ้นมาเป็นมกุฎราชกุมารแทนที่เจ้าชายโมฮัมเหม็ด บิน นาเยฟ พระราชนัดดาในกษัตริย์ซัลมาน โดยการแต่งตั้งครั้งนี้ถือเป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้เจ้าชายโมฮัมเหม็ด บิน ซัลมานมีอำนาจและอิทธิพลทางการเมืองมากขึ้น ประกอบกับพระองค์มีความใจร้อน ทำให้พฤติกรรมทั้งหมดส่งผลลบต่อการค้า การลงทุนกับต่างประเทศ ทั้งยังส่งผลต่อระบบเศรษฐกิจของซาอุฯ ที่พึ่งพิง ‘น้ำมัน’ มาโดยตลอดก็เริ่มเกิดปัญหา ทำให้เจ้าชายต้องปรับแผนปฏิรูปเศรษฐกิจและสังคมครั้งใหญ่ ประกาศ “วิสัยทัศน์ 2030” หรือการวางแผนอนาคต 15 ปีของซาอุดีอาระเบีย ตั้งเป้าหมายหลักด้วยการลดการพึ่งพาน้ำมัน เพิ่มความหลากหลายทางเศรษฐกิจผ่านการลงทุนในภาคธุรกิจด้านอื่นๆ รวมทั้งเทคโนโลยีและการท่องเที่ยว จากที่เป็นพันธมิตรแค่อเมริกา ก็มุ่งหาตลาดอื่นมาเพิ่มอย่างรัสเซียและจีน ซึ่งประเทศไทยก็ถือว่าได้รับอานิสงส์ในการฟื้นสัมพันธ์เศรษฐกิจให้กลับมาดังเดิม นอกจากนี้ “วิสัยทัศน์ 2030” ก็ยังมีประเด็นที่น่าสนใจอื่นๆ ร่วมด้วย อาทิ การมุ่งแก้ปัญหาเรื้อรังด้านที่พักอาศัย และการว่างงานผ่านการสนับสนุนภาคเอกชน เพื่อสร้างงานให้แก่กลุ่มคนรุ่นใหม่ที่จะเข้าสู่ตลาดแรงงานอีกหลายล้านคนได้มีงานทำในอนาคต รวมถึงการจัดสรรงบประมาณด้านสวัสดิการให้แก่พลเมืองชาวซาอุฯ ที่ทำงานในภาครัฐ และเรื่องการเพิ่มสิทธิสตรี ที่ทั้งหมดดูจะเป็นประเด็นที่น่าจับตามองต่อไปในอนาคต

คำถามคือ ไทยได้อะไรบ้างหลังจากเจอกันในครั้งนี้?

ที่เห็นได้ชัดคือภาคการท่องเที่ยว ที่ต่อไปจะสามารถเดินทางไปมาหาสู่กันได้อย่างปกติ และคาดว่าสามารถสร้างรายได้ให้กับประเทศไทยไม่ต่ำกว่าประมาณ 5,000 ล้านบาทต่อปี ฟากแรงงานจากสถิติเดิมของกระทรวงแรงงานพบว่า ในบางช่วงเคยมีแรงงานไทยเดินทางเข้าไปทำงานในซาอุดีอาระเบียกว่า 300,000 คน สร้างรายได้ส่งกลับประเทศไทยมากกว่า 9,000 ล้านบาทต่อปี ดังนั้นเมื่อความสัมพันธ์ที่เคยระหองระแหงกลับมาชื่นมื่น ผู้ประกอบการทุกขนาด นักลงทุน และแรงงานฝีมือดี ก็ย่อมมีโอกาสที่จะเข้าไปทำงาน หรือแสวงหาลู่ทางในการทำธุรกิจการค้ากับซาอุดีอาระเบียได้สะดวกยิ่งขึ้น สุดท้ายด้านการกีฬาก็ถือเป็นโอกาสของไทยในการส่งเสริมกีฬามวยไทยให้เป็นที่ยอมรับมากขึ้นในภูมิภาคตะวันออกกลางอีกด้วย

ไม่รู้ว่ารอยร้าวในครั้งนี้ทางด้านซาอุดิอาระเบียจะลืมได้หรือไม่ โศกนาฏกรรมเก่ายังคงอยู่และไม่ถูกคลี่คลายเป็นเวลากว่า 30 ปีแล้วที่ซาอุดีอาระเบียตัดขาดความสัมพันธ์กับประเทศไทย จากปมลอบสังหารนักการทูต คดีขโมยเพชรบลูไดมอนด์ และนักธุรกิจชาวซาอุฯ ที่ถูกอุ้มหายสาปสูญ นับว่าครั้งนี้ไทยก็อาจจะทำสำเร็จในเรื่องของการฟื้นความสัมพันธ์ แต่แน่นอนว่าปมทั้งหลายที่ยังไม่ถูกสรุปย่อมส่งผลให้ยังติดค้างอยู่ในใจคนไทยและซาอุดีอาระเบียอย่างแน่นอน ท้ายนี้ก็ต้องจับตามองว่านายกรัฐมนตรีจะสามารถแก้ปมนี้ได้หรือไม่ โอกาสจะกลับมาหาประเทศไทยได้บ้างหรือเปล่า ก็ต้องมาลุ้นกันต่อไปค่ะ

BTimes